เปิดใจ! ป๋าเต็ด ยุทธนา “BIG MOUNTAIN แค่ซ้อมใหญ่ ผมใฝ่ฝันอยากจัดเทศกาลดนตรีแบบ Glastonbury”

พูดคุยกับ “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” กับบทบาทใหม่ในการเปิดบริษัทเป็นของตัวเองครั้งแรกกับ “แก่น 555” ลุยงานอีเวนต์แบบเต็มรูปแบบ พร้อมกับโรดแมปสู่ความฝันที่อยากสร้างเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่แบบ Glastonbury สักครั้งในชีวิต ไม่เกิน 2 ปี คงได้เห็นกัน!

อยากทำ World Event จะมาเป็นลูกจ้างไม่ได้!

หลายคนรู้จัก “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” ในฐานะเจ้าพ่อเด็กแนว หรือเจ้าพ่องานดนตรี เจ้าพ่องานคอนเสิร์ต ซึ่งมีหลายคำที่นิยามให้กับผู้ชายคนนี้ ถ้าย้อนความตั้งแต่แรกเริ่มนั้น ป๋าเต็ดได้อยู่ในวงการดนตรีมา 30 ปี ทำอีเวนท์มาเยอะแยะมากมาย งานเป็นที่รู้จักตั้งแต่งาน Hotwave Music Award งาน Fat Festival และทำ Big Mountain Music Festival มา 8 ปีแล้ว แต่พอ Fat Radio ได้ปิดตัวลงก็ได้เป็น Strategic Partner กับทางแกรมมี่อยู่

ป๋าเต็ด และมิ่งมงคล ทวีกุลวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูล เอเยนซี่ จำกัด

จนถึงตอนนี้ป๋าเต็ดได้มีบทบาทใหม่ กับการออกมาเปิดบริษัทเป็นของตนเองแล้วเรียบร้อยกับ “บริษัท แก่น 555 จำกัด” เป็นการร่วมทุนกับบริษัท คูล เอเยนซี่ จำกัด เป็นบริษัทจัดอีเวนท์ มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น คูล เอเยนซี่ 55% และทีมป๋าเต็ด 45% วางจุดยืนให้เป็น Event Promoter จัดอีเวนท์ทุกสิ่งอย่าง เน้นที่งานดนตรีเป็นหลัก ตอนนี้มีทีมงาน 12 คน

อีเวนท์แรกของแก่น 555 ได้ประเดิมด้วยงาน Khaoyai Countdown เป็นงานเคาท์ดาวน์วันปีใหม่ที่เขาใหญ่ วันที่ 30-31 ธันวาคม 2560

ป๋าเต็ดได้เปิดเผยที่มาของบริษัทใหม่นี้ว่า “ส่วนตัวรู้จักผู้บริหารคูล เอเยนซี่มานาน ได้ร่วมงานกันมาบ้าง แต่พบว่ามีความฝันเดียวกันคืออยากทำ World Event ระดับโลกในไทย และถ้าอยากทำเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ขนาดนี้จะเป็นลูกจ้างอย่างเดิมไม่ได้ ต้องทำเอง จึงเปิดบริษัทแก่น 555 เป็นของตัวเองครั้งแรก”

สาเหตุที่ชื่อ “แก่น” เพราะตอนที่ป๋าเต็ดทำงานอยู่แกรมมี่ ได้ก่อตั้งแผนก “เกเร” ขึ้นมา แต่ไม่สามารถเอาชื่อเกเรมาใช้ได้อีก  เลยเห็นคำว่าแก่นมีความหมายได้ 2 อย่าง คือ แก่นแก้ว ซุกซน และแก่นสาร มีประโยชน์

ใฝ่ฝันทำเทศกาลดนตรีแบบ Glastonbury

จากที่เห็นป๋าเต็ดทำเทศกาลดนตรีมาตลอด โดยงานที่สร้างชื่อ และเป็นที่รู้จักมาที่สุดคงจะเป็นงาน Big Mountain Music Festival ที่จัดติดต่อกัน 8 ปีแล้ว มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นคน แต่ความฝันของป๋าเต็ดต้องการมีเทศกาลดนตรีระดับยักษ์ที่มีคนร่วมงานเรือนแสน และดึงดูดนักท่องเที่ยวมาให้ได้ มี Glastonbury ประเทศอังกฤษเป็นโรลโมเดลสำคัญ

บรรยากาศงาน Glastonbury

“ผมมีแรงบันดาลใจจากงาน Woodstock เป็นเทศกาลดนตรีในยุคบุปผาชน และงาน Glastonbury ที่ประเทศอังกฤษ จุดเด่นที่ชอบคือมีดนตรีทุกแนว ผมไม่อยากให้งานของผมมีแค่ดนตรีแนวใดแนวเดียวเท่านั้น ต้องให้งานอยู่อย่างยั่งยืนได้ตลอด ไม่ว่ากระแสโลกจะเคลื่อนไปทางไหนงานนี้ก็ยังไปได้อยู่ทุกปี มีทุกแนวให้คนดูมาเลือกเอง”

การจัดเทศกาลดนตรีในตอนนี้ คู่แข่งไม่ใช่งานในประเทศไทย เพราะตอนนี้คนไทยสามารถบินไปต่างประเทศดูงานอื่นๆ ได้สบายอย่าง Summer Sonic หรือ Tomorrowland เลยต้องจัดงานที่ดึงคนจากต่างประเทศมาให้ได้

แต่ถ้าเป็นงานแบบไทยๆ ป๋าเต็ดยกให้ Full Moon Party เป็น World Event ในประเทศไทยที่คนทั่วโลกนึกถึง ความสำคัญคือมีความออแกนิกเป็นธรรมชาติที่ชาวบ้านเป็นเหมือนเจ้าของงาน ไม่ต้องทำเวทีใหญ่ แต่สามารถทำให้คนสนุกกับงานได้

“ตอนนี้งาน Big Mountain เป็นเหมือนการซ้อมใหญ่สู่การทำงานในฝันในอนาคตที่ต้องการ ซึ่ง Big Mountain จะเน้นกลุ่มคนฟังเพลงไทยเป็นหลัก แต่งานต่อไปนั้นเราจะพูดถึงชาวโลกในระดับที่ใหญ่ขึ้น ไลน์อัพศิลปินต้องเป็นคนทั่วโลกรู้จัก อีกหนึ่งความฝันของบริษัทผมก็คือปีนึงทำแค่งานเดียว แต่พเพียงอที่จะไม่ต้องทำงานอื่นๆ ทั้งปี เป็นบริษัทขี้เกียจ ทำตูมเดียว เหมือนกับบริษัท กรังปรีซ์ที่จัดงานมอเตอร์โชว์ แต่เป็นงานใหญ่ มีรายได้เลี้ยงได้ทั้งปี”

บรรยากาศงาน BMMF

ความฝันของป๋าเต็ดกับเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่จะมาในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน เพราะเป็นช่วงที่บริษัท คูล เอเยนซี่ พาร์ทเนอร์ของแก่น 555 จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งป๋าเต็ดมองว่าการที่จะจัดงานใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้งบลงทุนมหาศาลราวๆ 600 ล้านบาท แต่เมื่อคูล เอเยนซี่เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ก็จะช่วยสานฝันให้เร็วขึ้น

โดยที่มองว่ารายได้จากเทศกาลดนตรีจะต้องมาจากค่าบัตร 70% และค่าสปอนเซอร์ 30% แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องค่าบัตร เพราะจากผลสำรวจเรื่องค่าบัตรคอนเสิร์ตในไทยที่คนยอมจ่ายเฉลี่ย 1,500 บาท เป็นราคาในระดับแมส และเป็นผลสำรวจที่เท่ากันมา 10 ปีแล้ว ส่วนระดับอื่นๆ ก็คือราคาบัตรระดับรากหญ้า เฉลี่ย150 บาท+เครื่องดื่ม และเทศกาลดนตรี EDM 2,000 บาทขึ้นไป

ส่วนเรื่องข่าวลือที่ประเทศไทยอาจจะมีการจัดงาน Tomorrowland นั้น ป๋าเต็ดก็เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานที่ทำรีเสิจในการจัดงาน โดยมองว่าเป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรม พบว่าในไทยมีโอกาสในการจัด เพราะเขาเลือกแค่ทวีปละประเทศเท่านั้น ในเอเชียก็เลือกที่เดียว เขาจะดูความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โปรดักชั่นต่างๆ

EDM เริ่มเฟ้อ แต่ Dance Music Never Die!

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีเทศกาลดนตรีแนว EDM เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีสาวกที่พร้อมจะทุ่มเงินเพื่อร่วมงาน แต่ก็พบว่าในปีนี้กระแสเริ่มเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด ในมุมมองป๋าเต็ดมองว่าเริ่มเฟ้อแล้ว!

“เทศกาลดนตรีมีทั้งเฟ้อ และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน อย่างหนึ่งของคนไทยคือเห็นอะไรที่ประสบความสำเร็จมากๆ ก็จะทำตามๆ กัน อย่างเทศกาลดนตรี EDM ในช่วงหนึ่งที่นิยมกันหนัก ก็จัดกันถี่มากบางสัปดาห์มีจัดถึง 3 งาน แต่ตอนนี้พบว่ามันเริ่มเฟ้อแล้วเพราะคนทำเยอะ บางงานมีดีเจใหม่ๆ เข้ามาก็ไม่ได้ตื่นเต้นแล้ว แรกๆ สปอนเซอร์เตรียมจ่ายทันที แต่หลังๆ สปอนเซอร์ก็จะเริ่มถามว่าต่างจากครั้งที่แล้วอย่างไร มีการคิดมากขึ้น คนดูก็เริ่มคิดมากขึ้น มีการคำนวนค่าบัตรว่าคุ้มค่าหรือไม่”

แต่งาน EDM ได้ช่วยสร้างตลาดให้งานเทศกาลดนตรีมีราคามากขึ้น เพราะงาน EDM มีบัตรที่ค่อนข้างแพง 2,000 บาทขึ้นไป ช่วยยกมาตรฐานให้เทศกาลดนตรีมากขึ้น

สุดท้ายป๋าเต็ดได้มองว่า แนวเพลงอย่าง EDM อาจจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ Dance Music ไม่ตาย เหมือน Rock & Roll มันไม่ตาย แค่เปลี่ยนชื่อเรียก และแนวดนตรี ต่อไปหมอลำอาจจะมาก็ได้

สำหรับปีหน้าแก่น 555 จะมีอีก 3 อีเวนท์ให้เห็นอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้ารายได้รวม 150 ล้านบาท

สรุป

  • หลังจากที่ทำเทศกาลดนตรีมาทั้งชีวิต ก็เริ่มทำตามความฝันอย่างจริงจังด้วยการเปิดบริษัทตัวเอง เป็นการทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่มีความฝันเดียวกันในการสร้าง World Event และความฝันใกล้ความเป็นจริงเมื่อบริษัทของพาร์ทเนอร์จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุน
  • ตลาดเทศกาลดนตรีในไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพียงแค่พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และจับตามต้องการของผู้บริโภคให้ทันอยู่ตลอด

ภาพจากเฟซบุ๊ก Yuthana Boonorm , Glastonbury Festival (official)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา