ต้อนรับ Gen Z สู่ตลาดแรงงาน-คุ้นเคยเทคโนฯ เชื่อข้อมูล มองทุกคนเท่าเทียม ไม่เชื่อระบบอาวุโส

  • Gen Z (อายุ 12-26ปี) เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 63-64
  • Gen Z คุ้นเคยเทคโนโลยี เห็นคุณค่าตัวเอง เชื่อในสิ่งที่ข้อมูลรองรับ มองทุกคนเท่าเทียม ไม่เชื่อระบบอาวุโส
  • แนวโน้มเรียนต่อระดับอุดมศึกษาลดลง หันเรียนคอร์สระยะสั้น หลักสูตรออนไลน์
  • ค่าตอบแทนสูงอย่างเดียวไม่ดึงดูดใจ Gen Z ต้องการสังคมการทำงาน-ความยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาตัวเอง
  • ภาคการศึกษาต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ หลักสูตร-โครงสร้าง ต้องปรับให้เข้ากับตลาดแรงงาน

Gen Z

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาประชากร Generation Z เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ First Jobber และจะเป็นกำลังหลักของแรงงานในอนาคต ซึ่งประชากรกลุ่มมีลักษณะนิสัย ทัศนคติการทำงานแตกต่างจากประชากร Generation อื่นๆ อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ประกอบการและนายจ้างควรศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมเพื่อรับมือและสร้างองค์กรให้เติบโตต่อไปได้

Gen Z คุ้นเคยเทคโนโลยี เห็นคุณค่าตัวเองและเชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับ

Gen Z คือคนที่เกิดช่วง พ.ศ. 2538-2552 ปัจจุบันอายุ 12-26 ปี มีสัดส่วน 19% ของประชากรไทยทั้งหมด เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก คุ้นเคยกับเทคโนโลยี เรียนรู้ได้เร็ว มองเห็นคุณค่าตัวเองและมองทุกคนเท่าเทียมกัน (ไม่แบ่งแยก) ไม่เชื่อในระบบอาวุโส เชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานครอบครัวดีกว่า Gen อื่นๆ

K Research

ระบบการศึกษา 4 ปีในระดับอุดมศึกษา ตอบโจทย์คน Gen Z ลดลง ขณะที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าแนวโน้ม Gen Z เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาลดลง โดยเมื่อตัดปัจจัยเรื่องการลดลงของประชากรออกโดยวัดเป็นอัตราส่วนจะเห็นว่าทิศทางการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาปรับลดลงจาก 10.45% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 9.16% ในปี 2563 เนื่องจากค่านิยมการศึกษาของ Gen Z เริ่มเปลี่ยนไป

นั่นคือ การศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ตอบโจทย์การทำงาน และมองว่า 4 ปีในมหาวิทยาลัยยาวนาน ค่าใช้จ่ายกับผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่า เทรนด์นี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน ข้อมูลจาก National Student Clearinghouse Research Center ระบุว่าจำนวนนักศึกษาในสหรัฐฯ ที่ลงทะเบียนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจากปี 2554 ถึงปี 2563 ลดลง 11% โดยการเปิดกว้างทางสื่อการศึกษา เช่น คอร์สออนไลน์จากต่างประเทศ และ YouTube ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่มากกว่า นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นยิ่งเข้ามาตอกย้ำแนวโน้มการศึกษาออนไลน์ด้วยเช่นกัน 

Gen Z
ภาพจาก Shutterstock

ผลตอบแทนเป็นตัวเงินอย่างเดียวไม่ดึงดูดใจ สังคมการทำงาน-ความยืดหยุ่น สำคัญกับ Gen Z

Gen Z ไม่ยึดติดกับองค์กรเท่ากับ Gen อื่นๆ ค่าตอบแทนที่สูงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดใจให้อดทนทำงาน แต่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานที่ทำงาน เวลาเข้า-ออกงาน โดยต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต และ Work Life Balance ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีแนวคิดที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ทำธุรกิจ start up มากขึ้น

และยังมีอาชีพใหม่ๆ เช่น YouTuber, Vlogger หรืองานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น E-Sports, Cybersecurity ทำให้เห็นว่าโอกาสอาชีพของ Gen Z เพิ่มมากขึ้น ความอดทนในการทำงานจึงลดลง มีการเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันสั้น จากข้อมูลนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติระบุว่าปกติอัตราการลาออกจากงานของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10% แต่เมื่อ Gen Z เข้าสู่วัยทำงานอัตราการลาออกจากงานได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12-15%

ทั้งนี้ คนใน Gen Z เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเรียนรู้ได้เร็วและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับองค์กร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรจะต้องเรียนรู้วิธีที่จะรักษาบุคลากรเหล่านี้และสร้างสังคมในที่ทำงานที่แม้จะมีความแตกต่างในด้าน Generation แต่สามารถอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนางานให้กับองค์กรได้ 

Gen Z
ภาพจาก Shutterstock

ภาคการศึกษาต้องปรับปรุง องค์กรต้องปรับการทำงาน

Gen Z จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ดังนั้น ภาคการศึกษาต้องออกแบบหลักสูตร ปรับโครงสร้างให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน มีคอร์สระยะสั้นเฉพาะทางเพิ่มขึ้น ต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เห็นประสบการณ์จริง สร้างทักษะความเป็นผู้นำและทักษะที่สำคัญต่างๆ

องค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เช่น เวลาการทำงาน บางองค์กรอาจทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สถานที่ทำงานมีลักษณะเป็น Co-Working ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ความแตกต่างทางความคิดและลักษณะการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องบริหารจัดการให้ดี ให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ข้อดีและสนับสนุนกันในเรื่องนั้นๆ ไม่นำอายุหรือความอาวุโสมาเป็นใหญ่ในการตัดสินปัญหาต่างๆ เป็นต้น 

เตรียมรับมือพฤติกรรมที่แตกต่างของ Gen Z

องค์กรต้องรับมือกับความแตกต่างของ Gen Z ในทุกด้าน เช่น การตลาดต้องใช้สื่อออนไลน์ ต้องรู้ว่า platform ใดที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากกว่า เช่น ผลสำรวจระบุว่า Gen Z เริ่มใช้ Facebook ลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคหรือ Generation ใด การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ และพวกเราทุกคนควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออยู่เสมอ 

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา