อัสสเดช คงสิริ วางกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างโอกาสเติบโต พัฒนาทั่วถึง เตรียมคนเพื่ออนาคต

นักลงทุนทั่วโลกต่างมองหาตลาดทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี นี่คือเรื่องปกติ แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งจุดที่แข็งที่สุดของตลาดทุนไทยคือ เป็นตลาดที่มีสภาพคล่องดีมาก ติดอันดับสูงที่สุดในอาเซียน และติดระดับท็อปในภูมิภาคเอเชีย แปลว่านักลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้สะดวก

set

นอกจากนี้ตลาดทุนไทยยังมีความหลากหลายของอุตสาหกรรม ที่ตลอดระยะเวลา 50 ปี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบริษัทขนาดต่างกันทั้งใหญ่ กลางและเล็ก เข้ามาจดทะเบียน โดยในปัจจุบันมีเกือบ 900 บริษัท ให้นักลงทุนเลือกลงทุนได้ตามความสนใจ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า จุดแข็งเหล่านี้เริ่มมีความน่าสนใจน้อยลง 

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 บอกว่า เวลานี้โจทย์สำคัญของตลาดทุนไทย คือการเร่งสร้างจุดแข็งใหม่ที่น่าดึงดูดใจ ทั้งดึงดูดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เข้าสู่ตลาดทุน สร้างการเติบโต และดึงดูดนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาสู่ตลาด จึงเป็นภารกิจที่น่าติดตามสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะตลาดทุน ที่ต้องสร้างผลกำไร ให้ความรู้และพัฒนาตลาดให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

set

เปิดกลยุทธ์ 2568-2570 สร้างการเติบโตให้ตลาดทุนไทย

อัสสเดช บอกว่า ตลาดทุนไทยถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคมีจุดเด่นที่แข็งแกร่ง แต่ในระยะยาวต้องเร่งสร้างจุดเด่นใหม่ๆ ทั้งต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยต้องกลับมาพัฒนา Fundamental ของธุรกิจให้มีอนาคตที่เติบโต โดยปัจจุบันตลาดทุนไทยมี P/E Ratio อยู่ที่ประมาณ 20 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แต่ถ้าอยากเติบโตมากกว่านี้ก็ต้องมีโปรแกรมมาส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง

สำหรับแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ 2568-2570 มี 3 ส่วนสำคัญ​ คือ

  1. มุ่งมั่นเพื่อโอกาสเติบโต (Enable Growth Ambitiously)
  2. ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)
  3. สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)

Jump+ โปรแกรมสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด

ส่วนของการมุ่งมั่นเพื่อโอกาสเติบโต มีโปรแกรมสำคัญ คือ Jump+ สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทจดทะเบียน เน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่น ส่งเสริมผลการดำเนินงาน ขับเคลื่อนความยั่งยืน และสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น โดยสามารถเข้าร่วมโปรแกรมโดยสมัครใจ จากนั้นจะผ่านขั้นตอนวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน จัดทำแผนและกำหนดเป้าหมายการเติบโต จากนั้นต้องสื่อสารแผนให้กับนักลงทุน

ปัจจัยสำคัญคือ การสื่อสาร เมื่อบริษัทสร้างแผนธุรกิจและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยในการที่บริษัทจะสื่อสารกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การได้เจอนักลงทุนมีความสำคัญ ช่วยให้ได้รับการตอบรับเพื่อนำมาพัฒนาตัวเอง ได้รู้ว่าแผนธุรกิจดีพอหรือไม่ นักลงทุนเชื่อหรือไม่ หรือมี feedback อย่างไร ขณะเดียวกันนักลงทุนก็ได้เห็นบริษัทใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนธุรกิจ ถือเป็นวงจรที่หมุนไปในทางบวก ทำให้ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้น

อัสสเดช บอกว่า โปรแกรม Jump+ จะเริ่มต้นในปี 2568 แน่นอน แต่จะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนอาจใช้เวลา 2-3 ปี ซึ่งอนาคตมีแนวคดจะทำ Jump+ Index ลักษณะเดียวกับ SET50 Index รวมอย่างน้อย 50 บริษัทที่มีศักยภาพเติบโต

Listing Hub ผลักดันตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพ

ในกลยุทธ์มุ่งมั่นเพื่อโอกาสเติบโต ยังมีแนวคิดที่กำลังพัฒนา คือ สร้าง Listing Hub ศูนย์กลางในการระดมทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เช่น Healthcare, Medical, Wellness และ Tourism ซึ่งศูนย์กลางนี้ต้องครอบคลุมถึง Supply Chain ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่จะสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือ การที่ประเทศไทยเป็น Detroit of Asia คือ เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ เกิด Supply Chain เกี่ยวกับยานยนต์มากมาย

แนวโน้มความต้องการบริการทางการแพทย์และบริการที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยสามารถเป็น Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้ให้กับภูมิภาคเอเชียได้ นี่คือการสร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดบริษัทที่อยากระดมทุน ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทั้งประเทศ

“ทุกวันนี้คนต่างประเทศเดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ที่ประเทศไทย และบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีแนวโน้มที่ดี น่าลงทุน เรียกว่ามี Brand Value ที่ดีอยู่แล้ว จะให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องคุยกันทุกฝ่าย จะผลักดันและส่งเสริม เพื่อให้เป็นรูปเป็นร่าง อาจไม่ได้เห็นความสำเร็จใน 3-5 ปี แต่ต้องเริ่มวางรากฐานตั้งแต่วันนี้”

set

สร้างการพัฒนาเพื่อการเข้าถึงการลงทุนอย่างทั่วถึง

สำหรับกลยุทธ์ต่อมาคือ ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง โดยมีโปรแกรม Bond Connect Platform ขยายโอกาสให้นักลงทุนบุคคลเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาลได้สะดวกขึ้น พัฒนาตลาดรองเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และสามารถใช้เป็นหลักประกันในการลงทุนในสินทรัพย์อื่น 

ที่ผ่านมาพันธบัตรรัฐบาลต้องซื้อขายผ่านธนาคารพาณิชย์ ก็จะมีข้อจำกัดตามกรอบและขั้นตอนของธนาคารแต่ละแห่ง โดย Bond Connect Platform จะทำให้จับจองได้คล้ายกับหุ้น IPO ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบกลไกต่างๆ ให้เหมาะสม

ส่วนสำคัญคือ ต้องทำให้คนรู้ว่า พันธบัตรรัฐบาล มีสภาพคล่องที่ดีไม่ต้องถือจนหมดอายุ เมื่อต้องการใช้เงินสามารถซื้อขายได้ เป็นโอกาสในการออมที่ปลอดภัย มีสภาพคล่องที่ดี กระจายความเสี่ยงในการลงทุน ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ 

พัฒนาบริการให้นักลงทุนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น

อัสสเดช บอกว่า หนึ่งในภารกิจหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ขยายตลาดทุนให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องการนักลงทุนหน้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีและ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เช่น การใช้ AI จัดทำบทวิเคราะห์ให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งแต่เดิมอาจจะมีน้อย แต่ AI ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลมีความกว้างและลึกขึ้น รวมถึงทำลายข้อจำกัดด้านภาษาด้วย ทำให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าใจธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

ทำความเข้าใจ ESG และ Net Zero เพื่อส่งต่อองค์ความรู้

สำหรับ ด้าน ESG ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งด้าน Sustainable Business และ Sustainable Investment ควบคู่กันไป โดยปี 2568 จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ Low Carbon Economy ด้วยการพัฒนา Carbon Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง รวมทั้งการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการลงทุน ทั้งที่เป็นผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และกลุ่มอื่นๆ  

อัสสเดช บอกว่า ทั่วโลกเน้นเรื่อง ESG อย่างมาก ยิ่งประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก ถ้าไม่ปรับตัวเรื่อง ESG กระทบกับขีดความสามารถการแข่งขันแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ศึกษาอย่างละเอียด และกำหนดเป้าหมายอิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 โดยส่งแผนให้กับ Science Based Targets initiative (SBTI) เพื่อตรวจสอบแผนอย่างเป็นระบบ ถ้าได้รับการอนุมัติจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งต้นๆ ของโลก 

set

สร้างคน สร้างอนาคต ด้วย Collaboration

อัสสเดช กล่าวถึงส่วนสำคัญหนึ่งของกลยุทธ์ที่ 3 เป็นเรื่องของ คน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเตรียมความพร้อมคนในกลุ่ม Middle Management ให้พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต มีการวางกลยุทธ์แบบ Lifelong Journey ดูแลตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน จนถึงวันสุดท้ายที่เดินออกจากองค์กร โดย คน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการผลักดันตลาดทุน ดังนั้นต้องมีการวางแผนสร้างคน สร้างบุคลากรขึ้นมาทดแทน เพื่อเป็นผู้นำองค์กรในอนาคต ซึ่งแนวทางจะเปิดกว้างทั้งคนในองค์กรที่เก่งและคนภายนอกที่มีความสามารถด้วย

ส่วนของโครงสร้างองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งเน้น Operational Excellence เพื่อการดำเนินงานที่ราบรื่น ทันต่อสถานการณ์ ช่วยให้มีความเชี่ยวชาญในเชิงลึก เน้นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมCollaborate to Innovate and Elevate เป็นการยกระดับองค์กรและยกระดับตลาดทุนไปพร้อมกัน

“ตลอด 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างตลาดทุน การพัฒนาแพลตฟอร์ม การพัฒนาบริการดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย มาถึงปัจจุบัน ถึงยุคของการ Collaboration ต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น มองภาพรวมมากขึ้น ต้องสื่อสารกันอย่างชัดเจนและถูกต้อง ดังนั้นบุคลากรต้องปรับทัศนคติการทำงานในแนวทางนี้”

set

ปิดท้ายกับรางวัล สะท้อนภาพความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน

ปี 2024 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับรางวัลที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน ทั้งด้าน Physical, Mental, Financial, Social & Environment และ Career อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพราะเชื่อว่า การดูแลพนักงานในทุกด้านจะช่วยให้มีความสุขในการทำงานและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยรางวัลที่ได้รับประกอบด้วย

  • Employee Experience Awards Thailand 2024
  • Asian Experience Awards 2024
  • LinkedIn Talent Awards 2024

set

สรุป

น่าติดตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้กับตลาดทุน พัฒนาบริการและแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อสร้างการเข้าถึง และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต ของ อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 ที่แสดงให้เห็นว่า หากต้องการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ปัจจัยสำคัญคือพื้นฐาน ทั้งเรื่องธุรกิจ เรื่องตลาดทุน เรื่องบุคลากร หลายสิ่งอาจไม่เห็นผลลัพธ์ในระยะสั้น แต่การจะสร้างจุดแข็งใหม่ให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย ต้องมองระยะยาว และต้องเริ่มต้นวันนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา