Brand Inside พูดคุยกับ วรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมค้าปลีกไทย กับประเด็นร้อนแรงการประมูลสัมปทาน Duty Free ที่ยังไม่มีข้อสรุป ยืนยันว่าไม่ควรมีผูกขาดรายเดียวเหมือนอดีต ประเทศชาติเสียผลประโยชน์นับแสนล้าน
-
Duty Free รายเดียว เหมือนบังคับให้นักท่องเที่ยวเดินห้างเดียว
Duty Free หรือ ธุรกิจสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ที่สัมปทานเดิมจะหมดลงในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาต้องประมูลสัมปทานใหม่ และท่าอากาศยานไทย หรือทอท. ยืนยันจะใช้สัมปทานรายเดียว ขณะที่หลายฝ่ายเสนอว่าควรมีผู้ให้บริการรายเดียว เพราะสนามบินทั่วโลกมี Duty Free หลายราย ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน
Brand Inside มีโอกาสได้พูดคุยกับ “วรวุฒิ อุ่นใจ” นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย บอกว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมา Duty Free ไทยผูกขาดตลาดโดยรายเดียวมาตลอด การจะมีรายเดียวต่อไปจะทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์หลักแสนล้านบาท ที่ผ่านมา ทอท. ได้ค่าธรรมเนียมจากสนามบินสุวรรณภูมิ 15% ภูเก็ตและดอนเมือง 19% เฉลี่ยได้ 17% ขณะที่ปกติสากลจะได้เงินเข้าประเทศ 30-40%
ในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศหมุนเวียนในสนามบินกว่า 60 ล้านคน และมีแนวโน้มทะลุ 100 ล้านคน การที่มี Duty Free รายเดียวเหมือนเป็นการบังคับให้คน 60 ล้านคนเดินห้างๆ เดียว
สากลปฏิบัติในธุรกิจ Duty Free จะแบ่งการประมูลเป็น 3 ก้อน
1. การเช่าช่วงร้านค้า ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ไม่ต้องเปิดประมูลก็ได้ หลายสนามบินไม่เปิดประมูลแล้วปล่อยเช่าเองโดยตรง คนมาเช่าไม่ต้องจ่ายแพง สนามบินได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราฉะนั้นก้อนนี้ AOT สามารถทำเอง ตัดการประมูลไปเลย จ้างคนมาบริหารไม่กี่คน
2. Pick up Counter มีไว้เพื่อให้เกิด Duty Free Downtown นักท่องเที่ยวอยากช้อปปิ้งแต่ไม่อยากเข้าห้างปกติ แต่พอนักท่องเที่ยวช้อปปิ้งเสร็จก็ไม่อยากหิ้วสินค้าไปเที่ยวต่อ ก็จะให้ไปรับที่สนามบิน โดยสากลปฏิบัติจะไม่ให้คนทำ Duty Free เข้ามาทำ เพราะจะรู้รายการสั่งซื้อ ราคา ประวัติลูกค้าทั้งหมด เขาเลยจะให้คนอื่นที่ไม่ใช่ Duty Free ทำ
3. ธุรกิจ Duty Free ตามสากลปฏิบัติจะมีหลายรายเพื่อให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านบริการและการให้ผลตอบแทนประเทศ ซึ่งตามปกติสากลอยู่ที่ 30-40%
ในอดีตคือยก 3 ก้อนประเคนให้รายเดียว ยิ่งไม่โปร่งใส่สุดๆ ยุคนี้แบ่งเป็น 3 ก้อนยังพอเข้าใจได้ แต่ที่กังวลคือ TOR ของ Pick Up Counter ก็ยังไม่ออก มันอาจจะเปิดโอกาสให้รายใดรายหนึ่ง หรือคนทำ Duty Free ไปทำหรือเปล่า ซึ่งมันผิดหลักการสากล
-
อายุสัมปทานยาวไป แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือเรื่องของ “อายุสัมปทาน” ทางทอท.ให้อายุสัมปทานแก่ธุรกิจ Duty Free ยาวถึง 10 ปี ขณะที่ต่างประเทศ 5-7 ปีเท่านั้น เนื่องจากธุรกิจนี้ไม่ต้องลงทุนสูง อาคารไม่ต้องสร้างเองเป็นของสนามบิน ลูกค้าไม่ต้องหาเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการอยู่แล้ว ส่วนการตกแต่งก็ให้ซัพพลายเออร์แต่ละร้านค้าช่วยตกแต่ง
“จริงๆ การลงทุนของธุรกิจ Duty Free ต่ำมาก จุดคุ้มทุนน่าจะอยู่ที่ 3 ปี อายุสัมปทาน 5 ปีกำลังดี แต่เราให้ 10 ปี ทางภาครัฐอ้างว่ากลัวผู้ประกอบการจะขาดทุน ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องให้ยาวขนาดนั้น สุดท้ายทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์”
ยกตัวอย่างยอดขายในประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น มี Duty Free 10 กว่ารายทั้งสิ้น ประเทศเกาหลีทำรายได้อันดับหนึ่งของโลกในเรื่องของการช้อปปิ้งในสนามบิน มีรายได้มากกว่าไทยถึง 6 เท่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าไทยอีก แล้วยังให้ผลตอบแทนภาครัฐถึง 40%
ถ้าประเทศไทยปรับให้มี Duty Free หลายราย คาดว่ายอดขายโตขึ้น 3-4 เท่า ผลตอบแทนที่ภาครัฐควรได้มันเพิ่ม 7-8 เท่าตัว คิดเป็นเงินเฉียดแสนล้านบาท
“พอมี Duty Free รายเดียว ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลเก็บอัตราค่าธรรมเนียมได้น้อย ก็ไปขึ้นภาษีอย่างอื่น ประชาชนก็เดือดร้อน นี่คือเหตุผลที่ไม่ใช่แค่สมาคมค้าปลีกต้องออกมาสู้ฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องออกมาสู้ด้วย เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ ป้องกันไม่ให้ใครเอาขุมทรัพย์ของประเทศไปเป็นขุมทรัพย์ส่วนตัว”
-
มี Duty Free รายเดียว ทำบริการถอยหลัง?
ภาครัฐไม่ควรกีดกันรายอื่น และสนับสนุนรายเดียว สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศไทยมี Duty Free รายเดียว นอกจากจะได้สินค้า และบริการไม่ครบแล้ว ยังมีเรื่องของความพึงพอใจของลูกค้าด้วย ส่งผลต่อการจัดอันดับสนามบินในระดับโลก
ดูจากข้อมูลการจัดอันดับสนามบินทำโดย SKYTRAX เป็นองค์กรนานาชาติให้เรตติ้งสนามบินทั่วโลก ปัจจุบันสนนามบินในประเทศไทยอยู่อันดับที่ 46 และตกลงไปเรื่อยๆ
การมี Duty Free รายเดียวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรตติ้งลดลง การบริการต่อนักท่องเที่ยวมาตรฐานลดลง ถ้าเจาะไปที่โหมดการช้อปปิ้งได้แค่ 3 คะแนนจาก 5 คะแนน แต่ประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่นได้ 5 คะแนนเต็ม แถมยังเป็นสนามบินติด Top 5 ทั้งหมดเลย
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอให้แบ่งสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้แพร่หลายในสนามบินชั้นแนวหน้าในเอเชีย โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่ขายหลักหมื่นตารางเมตร ควรมีอย่างน้อย 4 รายได้ โดยแบ่งตามโลเคชั่น แยกตามกลุ่มสินค้า 1. เครื่องสำอาง 2.เหล้า/บุหรี่ 3.เครื่องใช้ไฟฟ้า และ 4.แฟชั่นเสื้อผ้า
ถ้าสนามบินเล็กๆ อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ จะมี Duty Free รายเดียวก็พอเข้าใจได้ เพราะพื้นที่ขายมีแค่ 1,000 ตารางเมตร
อีกทั้งการมี Duty Free หลายราย จะทำให้รัฐกำหนด Performance วัดผลงานได้ชัดเจน ถ้าผลงานไม่ดีเปลี่ยนเจ้าใหม่ได้
“สนามบินเชียงใหม่ และหาดใหญ่ เกิดการขาดทุน แต่รัฐบอกว่าเป็นอย่างนี้ต้องคิดผลตอบแทนให้ต่ำลงเพื่อให้เขาไม่ขาดทุน เท่ากับว่ากำลังเอา Performance ที่ไม่ดีของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดผลตอบแทนให้รัฐ แบบนี้ เอื้ออะไรให้ใครหรือเปล่า? เห็นอยู่แล้วว่าขาดทุน เอารายใหม่เข้าไปทำสิ ไม่ใช่บอกว่าขาดทุนก็ต้องปรับเกณฑ์ลงมา มันไม่ถูกต้อง”
-
เมื่อมีหลายราย ประเทศได้ผลประโยชน์ มีบริการดีขึ้น
ถ้าประเทศไทยมี Duty Free หลายราย สิ่งที่ตามมา คือ คุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น ผลตอบแทนเข้ารัฐสูงขึ้น
วรวุฒิ บอกว่า ถ้าเกิดสัมปทานแบ่งตามกลุ่มสินค้าจะให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน ถ้ากลุ่มน้ำหอมอาจจะให้ผลตอบแทนรัฐ 50% เพราะกำไรดี แต่พอเป็นธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจจะให้ผลตอบแทนรัฐ 20-25% อันนี้พอเข้าใจได้ เพราะกำไรอาจจะไม่เท่าน้ำหอม แต่พอเหมารวมให้ผู้ประกอบการรายเดียว เขาจะเอาผลตอบแทนที่ต่ำสุดเสนอให้ทางรัฐ เพราะมันต้องเฉลี่ยกัน ทีนี้รัฐก็เสียผลประโยชน์
ทางสมาคมค้าปลีกจึงสนับสนุนให้แบ่งสัมปทานตามกลุ่มสินค้าเพราะ 1.รัฐได้ผลประโยชน์ 2.ได้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ 3.เกิดการแข่งขัน 4.เกิดการโปร่งใส่
-
ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จากทอท.
สถานการณ์ในการประมูลสัมปทานในปีนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนใดๆ เกิดขึ้น
“ตอนนี้เพิ่งขายซอง TOR ขายซองประมูล แล้วระยะการขายซองปกติต้องให้ระยะเวลา 60-90 วันกับโครงการเป็นแสนล้าน แต่ประเทศไทยให้เวลาทำแผน 30 วัน ซึ่งสั้นมาก และข้อมูลใน TOR ยังไม่บอกชัดเจนว่าในอดีตสินค้ากลุ่มไหนขายได้เท่าไหร่ นักท่องเที่ยวชาติไหนเข้ามา ซึ่งมีผลต่อการประมูล
พอไม่มีข้อมูลแบบนี้คนที่ได้เปรียบคือคนที่ทำธุรกิจรายเก่าเพราะรู้ข้อมูลหมด จะเปิดให้ Duty Free ระดับโลกมาลงทุน แค่ 30 วันจดทะเบียนก็ไม่ทันแล้ว และต้องมานั่งทำแผนอีก เป็นความไม่โปร่งใส เป็นเรื่องที่ต้องร้องเรียน”
ยกตัวอย่างสนามบินฮ่องกงมี Duty Free 4 รายในสนามบิน แต่ว่าเวลาประมูลให้เวลาทำแผน 60-90 วัน และให้ข้อมูลครบ เวลาใครที่เข้ามาประมูลได้เห็นข้อมูลทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ การแข่งขันราคาก็เต็มที่
แต่ของไทยแปลกๆ ใน TOR ระบุว่าให้คะแนนเรื่องการให้ผลตอบแทนประเทศให้น้ำหนักแค่ 20% อีก 80% เป็นเรื่องของแผนธุรกิจ หรือข้อมูลทางเทคนิค มันเอื้อประโยชน์ให้ใครคนหนึ่งมาก เพราะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคน เรื่องผลตอบแทนประเทศที่ควรเป็นเรื่องใหญ่กลับให้น้ำหนักแค่ 20% ยกตัวอย่าง มีคนเข้าประมูลแล้วให้ผลตอบแทนประเทศ 40% อาจจะแพ้คนที่ให้ผลตอบแทนประเทศแค่ 20% เองก็ได้
TOR แบบนี้แหละที่กำลังใช้อยู่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคน แม้จะเขียนดีก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่เห็นว่าไม่โปร่งใส
-
ไทยต้องสร้างท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งให้ได้
ถ้า Duty Free มีการแข่งขัน มีคุณภาพ และสร้างการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งให้เกิดขึ้น ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแบบไทยมากนัก แต่คนอยากไปบ่อยๆ เพื่อช้อปปิ้ง
มาไทยเที่ยววัด 2 ครั้งก็เบื่อ แต่ถ้ามาวัดด้วย ดูธรรมชาติด้วย ศิลปะวัฒนธรรมด้วย ช้อปปิ้งด้วย เขาอาจจะมาได้เป็น 10 ครั้ง เหมือนที่คนไทยไปญี่ปุ่น ไปฮ่องกงได้เป็น 10 ครั้ง
ไทยเป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับ 4 ของโลกแท้ๆ แต่อ่อนเรื่องช้อปปิ้ง มองว่าถ้าเราปรับปรุงเรื่องการช้อปปิ้งให้เป็น Shopping Paradise ไทยจะกลายเป็นประเทศท่องเที่ยวเบอร์ 2 ของโลกไม่ยากเลย มีสิทธิ์ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้เลย ถ้าทำเหมือนเกาหลีใต้ ให้ Duty Free เป็นเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวดีกว่านี้อีกเยอะ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับดราม่าประมูลสัมปทาน Duty Free มากขึ้น สิ่งที่ทางสมาคมค้าปลีกไทยออกมาเรียกร้องนั้นอาจจะสร้างโอกาสมหาศาลให้กับประเทศ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา