ศึก IPTV ครั้งใหม่! 3BB ดึง HBO ดันยอด True ยังใช้ Premier League ส่วน AIS ปรับกลยุทธ์

หลังปล่อยให้ True และ AIS ใช้ IPTV เพื่อนำ Premium Content ต่างๆ มาเพิ่มยอดผู้ใช้งานเน็ตบ้านของตัวเอง ล่าสุด 3BB ได้ใช้กลยุทธ์นี้บ้างด้วยกล่อง GigaTV แต่สุดท้ายแล้ววิธีนี้มันยังคุ้มค่ากับการลงทุนอยู่หรือไม่

iptv

3BB กับการลุยตลาด IPTV

หากมองในเรื่องความเร็วของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเน็ตบ้าน 3BB คือผู้นำในตลาดนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่จูงใจลูกค้าด้วยการเพิ่มสปีดในราคาเท่าเดิมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ามีแต่สปีดที่เร็วในตอนนี้คงไม่พอ จึงเกิดกลยุทธ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นการร่วมมือกับ dtac เพื่อนำแพ็คเกจโทรศัพท์มือถือมาผูกกับเน็ตบ้าน

ล่าสุด 3BB ได้เดินแผนแบบนี้อีกด้วยการเปิดตัว IPTV ชื่อ GigaTV ผ่านการนำเนื้อหาภาพยนตร์ที่ตัวเองซื้อมาทำตลาดบนช่อง Mono29 และบริการ Monomax ทั้งยังซื้อสิทธิ์ให้บริการ HBO GO รวมถึง Premium Content อื่นๆ มาจูงใจลูกค้า เบื้องต้นลูกค้าต้องใช้แพ็คเกจ 1 Gbps/300 Mbps ราคา 690 บาท เพื่อได้ IPTV กล่องนี้

จากแผนดังกล่าว 3BB ตั้งเป้าว่าจะเพิ่ม ARPU จากไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ 618 บาท/ราย/เดือน รวมถึงการลดอัตรายกเลิกบริการ และเพิ่มฐานลูกค้าจากไตรมาส 3 ปี 2563 ที่มี 3.43 ล้านราย (69% เป็น FTTx และ 31% เป็น xDSL) ที่สำคัญ 3BB คาดว่าจะจำหน่าย GigaTV ได้มากกว่า 2 ล้านกล่องใน 1 ปีแรกที่ทำตลาด

True ที่ยังชู Premier League จูงใจ

ส่วน True มีการทำตลาด IPTV มาระยะหนึ่งแล้วภายใต้ชื่อ TrueID TV ที่รวมเอา Premium Content ต่างๆ เอาไว้ โดยเฉพาะฟุตบอล Premier League ที่หาดูบนช่องทางอื่นไม่ได้ และตอนนี้กลยุทธ์ดังกล่าวยังถูกใช้อยู่ทำให้ไตรมาส 3 ปี 2563 มีกล่อง TrueID TV 1.8 ล้านกล่อง เพิ่มจาก 1.54 แสนกล่องในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการได้มาของ TrueID TV ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่การสมัครเน็ตบ้านกับ True Online เพราะลูกค้าทั่วไปซื้อกล่องนี้เพื่อมาใช้งานในราคา 2,490 บาท  ถ้าเป็นลูกค้า True Online ที่สมัครแพ็คเกจขั้นต่ำ 590 บาท จะได้กล่องนี้ฟรี ส่วนลูกค้า Truemove H ใช้แพ็คเกจขั้นต่ำ 299 บาท จะจ่ายเพิ่ม 50 บาท/เดือนเพื่อได้กล่องดังกล่าว

ขณะเดียวกันการมีกล่อง TrueID TV ยังทำให้จำนวนผู้ใช้บริการ และ ARPU ของ True Online เพิ่มขึ้น เช่นในไตรมาส 3 ปี 2563 มีรายได้ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อน และมีผู้ใช้งาน 4.106 ล้านราย เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน

AIS ที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เล็กน้อย

สุดท้ายคือ AIS ที่ทำตลาดกล่อง IPTV ในชื่อ AIS Playbox โดยช่วงแรก AIS จูงใจด้วยการมี Premium Content มากมาย เช่น HBO, NBA และอื่นๆ แต่สุดท้ายแล้วบริษัทก็ตัดสินใจปล่อยออกไป และหันมาร่วมมือกับผู้ผลิต Content ให้หลากหลาย และสร้าง Content ของตัวเองเช่นกัน

AIS Playbox จะต้องสมัครใช้งานคู่กับ AIS Fibre ไม่สามารถซื้อขาดได้เหมือน TrueID TV โดยลูกค้า AIS Fibre มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ใช้งาน AIS Playbox และหากต้องการซื้อแพ็คเกจเพิ่มจะต้องชำระเงิน 299 บาท เพื่อรับชมช่องกีฬา และภาพยนตร์อื่นๆ

ais fibre

นอกจากนี้ด้วยวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง AIS Fibre จึงเลือกใช้กลยุทธ์ส่งแพ็คเกจราคาประหยัดออกมาเพื่อกระตุ้นยอดใช้งาน ซึ่งจุดนี้ส่งผลกระทบกับ ARPU ที่เหลือ 484 บาท/ราย/เดือน ลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 1.25 ล้านราย เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปีก่อน

TOT ยังทำอยู่ IPTV เถื่อนยังลอยนวล

ไม่ใช่แค่ 3BB, True และ AIS ที่มีกล่อง IPTV ทาง TOT ยังมีการทำตลาดอยู่เช่นกัน และจะบอกว่าเป็นรายที่ทำตลาดมาอย่างยาวนานก็คงไม่แปลก เพราะมีมามากกว่า 6 ปีแล้ว ส่วนเรื่อง Content ยังอาจไม่ตอบโจทย์เท่าไรนัก ทั้งยังผู้กับแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ TOT ด้วย

tv

นอกจากผู้ให้บริการหลักดังที่กล่าวมา ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย มีผู้ให้บริการละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมายอยู่จำนวนไม่น้อย โดยให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ ​คอนเทนต์ทั้ง ทีวีปกติ, Paid TV, ภาพยนตร์และซีรีส์จากหลากหลายประเทศ, กีฬาต่างๆ ระดับราคาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปต่อเดือน ขึ้นกับว่าเลือกดูคอนเทนต์อะไรบ้าง และอาจมีการพนันเข้ามาให้บริการ

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเลือกจะใช้บริการเถื่อนเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับว่าเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ต้องเสียค่าบริการก่อน และเว็บเหล่านี้สามารถปิดตัวได้ตลอดเวลา รวมถึงอาจมีการติดตั้ง ไวรัสหรือสแปม เข้ามาเจาะระบบหรือข้อมูลของผู้บริโภคได้ ดังนั้นหากเลือกได้แนะนำบริการที่ถูกกฎหมายจะดีกว่า

สรุป

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วก็ยังน่าสงสัยว่าการลงทุน Premium Content เพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้งาน และ ARPU ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงนั้นคุ้มค้าหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วความต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้บริโภคน่าจะมีแค่ความเร็ว และความเสถียร จึงเชื่อว่าในอนาคต Premium Content และกล่อง IPTV อาจถูกลดความสำคัญลงก็เป็นได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา