เปิดตำนาน “ส.ขอนแก่น” อาหารพื้นบ้านมหาชน ที่มาจากคำว่าสินค้าจากขอนแก่น

Brand Inside พามาเปิดตำนานแบรนด์ ส.ขอนแก่น จากวัตถุดิบอาหารพื้นบ้าน สู่แบรนด์มหาชนในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้ขยายธุรกิจสู่ขนมขบเคี้ยว และร้านอาหาร

ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากขอนแก่น แต่เป็นสินค้าจากขอนแก่น

เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักแบรนด์ ส.ขอนแก่น หรือต้องเคยสัมผัสกับสินค้าของส.ขอนแก่นกันมาบ้าง ปัจจุบันมีอายุ 35 ปีแล้ว ธุรกิจของส.ขอนแก่นจำหน่ายอาหารพื้นเมืองจำพวกหมูยอ แหนม หมูหยอง หมูแผ่น อาหารทานเล่น อาหารแช่แข็ง ไปจนถึงทำร้านอาหาร

ด้วยชื่อแบรนด์ว่าส.ขอนแก่นอาจจะทำหลายคนคิดว่าเป็นแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากขอนแก่นหรือเปล่า หรือผู้ก่อตั้งต้องเป็นคนขอนแก่น แต่จริงๆ แล้วชื่อมีความเรียบง่ายมาก มาจากคำว่า “สินค้าจากขอนแก่น”

เจริญ รุจิราโสภณ (กลาง) จรัสภล รุจิราโสภณ (ซ้าย)

“จรัสภล รุจิราโสภณ” ประธานเจ้าหน้าที่สายงาน QSR และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาด บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารเจน 2 ได้เล่าที่มาที่ไปของแบรนด์ให้ฟังว่า

“ส.ขอนแก่นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับขอนแก่นเลย แต่ก่อนคุณพ่อทำงานที่เชี่ยวชาญการแปรรูปเนื้อสัตว์ ลูกชิ้น ไส้กรอกต่างๆ แล้วออกมาอยากทำธุรกิจตัวเอง มองเห็นโอกาสสินค้าเหล่านี้ จึงซื้อมาขายที่กรุงเทพ จึงเป็นที่มาของแบรนด์”

บริษัท ส. ขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 โดย “นายเจริญ รุจิราโสภณ” ผู้มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมอาหารนานกว่า 10 ปี ในช่วงเริ่มต้นนั้นเจริญเห็นว่าคนในกรุงเทพจำนวนหนึ่งนิยมบริโภคอาหารประเภทหมูหยอง หมูแผ่น และกุนเชียง เมื่อเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ก็จะซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาจำหน่ายในกรุงเทพ และสินค้าจากบ้านไผ่ ขอนแก่นก็ขึ้นชื่อ จึงเป็นที่มาของชื่อ ส.ขอนแก่น หรือสินค้าจากจังหวัดขอนแก่น

ในช่วงแรกเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยการซื้อมาขายไป จนถึงจุดหนึ่งที่จากสร้างมาตรฐานให้สินค้ามีความสะอาดปลอดภัย ในช่วงปีที่ 2 จึงลงทุนสร้างโรงงาน ด้วยเงินลงทุน 300,000 บาท ขายอาหารพื้นเมืองของคนไทย แต่ใส่มาตรฐานในการผลิตใหม่ จากหมูยอที่แต่เดิมอยู่ในใบตอง มาผลิตในเครื่องทำไส้กรอกเยอรมัน เป็นการยกระดับอาหารพื้นเมืองให้ดีขึ้น

จากนั้นเพียงแค่ 8 ปี อาหารพื้นบ้าน ได้เข้าสู่บริษัทมหาชน ส.ขอนแก่นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว คณะผู้บริหารได้ตัดสินใจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นบริษัท อุตสาหกรรมอาหาร ส. ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2537

ด้วยสินค้าหลักของ ส.ขอนแก่นส่วนใหญ่ทำมาจากเนื้อหมู และเนื้อหมูมีราคาผันผวนมีการขึ้นลงอยู่ตลอด ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญทางธุรกิจ บริษัทจึงขยายตัวธุรกิจเกษตรเต็มรูปแบบ ด้วยการมีฟาร์มสุกรเป็นของตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2538

ทำสินค้าให้มีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นอกจากสินค้าอาหารพื้นเมืองพวกหมูยอ แหนมแล้วส.ขอนแก่นยังนำเอาอาหารพื้นเมืองอย่างหมูแผ่นมาดัดแปลงให้เป็นขนมขบเคี้ยวในแบรนด์ “อองเทร่” เป็นหมูแผ่นอบกรอบ เป็นการปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ และไม่ให้อาหารพื้นเมืองถูกกลืนหายไปด้วย อีกทั้งตลาดขนมขบเคี้ยวยังใหญ่กว่าตลาดอาหารพื้นเมืองอีกด้วย

และเมื่อปี 2553 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส.ขอนแก่นได้เริ่มธุรกิจร้านอาหารประเภท Quick Service Restaurants หรือ QSR เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าของตัวเอง และทำกำไรมากขึ้น รวมถึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท อุตสาหกรรมอาหาร ส. ขอนแก่น จำกัด เป็น บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)

ประเดิมที่ร้าน “แซ่บคลาสสิก” สาขาแรกที่หน้าโรงงานที่กิ่งแก้ว เป็นร้านอาหารอีสาน มีวัตถุดิบของส.ขอนแก่นอยู่ด้วย จากนั้นได้เปิดสาขาที่ 2 ที่อารีย์อยู่ใจกลางเมือง ได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้น และมีร้านอาหารอีกแบรนด์หนึ่งคือ “ขาหมูยูนนาน”

“ธุรกิจร้านอาหารเป็นนโยบายของคุณพ่อที่อยากให้ส.ขอนแก่นมีสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำ หรือเป็นสินค้า On the Table เพื่อให้สัมผัสกับโดยตรง ไม่ต้องผ่านช่องทางร้านค้าอื่นๆ และพบว่าลูกค้าคนไทยคุ้นเคยกับอาหารอีสาน จึงเปิดเป็นร้านแซ่บคลาสสิก” 

ปัจจุบันร้านแซ่บคลาสสิกมีทั้งหมด 13 สาขา และขาหมูยูนนาน 20 สาขา ส่วนแผนของธุรกิจร้านอาหารจะไม่เน้นขยายสาขา แต่จะเน้นต่อยอดให้เอาสินค้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากสินค้าพร้อมปรุง เป็นสินค้าพร้อมทาน รวมถึงเน้นช่องทางเดลิเวอรี่มากขึ้น

ในปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารของส.ขอนแก่นเติบโต 18% ส่วนใหญ่เติบโตจากเดลิเวอรี่ถึง 20% อีกทั้งส้มตำยังเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในส่วนของ Foods Delivery ด้วย มีการเติบโตมากกว่าหน้าร้านด้วยซ้ำ

ภาพรวมของส.ขอนแก่นในปี 2561 มีรายได้รวม 2,700 ล้านบาท เติบโต 8% ร้านอาหารมีสัดส่วน 8% ทิศทางต่อไปทำให้ร้านอาหารผนึกกำลังกับวินค้ามากขึ้น สามารถสั่งหมูยอ สั่งแหนมได้ เพื่อสร้างยอดขายให้โตขึ้น

ภารกิจเจน 2 ต้องรีเฟรชแบรนด์ให้ทันสมัย

จรัสภลเป็นทายาทคนโตของเจริญที่เข้ามาดูธุรกิจของส.ขอนแก่นได้ร่วม 15 ปีแล้ว โปรเจ็คต์แรกที่ได้รับมอบหมายคือ เปิดฐานผลิตที่โปแลนด์ บุกการขายที่ยุโรป รวมไปถึงทำขนมขบเคี้ยว ทำอาหารแช่แข็งต่อ แล้วก็มาทำร้านอาหาร

จรัสภลบอกว่าปีนี้จะได้เห็นส.ขอนแก่นในลุคใหม่แน่นอน เป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 35 ปี เป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องสื่อสารกับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“สิ้นปีนี้ส.ขอนแก่นจะรีแบรนด์ครั้งใหญ่ จะได้เห็นแพคเกจจิ้ง ใหม่ มีโลโก้ที่เป็น Next Gen เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ปรับอาหารพื้นเมืองให้เป็นพร้อมทานมากขึ้น มีการเอาวัตถุดิบอาหารเข้าธุรกิจ Food Service มากขึ้น ต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพราะแค่มีสินค้าอย่างเดียวมีการแข่งขันเยอะมาก ต้องทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง ต้องทำให้ถึงปากลูกค้าได้เร็วที่สุด การทำเดลิเวอรี่จึงเป็นสิ่งที่จะโฟกัสมากขึ้น จากแหนมแท่งเราทำเป้นยำแหนมให้เข้าถึงปากลูกค้าได้เร็วที่สุด”

สำหรับความท้าทายที่จรัสภลมองมากที่สุดในตอนนี้ การที่ส.ขอนแก่นเป็นตัวแทนอาหารไทยของคนไทย สามารถทำให้อาหารไทยอยู่ในชีวิตของคนไทย มีความภูมิใจร่วมกับแบรนด์ พ่วงการบริการ ยกระดับบริการ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าพื้นเมืองยังอยู่กับผู้บริโภคได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา