จะยั่งยืนต้องสร้างสิ่งใหม่ Intouch ไม่พึ่งแค่ AIS – ไทยคม แต่เตรียมลงทุน New Business ต่อเนื่อง

Intouch คืออีกหนึ่ง Holding Company ที่สำคัญของไทย เพราะถือยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคมทั้ง AIS และไทยคม แต่ถึงมีรายได้จะทั้งสองธุรกิจนี้เยอะแค่ไหน หากจะเติบโตอย่างยั่งยืนก็ต้องสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา

รายชื่อ Startup ที่ Intouch ลงทุนไปแล้ว

ลงทุน 450 ล้านบาทสร้างแหล่งรายได้ใหม่

เมื่อ AIS มีค่าใช้จ่ายเรื่องใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เข้ามาหลายหมื่นล้านบาท ประกอบกับไทยคมก็มีรายได้ลดลงจากการปิดตัวของ Pay-TV ทั้ง 2 ราย ก็คงไม่แปลกที่ Holding Company อย่าง Intouch จะปิดรายได้ได้ปี 2559 ที่ 28,600 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย และแม้การมีรายได้ลดลงของ Holding Company รายนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่หากยังมีเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ โอกาที่บริษัทจะเติบโตอย่างยั่งยืนก็คงยาก ดังนั้นเป้าหมายสำคัญหลังจากนี้คือการลงทุน รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา

ฟิลิป เชียง ชอง แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ เล่าให้ฟังว่า ปี 2560 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทได้ตั้งงบประมาณ 250 ล้านบาทขึ้นเพื่อศึกษา และพัฒนาธุรกิจใหม่ แม้บริษัทจะถือหุ้นราว 40% ใน AIS กับไทยคม จนสามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอยู่แล้ว เพราะตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก หากยังยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม โอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนก็ยากขึ้น ดังนั้นการนำโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งของ AIS และไทยคม มาเป็นอีกเครื่องมือในการสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัทก็น่าจะเป็นอีกทางออก

ฟิลิป เชียง ชอง แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์

“โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น 4G และ FTTX ทำให้ Digital Service เพิ่ม และดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นธุรกิจใหม่มันเกิดแน่นอน ยิ่งตอนนี้ผู้บริโภคเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตกันเยอะ หาก Intouch สามารถสร้างอะไรขึ้นมาแล้วตอบโจทย์มันก็มีโอกาสทำให้เราเติบโตได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากการตั้งงบ 250 ล้านบาทเพื่อวิจัย และพัฒนาธุรกิจใหม่ ยังมีงบประมาณ 200 ล้านบาทอีกก้อนหนึ่งเพื่อนำไปลงทุนในรูปแบบ VC (Venture Capital) กับ Startup ที่น่าสนใจเหมือนที่เราทำทุกปี ซึ่งถ้าเอา 2 ก้อนนี้มารวมกันมีมูลค่าถึง 450 ล้านบาท”

TMT คือเป้าหมายหลักทั้งลงทุน และสร้างเอง

TMT หรือ Technology, Media และ Telecommunication คือกลุ่มธุรกิจที่ Intouch จะเข้าไปลงทุน รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเองด้วย เพราะการไปลงทุนนอกอุตสาหรรมดังกล่าว เช่นพลังงาน และอาหาร ต่างมีคู่แข่งค่อนข้างเยอะ และพวกเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มากกว่า โดยปี 2559 บริษัทมีการลงทุน Startup ทั้งหมด 2 รายคือ Wongnai และ Social Nation พร้อมกับถอนการลงทุนจาก Startup 2 รายเช่นกัน แต่การถอนทุนนั้นสามารถขายได้กำไรถึง 20% นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาการลงทุนกับ Startup อีก 2 รายด้วย

ในทางกลับกันฝั่งธุรกิจรายได้หลักอย่าง AIS ก็ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่แค่การให้บริการโทรคมนาคม แต่ยังพัฒนาโครงข่ายทั้งมีสาย และไร้สายให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เช่นการรับส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยความเร็ว 1 Gbps รวมถึงเปิดเทคโนโลยี NB-IoT เป็นที่แรกของอาเซียน และฝั่งไทยคม ก็เตรียมทำตลาดดาวเทียมในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มดีกรีการทำตลาดในทวีปแอฟริกา และออสเตรเลีย รวมถึงเปิดตลาดบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ใช้บนเครื่องบิน และเรือเช่นกัน

กลยุทธ์ปี 2560 ของ Intouch

เดินตามแผนประเทศ 4.0 แต่ไม่มีทีวีดิจิทัล

ขณะเดียวกันการปูโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลด้วย AIS และไทยคม ยังช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้ดีขึ้นด้วย เพราะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ Value Creation ได้ดีกว่าเดิม และถึงจะมีผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลเข้ามาติดต่อบริษัทให้ไปร่วมลงทุนหลายราย แต่ด้วยทิศทางของผู้บริโภคนั้นเดินไปที่การรับชม Content ต่างๆ ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทำให้บริษัทยังไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุน แต่สร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อเชื่อมต่อประชากรไทยด้วยดิจิทัลมากกว่า

สรุป

ทิศทางทั้งฝั่งผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ เริ่มเดินหน้าสู่ดิจิทัลกันหมดแล้ว และคงทำให้ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสบายๆ แต่ Intouch กลับเลือกที่จะไม่อยู่เฉยๆ เพราะเชื่อว่าการออกไปหาอะไรลงทุนใหม่ จะเป็นวิธีที่สร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา