มองต่างมุมกับ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” เพื่ออนาคตธุรกิจการเงินที่แข็งแกร่งของ SCB

10914839_1051596264866921_4447883199041906071_o

อย่างที่รู้กันว่า ธนา เธียรอัจฉริยะ กำลังทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารที่ Digital Ventures บริษัทในเครือของ ธนาคาร SCB เพื่อดูแลธุรกิจ FinTech สร้างสิ่งที่เรียกว่าอนาคตของธุรกิจการเงิน และกำลังจะเข้าไปมีบทบาทบางอย่างใน SCB มากขึ้น Brand Inside ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งคุยแบบเป็นกันเอง ถึงจุดเริ่มต้นและความคืบหน้าของ Digital Ventures บริษัทล่าสุดในเครือ SCB ที่จะทำธุรกิจบนพื้นฐานของ “ความไม่รู้”

ก่อนเริ่มต้นคุยกัน ธนา ยังคงย้ำเสมอว่า จุดเริ่มต้นของการทำงาน อยู่บนแนวคิดที่เรียบง่าย นั่นคือ ความกังวลต่อสิ่งที่ไม่รู้ และธนาคารกำลังจะถูก Disrupt แต่ด้วยความเป็นธนาคาร ที่ดูแลรับผิดชอบเงินฝากของประชาชน ดังนั้น SCB จะทดลองธุรกิจใหม่ๆ ก็ไม่ได้ ล้มเหลวไม่ได้ มีกฎระเบียบกำกับดูแลด้วย

จึงเกิดเป็น Digital Ventures ที่มาพร้อมกับเงินลงทุน 50 ล้านเหรียญ มีหน้าที่สำคัญคือเป็น Radar ค้นหาสิ่งที่เป็นนวัตกรรม เป็นอนาคต เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับ SCB และกลายเป็น 4 การทำงานหลัก

  1. Venture Capital เน้นการลงทุนทั้งแบบ Fund of Fund และ Direct Investment
  2. Accelerator บ่มเพาะพัฒนา FinTech
  3. Lab ศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่
  4. Product ค้นหาพันธมิตร หรือบริษัทที่ SCB สามารถร่วมมือ เพื่อให้เกิดบริการใหม่
14663_10204894734141230_8366977516545057352_n
ธนา เธียรอัจฉริยะ และ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ บิ๊กบอสจาก AIS

เข้าใจ 4 แกนธุรกิจ สร้างอนาคต SCB

4 แกนธุรกิจ มีเหตุและผลของการเกิดขึ้นจาก “ความไม่รู้” นั่นคือ VC เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับ SCB ผ่านการลงทุนร่วม เช่น Fund of Fund กับ Golden Gate Ventures เพื่อเรียนรู้แนวทางการลงทุนใน FinTech ทั่วโลก และจะมี Fund of Fund อื่นๆ ตามมาอีกในอนาคต ทั้งยังเป็นการเปิดตลาดให้ SCB ออกไปค้นหา FinTech ได้ทั่วโลก กระจายความเสี่ยงทางการลงทุน เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีตลาดที่เล็กมาก

และด้วยตลาดที่เล็ก ทำให้การทำ Accelerator เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะ SCB รู้ว่า FinTech คิดและทำคนเดียวไม่ work แต่การมาร่วมมือกับธนาคาร จะทำให้เข้าใจโลกทางการเงินมากขึ้น และจะสามารถฝ่าด่านกฎระเบียบต่างๆ จาก Regulator ไปได้ด้วย ซึ่งเป้าหมายของ Digital Ventures คือต้องเป็น Accelerator ด้าน FinTech ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ในอนาคต

เมื่อมีการลงทุน และมีการสนับสนุนแล้ว ส่วนต่อมาคือ การศึกษาผ่าน Lab เมื่อมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นในตลาด หรือต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ Lab จะทำหน้าที่ศึกษา เช่น การเกิดขึ้นของ Blockchain และการนำมาใช้งานจริง สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการทำงานของ Lab และนำไปสู่แกนสุดท้ายคือ Product นั่นคือ การค้นหาบริการใหม่ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด อาจจะจับมือพันธมิตรร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการถ้าจำเป็น เพื่อให้ SCB มีบริการใหม่

ดังนั้น Startup ด้าน FinTech สามารถเข้ามาหารือโดยตรงกับ Digital Ventures ได้ตลอดเวลา

thana5
Digital Ventures ลงทุนใน Golden Gate Ventures

Digital Customer สินทรัพย์ที่มีค่าของโลกการเงิน

การขยับเคลื่อนไหวของโลกธุรกิจยุคดิจิทัล สิ่งทีสำคัญที่สุดสิ่งใหม่กลายเป็น Digital Customer หรือ ฐานลูกค้าดิจิทัล ที่กลายเป็น สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ผู้ให้บริการแชทมีฐานลูกค้ากว่า 30 ล้านราย ผู้ให้บริการ e-Book มีฐานลูกค้า 9 ล้านราย ทั้งหมดสามารถเปลี่ยนธุรกิจสู่บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ฐานลูกค้าดิจิทัลของธนาคาร ยังน้อยมาก อยู่ในระดับ 2-3 ล้านรายเท่านั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการเพิ่มฐานลูกค้า

“ต่อจากนี้ไป Digital Customer จะเป็นตัวชี้วัดพลังขององค์กร องค์กรไหนที่มี Digital Customer จำนวนมาก จะยิ่งมีโอกาสในการทำธุรกิจได้อย่างมหาศาล ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการซื้อกิจการเพื่อให้ได้ฐานลูกค้า”

อย่างไรก็ตาม ธนา เชื่อว่ายุคต่อไปจะเป็นยุคของการ Collaboration หรือการร่วมมือ มากกว่าการ Disruption เพราะ FinTech ที่เชื่อว่าจะสามารถ Disrupt ธนาคารได้นั้น สุดท้ายจะเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และการจะผ่านด่านนี้ได้ การร่วมมือกับธนาคารเพื่อช่วยเหลือกัน มีความเป็นไปได้มากกว่า และแน่นอนว่า ธนาคาร ยังเป็นแหล่งเงินทุนอย่างดีในการทำธุรกิจอีกด้วย

11188394_10155867721910001_6684029774861066692_n
ธนา และ สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ Co-Founder ของ ABC

หัวใจหลัก สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ที่ไม่ใช่ธนาคาร

ธนา บอกว่า Digital Ventures คือการทำสิ่งที่ธนาคารไม่สามารถทำได้ โดยเริ่มต้นจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ในรูปแบบ Family Culture ทำงานแบบสนุก เปลี่ยนคำถามจากคำว่า What และ How เป็นคำว่า Why คือ ถามว่า ทำไปทำไม เช่น การทำ Accelerator ไม่ได้ทำเพื่อให้บริษัทได้รายได้ หรือได้บริการใหม่ แต่ทำแล้วได้สร้างโอกาสให้กับ Startup สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ทำแล้วได้นวัตกรรมใหม่ ได้ไอเดียที่จะต่อยอดในอนาคต หรืออย่างน้อย ก็ได้ “คน” ที่เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด

ด้วยรูปแบบการทำงานในยุคดิจิทัล คนเก่งๆ ไม่อยากทำงานในองค์กร ดังนั้นหน้าที่ขององค์กรที่อยากได้คนเก่งไว้ทำงาน จึงต้องออกแบบการทำงานใหม่ ไม่จำเป็นต้อง Full Time สามารถทำเป็นโปรเจค เป็น Part Time หรือเป็น Freelance และเน้นสร้างความสัมพันธ์ให้คนเก่ง อยากทำงานด้วยกันไปนานๆ โดยมีเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ซึ่งต้องบริหารจัดการความรู้สึกให้ดี เรียกว่าสร้างวัฒนธรรมองค์กรตามความต้องการของคนรุ่นใหม่ แต่ก็ดูแลคนรุ่นเดิมด้วย

เรียกว่าเป็นการสร้าง New Normal ให้เกิดขึ้นในองค์กรยุคใหม่

ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยังส่งผลไปถึง SCB โดยการนำหลักสูตร ABC พิเศษ มาจัดให้กับพนักงาน SCB จำนวน 100 คน เพื่อก่อให้เกิด Change หรือการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เป็นการนำศิลป์ เข้ามาผนวกกับ ศาสตร์ ที่มีอยู่ในองค์กร เพื่อให้เกิดความกลมกล่อมในการทำงานมากยิ่งขึ้น

thana3

สั้นๆ กับ ธนา เธียรอัจฉริยะ

ธนา หรือ พี่โจ้ เป็นผู้บริหารที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน เป็นผู้สร้างแบรนด์ happy และเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ dtac ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ของไทย ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจทีวีดาวเทียมให้กับ GMM Grammy และเผชิญกับยุคทีวีจอดับ บุกไป Set up เริ่มต้นธุรกิจให้ Telenor ที่ประเทศพม่า เป็น Co-Founder ของ ABC หรือ Academy of Business Creativity มหาวิทยาลัยศรีปทุม หลักสูตรที่ใครหลายคนอยากเรียน และล่าสุดกับประธานกรรมการบริหารของ Digital Ventures และเป็นบอร์ดในอีกหลายบริษัท

ปัจจุบัน ธนา คือคุณพ่อยังหนุ่มที่น่ารักของครอบครัว และชอบวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

Source Photo: ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook ของคุณธนา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา