วู้ดดี้เปิดความท้าทายสุดหินของ S2O “ลงทุน 90 ล้าน แต่ความรู้สึกต้องเหมือน 200 ล้าน”

คุยกับวู้ดดี้ มิลินทจินดา ผู้ปลุกปั้นเทศกาลดนตรี S2O จนถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว พร้อมกับบทเรียนต่างๆ ที่ผ่านมา โดยพบว่าความท้าทายที่สุดในตอนนี้คือความคาดหวังของลูกค้า ที่เข้ามาแล้วต้องให้ได้มากกว่าที่คิด

บัตรราคาพุ่ง ต้องบริหารความคาดหวังลูกค้าให้ได้

ในยุคสมัยนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเทศกาลดนตรี S2O Songkran Music Festival กลายเป็นอีเวนต์ใหญ่ประจำช่วงเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทยไปแล้ว เป็นเทศกาลดนตรี EDM พร้อมกับกิมมิกในการเล่นน้ำไปด้วยพร้อมกัน

S2O ถือเป็นผลผลิตชิ้นโบว์แดงของ Woody World หรือเป็นอาณาจักรของ “วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา” จุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์นี้ก็ได้เกิดจากความชอบในดนตรี EDM เป็นการส่วนตัว มีการตะเวนดูเทศกาลดนตรีจากหลายแห่งทั่วโลก จนมาคิดว่าทำไมในไทยยังไม่มี จึงมาลงเอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดิบพอดี

ในปีนี้ S2O ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ถ้าจะพูดว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในไทยก็ว่าได้ เพราะสามารถเป็นแม็กเน็ตดึงชาวต่างชาติให้มาที่งานได้เพียบ กลายเป็น Destination ที่ต้องมาเยือนในช่วงสงกรานต์เลยทีเดียว แถมตอนนี้ยังสามารถพา S2O โกอินเตอรืไปต่างประเทศได้อีกด้วย

กระแสความนิยมของ S2O ได้เพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ วัดง่ายๆ จากความต้องการของบัตรเข้างาน มีการขายหมดเกลี้ยงแบบ Sold Out ภายในเวลาไม่นาน แถมมีการมาขายต่อแบบอัพราคาอีกหลายเท่าตัวไปจนถึงหลักหมื่นบาทก็มี

แต่เมื่อมีดีมานด์ที่สูงมากๆ คนที่ต้องการเข้างานจริงๆ ก็ต้องจำใจซื้อ หรือนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศที่เดินทางมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะก็ต้องซื้อ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุมของผู้จัดงานเช่นกัน กลายเป็นความท้าทายในฐานะผู้จัดงานของวู้ดดี้ในการบริหารความคาดหวังของลูกค้าให้ดีๆ ให้สมกับราคาที่ซื้อมาให้ได้

“บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำ S2O ในหลายปีที่ผ่านมานั้น พบว่าเมื่อราคาบัตรพุ่งเป็นเท่าตัว ในฐานะผู้จัดต้องคิดดีๆ ว่าจะจัดการอย่างไรต่อ เพราะคนซื้อบัตรมาหมื่นนึง ความคาดหวังที่มาในงานคือหมื่นนึง ไม่ใช่ราคาหน้าบัตรที่ 2-3 พัน เพราะฉะนั้นความท้าทายในการจัดงานนั้นก็คือ เราลงทุนในงาน 90 ล้านบาท แต่ความรู้สึกที่ลูกค้าได้รับต้อง 200 ล้านบาท”

S2O ในปีก่อนๆ มีการลงทุนเฉลี่ยปีละ 90 ล้านบาท แต่ในปีล่าสุดได้ใช้งบลงทุนมากขึ้นเป็นหลักร้อยล้านแล้ว เพราะสเกลงานใหญ่ขึ้น เปลี่ยนสถานที่ ซึ่งก็ต้องยังคงต้องทำให้ผู้มางานได้รับกลับไปหลายเท่าตัวอยู่ดี

ตำแหน่งของวู้ดดี้คือ “เก็บขยะ”

ถ้าถามว่าวิธีการที่จะทำให้ผู้มางานได้รับความประทับใจ และความรู้สึกที่มากกว่าราคาตั๋วนั้น วู้ดดี้มีวิธีการทำเช่นไรบ้าง?

วู้ดดี้นั่งคิดสักระยะหนึ่ง และแล้วปล่อยเสียงหัวเราะออกมาครั้งใหญ่ พร้อมกับบอกว่า “ตำแหน่งของวู้ดดี้ในงานคือเก็บขยะ”

ใช่แล้ว… วู้ดดี้บอกว่าวิธีการทำให้คนเข้างานประทับใจได้คือ “ความสะอาด” ตำแหน่งของเขาจึงจะแสตนบายในเรื่องเก็บกวาดขยะ แล้วจะโน้มน้ามสต๊าฟทุกคนให้ช่วยรักษาความสะอาด เพียงแค่มีกระป๋องเบียร์กำลังตกถึงพื้นก็ต้องรีบเก็บ จะทำให้ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติรู้สึกตกใจที่งานไม่มีขยะกวนใจ เป็นการสร้างความประทับใจอย่างหนึ่ง

นอกเหนือจากเรื่องความสะอาดที่เป็นกิมมิคเล็กๆ ในเรื่องความรู้สึกทางใจแล้ว ยังมีเรื่องโปรดักชั่นอื่นๆ อย่างเวที แสง สี เสียงสุดอลังการที่จะช่วยเพิ่มความรู้สึก 200 ล้านของผู้ชมได้เช่นกัน

วู้ดดี้เคลมว่า เวทีที่งาน S2O นี้เป็นเวทีเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพราฉะนั้นจะช่วยสร้างประสบการณ์ความรู้สึก 200 ล้านกลับไปได้แน่ๆ

ทำมา 4 ปีถึงมีกำไร

S2O เดินทางเข้าสู่ปี 5 เข้าไปแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่วู้ดดี้บอกว่าจริงๆ แล้วงานนี้เพิ่งมีกำไรเมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ทั้งนี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติของการจัดการเทศกาลดนตรีอยู่แล้ว ที่ช่วงปีแรกๆ จะติดลบเข้าเนื้อตัวเอง ก่อนจะมาสร้างกำไรในปีหลังๆ

“S2O ทำมา 4 ปีแล้วถึงค่อยมีกำไรขึ้นมา ลงทุนในปีแรก 90 ล้านบาท ขาดทุนไปแล้ว 40 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องธรรมดาของการทำเฟสติวัล จึงต้องมีการขยายสเกลงานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสร้างกำไร ดีที่ว่าชื่อแบรนด์ S2O เริ่มติดในตลาดแล้วทำให้มีกำไร มีคนสนใจเข้ามามากขึ้น จนในปีล่าสุดมีผู้เข้างาน 3 วันรวม 60,000 คน”

วู้ดดี้ได้ปรับโครงสร้างรายได้จากสปอนเซอร์ด้วย เพราะธุรกิจนี้จะอยู่ได้ต้องเน้นหนักที่ราคาตั๋วเป็นหลัก โดยปีแรกมีรายได้จากสปอนเซอร์ 50% ปีที่ 2 เริ่มลดลงมาเหลือสัดส่วน 30% ปีที่ 3 เหลือ 20% และล่าสุดรายได้จากสปอนเซอร์เหลือ 10% เท่านั้น โดยสปอนเซอร์ใหญ่ของงานยังคงเป็น Pepsi ที่อยู่กับ S2O มาตั้งแต่ปีแรก

โกอินเตอร์ไปญี่ปุ่น หวังเปิดต่อปีละ 1 เมือง

ตอนนี้วู้ดดี้ได้ต่อยอด S2O ไปสู่ต่างแดนได้เป็นที่เรียบร้อย ส่งออก S2O ไปที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรกที่โอไดบะ กรุงโตเกียว ได้จัดเมื่อตอนซัมเมอร์ที่ญีปุ่นไปเมื่อตอนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยจัดเป็นเวลา 2 วัน มีคนเข้าร่วมงาน 16,000 คน ยังคงคอนเซ้ปต์เป้นเทศกาลดนตรี EDM พร้อมกับสาดน้ำไปด้วย

วู้ดดี้บอกว่าที่เริ่มไปที่ญี่ปุ่นก่อนเพราะเขาติดต่อมาว่าต้องการเอาแพลตฟอร์มไปเปิดที่นู้น เป็นโมเดลแฟรนไชส์ และการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ได้ลงตัว จึงได้เริ่มโปรเจ็คต์ก่อน มีแผนที่จะเปิดต่อไปอีกในปีต่อๆ ไป ตั้งเป้าปีละ 1 เมือง

ถ้าถามว่ามีแผนจะบุกตลาดประเทศจีนหรือไม่ เพราะตอนนี้คนจีนมาที่ S2O เยอะมาก วู้ดดี้บอกว่ามีความคิดที่จะไปจีน แต่มองว่ายังไม่สามารถควมคุมคุณภาพได้ ยังไม่มีความชัดเจนกับพาร์ทเนอร์ที่จีน เพราะส่วนใหญ่จะเน้นที่สเกลขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่วู้ดดี้ต้องการเรื่องคุณภาพ

ส่วนทิศทางของ S2O ในการเข้าสู่ปีที่ 5 นั้น วู้ดดี้บอกว่าต้องขยายพื้นที่ให้มากขึ้น ในปีหน้าจะทำการย้ายสถานที่ให้ใหญ่กว่าเดิม และ Pain Point ที่เจออีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เยอะมากขึ้นทุกปี ในปีนี้มีถึงสัดส่วน 35% จะต้องมีวีการจัดการอย่างไรให้ทุกฝ่ายแฮปปี้

แต่วู้ดดี้ก็บอกว่ามีข้อดี คือ มีพาร์ทเนอร์ที่มาจับตลาดคนจีน กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ระบบนิเวศตรงนี้โตไปเรื่อยๆ ปล่อยให้โลกจัดสรรไปเอง

ปัจจุบันธุรกิจอีเวนต์คิดเป็นสัดส่วน 50% ของบริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด โดยตอนนี้มี 2 อีเวนต์ใหญ่ก็คือ เทศกาลดนตรี หรือ S2O คิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้ในอีเวนต์ ส่วนอีก 20% คือ อีเวนต์ด้านสุขภาพก็คือ Fit Fest

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา