กระแสการใช้พลังงานสะอาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง และพลังงานแสงอาทิตย์คือหนึ่งในนั้น แต่จะให้ติดแผงโซลาร์บนหลังคา หรือพื้นที่โล่งๆ อาจธรรมดาไป ดังนั้นลองมารู้จักนวัตกรรมใหม่ของ IRPC ที่ทำให้แผงโซลาร์ลอยน้ำได้กัน
เม็ดพลาสติกเทคโนโลยีใหม่คือหัวใจ
ปกติแล้วแผงโซลาร์จะถูกติดตั้งอยู่บนหลังคา หรืออยู่บนพื้นที่โล่งๆ เพื่อรับแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อมีความร้อนเพิ่มมากขึ้นการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์อาจจะทำได้ไม่ดีพอ ไม่ต่อเนื่อง และต้องใช้พื้นที่ที่อยู่บนผืนดินขนาดใหญ่ เพราะหากไม่ใหญ่พอ การสร้างไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
IRPC เล็งเห็นถึงจุดนี้ จึงวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้แผงโซลาร์สามารถถูกติดตั้งในที่นอกผืนดินได้ และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงกลายเป็นที่มาของ “ทุ่นโซลาร์ลอยน้ำที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE (High Density Polyethylene)”
สำหรับทุ่นโซลาร์ลอยน้ำดังกล่าวมีสีเทา จุดเด่นคือช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์ ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด (ช่วยให้แผงโซลาร์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีขึ้นเพราะสีเทาช่วยลดอุณหภูมิได้ถึง 5 – 8 องศา) ทั้งตัวทุ่นดังกล่าวยังรีไซเคิลได้ และรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุได้ยาวนานถึง 25 ปี เนื่องจากมีความทนทานต่อแสงยูวี สารเคมี และมีความเสถียรต่อความร้อน ผ่านการทดสอบ Food Grade ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ ปลอดภัยต่อระบบนิเวศใต้นํ้า
เริ่มต้นใช้ผลิตไฟฟ้าจริงให้กับ IRPC
ที่สำคัญสวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่บนผิวน้ำเพื่อสร้างพลังงาน และเป็นสวนโซลาร์ลอยน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกะวัตต์ แหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาจากนวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่ออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“นวัตกรรรมเม็ดพลาสติก HDPE สีเทาเป็นเกรดพิเศษเหมาะสำหรับทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ตอบสนองการเติบโตของธุรกิจพลังงานสะอาด ด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าว
ช่วยชาติประหยัดต้นทุนการนำเข้าสินค้า
นอกจากนี้สวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC ยังพัฒนาเป็นแหล่งสันทนาการ เปิดให้ประชาชนมาวิ่งออกกำลังกาย ขี่จักรยาน และจะพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนให้คนในจ.ระยอง ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับท้องถิ่น และยังสามารถเป็นพื้นที่รับน้ำ หรือ “แก้มลิง” ช่วยบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ ขณะเดียวกันการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำด้วยนวัตกรรมเม็ดพลาสติก HDPE ของ IRPC ทำให้ลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ IRPC คือบริษัทปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่าน 2 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจปิโตรเลียม และธุรกิจปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมีธุรกิจท่าเรือน้ำลึก ถังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน พื้นที่ปฏิบัติการหลักอยู่ที่จ.ระยอง
สรุป
ด้วยพื้นที่ผิวน้ำปัจจุบันในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ล้านตร.ม. หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศ ดังนั้นการนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยโครงการโซลาร์ลอยน้ำน่าจะเป็นอีกคำตอบที่ถูกต้อง ยิ่งนวัตกรรมนี้นักวิจัยไทยเป็นคนคิดได้เอง ก็ยิ่งช่วยลดการนำเข้าที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา