พา “บ้านหญิง” สู่ยุโรป ภารกิจสุดท้าทายของ “ทรงศร จั่นสัญชัย” ทายาท Gen 2

เปิดความท้าทายของ ทรงศร จั่นสัญชัย ทายาทเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของร้านอาหาร “บ้านหญิง” ที่ตอนนี้แบรนด์สามารถโกอินเตอร์ไปต่างประเทศแล้วเรียบร้อย แต่ความใฝ่ฝันขอไปต่อที่ยุโรป โดยเฉพาะนิวเยอร์ก และลอนดอน

ทรงศร จั่นสัญชัย ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง บ้านหญิง กรุ๊ป
ทรงศร จั่นสัญชัย ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง บ้านหญิง กรุ๊ป

ร้านอาหารไทย ต้องไทยแท้!

หลังจากที่มีดีลสะเทือนวงการร้านอาหาร เมื่อไรมอนด์แลนด์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้มาร่วมจับมือกับ “บ้านหญิง” เพื่อลุยธุรกิจอาหาร และเปิดสาขาที่ต่างประเทศ ประเดิมที่ประเทศสิงคโปร์เป็นที่แรก

ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ทรงศร จั่นสัญชัย” ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง บ้านหญิง กรุ๊ป ถึงเบื้องหลังดีลนี้ และมองถึงทิศทางของบ้านหญิงในอนาคตด้วย ซึ่งทรงศรได้เข้ามาดูแลกิจการที่บ้านหญิงได้ 10 กว่าปีแล้ว พร้อมกับพี่น้องคนอื่นๆ ที่รับผิดชอบคนละฝ่าย

“จริงๆ มีผู้เสนอมาเป็นพาร์ทเนอร์เยอะมาก แต่ความตั้งใจคือไม่อยากทำแฟรนไชส์ ไม่อยากหาผู้ลงทุน ไม่อยากได้แค่คนเอาเงินมาลงทุน แต่ต้องทำงานร่วมกัน มาก ส่วนเหตุผลที่เลือกไรมอนด์แลนด์เป็นพาร์ทเนอร์ เพราะเขามีแบล็กกราวด์ด้านอาหาร มีการพูดคุยกันก็เห็นถึงความใส่ใจ ความเข้าใจในธุรกิจจริงๆ และเขามีพื้นฐานระบบครอบครัวเหมือนกับบ้านหญิง และเราก็เห็นว่าบ้านหญิงมีฐานลูกค้าสิงคโปร์เยอะ จึงตัดสินใจร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กัน”

บรรยากาศร้านบ้านหญิงที่สิงคโปร์
บรรยากาศร้านบ้านหญิงที่สิงคโปร์

จะเห็นว่าในช่วงหลายปีมานี้เห็นร้านอาหารไทยโกอินเตอร์ไปหลายราย ซึ่งแต่ละร้านก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทรงศรได้วางจุดยืนให้กับบ้านหญิงว่าเป็นอาหารไทยสไตล์ “ไทยโมเดิร์น” Not Thai Authentic But Thai Realistic นั่นคืออาหารที่คนไทยทานแบบนี้ ไม่ใช่อาหารที่ปรับรสชาติตามนักท่องเที่ยว

“เชื่อมั้ยว่า 90% ของร้านอาหารไทย คนไทยยังไม่กินเองเลย เพราะส่วนใหญ่จะเน้นรสชาติสไตล์ที่ชาวต่างชาติชอบ บ้านหญิงเลยสื่อสารว่าเป็นอาหารที่คนไทยกินแบบนี้ ทานแบบคนไทย ไม่ใช่แค่หวานๆ มันๆ ปกติร้านอื่นทำแต่รสชาติต่างชาติ คิดว่าคนต่างชาติต้องชอบแบบนี้ บางทีนักท่องเที่ยวอยากกินอาหารไทยที่รสชาติไทยแท้ บ้านหญิงเลยทำให้รู้ว่าอาหารไทยไม่ต้องมีชฎา ไม่ต้องมีใบตองก็ได้”

สิงคโปร์เป็นสนามซ้อม ความฝันสู่ยุโรป

ในปีนี้มีแผนเปิด 3 ร้านในสิงคโปร์ เป็นแบรนด์บ้านหญิง และดิงค์ ดิงค์ (Dink Dink) อยู่ในโลเคชั่นอาคาร Royal Square เขตคอมเพล็กซ์เพื่อสุขภาพของ Novena Health City ใช้งบลงทุน 100 ล้านบาท ตั้งเป้า 7-8 เดือนคืนทุน เพราะมีแผนการตลาดค่อนข้างดี และพาร์ทเนอร์เชียวชาญในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งราคาอาหารสูงกว่าในไทย 4 เท่า ส่วนภายในปี 2019 จะขยายเพิ่มเป็น 5-6 ร้าน

“ร้านอาหารหลายแบรนด์ไปเมืองนอกเพื่อให้แบรนด์แข็งแกร่ง เพราะตลาดต่างประเทศมีโอกาสสูง มีแผนอยากให้บ้านหญิงไปยุโรป และอเมริกาภายใน 5 ปี เพราะส่วนตัวเรียนจบจากลอนดอน แต่ชอบเมืองนิวยอร์ค เพราะได้ไปทำงานที่นั่น มองว่าที่นิวยอร์คมีโอกาสสำหรับอาหารไทยเยอะ เลยใช้สิงคโปร์เป็นที่แรกในการฝึกมือก่อน”

ร้านที่สิงคโปร์จะมี 70 กว่าเมนู จากปกติในไทยมี 120 เมนู ในการทำอาหารจะเอาหัวหน้าแม่ครัวไปเทนด์ที่สิงคโปร์เลย แต่มีแผนตั้งครัวกลางในปีหน้า ทรงศรบอกว่าคอนเซ็ปท์คือทำอาหารให้คนในบ้านกิน เลยไม่อยากทำอาหารใส่แพ็คแล้วเอาไปอุ่นที่นั่น

ความท้าทาย ต้องตามความต้องการลูกค้าให้ทัน

สำหรับแผนการขยายสาขาของบ้านหญิงในไทยมีแผนเปิด 2 สาขาเท่านั้น ทรงศรบอกว่าไม่อยากเปิดสาขาเยอะ เพราะกลัวแบรนด์ช้ำ เน้นขยายแบรนด์ใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้ามากกว่า

บรรยากาศร้าน DINK DINK ที่สิงคโปร์
บรรยากาศร้าน DINK DINK ที่สิงคโปร์

สำหรับความท้าทายในธุรกิจร้านอาหารในตอนนี้ ทรงศรบอกว่า “ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ให้ทัน แต่ก่อนคนต้องการแค่ความไว อร่อย สะดวก คุ้มค่า แต่ตอนนี้ต้องดูเก๋ ทันสมัย บ้านหญิงไม่ได้รีแบรนด์นานแล้ว เลยทำการรีเฟรชแบรนด์พร้อมๆ กับที่ไปสิงคโปร์ ทำร้านให้ทันสมัย ร้านสดใสขึ้น แต่ดีที่มีการตกแต่งร้านแบบ Minimal มาตลอดตั้งแต่เริ่ม จึงอยู่ได้ทุกสมัย เพียงแต่นอนนี้อาจจะใส่ความเขียวๆ อย่างต้นไม้เล็กๆ เพิ่มเข้าไป ให้สดชื่นขึ้น”

โดยปกติแล้วฐานลูกค้าของบ้านหญิงจะเป็นกลุ่มที่โตมาจากสยามสแควร์ ตามคอนเซ็ปท์ Original Siam Kitchen ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะมาทานตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียน โตขึ้นก็พาลูก พาพ่อแม่ พาหลานมาทาน เกิดจากวัยรุ่นสยาม และไปสู่รุ่นต่อรุ่น ทำให้มีลูกค้ากว้าง

ปัจจุบันร้านบ้านหญิงมีทราฟิกเฉลี่ย 500 คน/วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 200-300 บาท/หัว ส่วนรายได้ปี 2560 โต 30% ปีนี้เป้าโต 40-50% รายได้จากต่างประเทศ 60%

สรุป

  • ร้านอาหารไทยมีศักยภาพในการเติบโตไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะคนต่างชาติชื่นชอบอาหารไทย แต่กลยุทธ์ และจุดแข็งของแต่ละร้านแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแพชชั่น และการดำเนินธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา