คุยกับ “ปิยะเลิศ ใบหยก” ความท้าทายของเจน 3 ในยุคที่ธุรกิจโรงแรมถูก Disrupt

ร่วมพูดคุย เปิดแนวคิดการบริหารงานของ “ปิยะเลิศ ใบหยก” ทายาทเจน 3 ของตระกูลใบหยก ตอนนี้เป็นเหมือนเจ้าพ่อโปรเจ็คต์ มีธุรกิจในมือที่สานต่อจากรุ่นพ่ออยู่เพียบ

มือขวาของพ่อ ดูธุรกิจหลักของใบหยก กรุ๊ป

หลายคนคงคุ้นชื่อกับตระกูล “ใบหยก” ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่งในไทย มีธุรกิจหลากหลายทั้งโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ สายการบิน และอาหาร โดยมี “พันธ์เลิศ ใบหยก” เป็นประธานใหญ่ของใบหยก กรุ๊ป และมี “ปิยะเลิศ ใบหยก” ลูกชายคนโตเป็นรองประธานของใบหยกกรุ๊ป

ในตอนนี้ปิยะเลิศในฐานะทายาทคนโต และทายาทเจน 3 ของใบหยกได้กลายเป็นมือขวาในการสานต่อธุรกิจของตระกูลไปแล้วเรียบร้อย ดูแลธุรกิจหลักในเครืออย่างธุรกิจโรงแรม และได้ผุดธุรกิจอาหารขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน เพราะเกิดจากความชอบส่วนตัว

ธุรกิจโรงแรมไม่เหมือนเดิม ถ้ารอให้ลูกค้าเข้ามาคือรอความตาย!

กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดของใบหยก กรุ๊ปคงหนีไม่พ้นธุรกิจโรงแรม ทุกคนคงคุ้นเคยกับ “ตึกใบหยก” หรือใบหยก ทาวเวอร์เป็นอย่างดี เพราะมีสตอรี่ว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยในยุคหนึ่ง ก่อนที่จะถูก “ตึกคิงเพาเวอร์ มหานคร” โค่นแชมป์ไปในที่สุด

ปัจจุบันมีโรงแรม และรีสอร์ทในเครือ 9 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีตั้งแต่ระดับ 3 ดาว ไปจนถึง 6 ดาว ได้แก่ Baiyoke Suite Hotel, Baiyoke Sky Hotel, Baiyoke Boutique Hotel, Hua Chang Heritage Hotel, Baiyoke Ciao เชียงใหม่, Baiyoke Seacoast Resort Koh Samui, Bangkok Midtown Hotel, Baiyoke Chalet Hotel แม่ฮ่องสอน และ Santisuk Resort ชะอำ

ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมก็มีการแข่งขันสูงไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ ยิ่งเจอวิกฤติทางการเมืองก็สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้ใบหยก กรุ๊ปต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน จะเปิดโรงแรมแล้วรอให้ลูกค้าเข้าหาเฉยๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้องเข้าช่องทางดิจิทัล และบล็อกเกอร์มากขึ้น

“ความยากของการบริหารโรงแรมในยุคนี้มีเยอะขึ้น เพราะมีโรงแรมเยอะขึ้น คู่แข่งเยอะ มีการแข่งขันกันที่ราคาอย่างหนัก ต้องปรับตัวไปเล่นโซเชียลเยอะขึ้น เทรนด์ดี้มากขึ้น แต่ก่อนจองผ่านเว็บไซต์ได้สบาย แต่ยุคนี้ต้องไปเฟซบุ๊กด้วย บล็อกเกอร์ด้วย ถ้าอยู่แค่ในเว็บไซต์คือรอความตาย”

โรงแรม 3 ดาวอยู่ง่ายกว่า และต้องคิดอะไรนอกกรอบ

ปิยะเลิศมองว่าธุรกิจโรงแรมมีระบบ มีมาตรฐานในตัวมานานอยู่แล้ว บางแห่งมีชื่อติดตลาด สิ่งที่เพิ่มคือต้องหาอะไรใหม่ๆ ใส่เข้าไปเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ยังคงโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติอยู่

“อย่างโรงแรมใบหยกสกายมีชื่อที่ติดตลาดอยู่แล้ว อาจจะทำการตลาดน้อยหน่อย แต่ก็มีคนเข้ามา สิ่งที่ต้องทำคือต้องไปเพิ่มบริการ เรื่องร้านอาหาร มีอะไรใหม่ๆ อย่างบุฟเฟต์ทุเรียน บุฟเฟต์ซีฟู้ดเพื่อดึงดูดลูกค้า หรืออาจจะทำห้องพักแนวใหม่ๆ ให้น่าสนใจขึ้น เช่น โรงแรมหัวช้าง เฮริเทจคนจะชอบมาถ่ายรูปกัน”

ทำให้ทิศทางในการเปิดโรงแรมใหม่ๆ มีทั้งรูปแบบใหม่แหวกแนว และโฟกัสที่โรงแรมระดับ 3 ดาว เพราะสู้ในตลาดง่ายกว่า และลูกค้านิยมพักมากกว่า

“ปกติในแต่ละปีจะเปิดโรงแรมใหม่เฉลี่ย 1-2 แห่ง แต่จะเน้นที่ระดับ 3-4 ดาวมากว่าขึ้น เพราะสู้ในตลาดง่าย และมีกลุ่มลูกค้าเยอะ คู่แข่งก็มีตัดราคาบ้าง แต่ที่สำคัญคือเรื่องคอนเซ็ปต์ จึงต้องเอาเรื่องร้านอาหารเข้ามาเติม คอนเซ็ปต์ต้องดี มีสไตล์ ถึงแม้เจ้าอื่นจะตัดราคา แต่ก็มีสิ่งที่เจ้าอื่นไม่มี ต้องมาที่นี่เท่านั้น”

Digital เข้ามา Disrupt ก็ต้องทำงานแบบ Digital

ธุรกิจโรงแรมถูก Digital Disruption ไม่น้อยเลยทีเดียว ผู้บริโภคเสพสื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งดิจิทัลก็ช่วยทำให้การจองที่พักง่ายขึ้นเช่นกัน มีเอเยนซี่รับจองโรงแรมมากมาย ทางใบหยก กรุ๊ปก็ต้องปรับวิธีการทำงานเพื่อรับกับดิจิทัล

“ดิจิทัลเข้ามา Disrupt อยู่เหมือนกัน ก็ต้องปรับราคา ทำกระแสให้ทันสมัยอยู่ตลอด ดิจิทัลเข้ามากลืนการทำงาน ก็ต้องปรับการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น อย่างเช่น ขายของก็ไม่ต้องให้เซลล์ไปเดินขายเหมือนก่อน ก็ขายออนไลน์ ส่วนลูกค้าก็มีการจองโรงแรมด้วยตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่ต้องจองผ่านเอเยนซี่ ทำให้สัดส่วนการจองผ่านเอเยนซี่ลดลงเหลือ 30% จากแต่ก่อน 70% ดิจิทัลก็ช่วยเราได้มากเหมือนกัน”  

ส่วนกระแสของ Airbnb ที่สร้างผลกระทบกับวงการโรงแรมไปทั่วโลก ปิยะเลิศได้บอกว่า เรื่องของ Airbnb ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน บางคนก็ชอบบริการของโรงแรมอยู่ แต่ที่ได้รับผลกระทบคือใบหยกบูทีคที่โดนบี้จากพวกนี้ แต่จะไม่ลดราคาสู้ ซึ่งในอนาคตอาจจะทำห้องพักในตึกแถวแบบชิคๆ สู้ก็ได้ แต่ถึงตอนนั้นกระแสนี้อาจจะไปแล้วก็ได้

ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของใบหยก กรุ๊ปส่วนใหญ่จะเป็นชาวเอเชีย กลุ่มสิงคโปร์เป็นกลุ่มใหญ่สุดที่ 30% รองลงมาคือชาวจีน 25% แต่ถ้าเป็นในส่วนของบุฟเฟต์ที่ใบหยก สกายจะเป็นชาวจีนที่สัดส่วน 70-80% เลยทีเดียว

ธุรกิจอาหารเป็นแฟชั่น แต่ก็เป็นแพชชั่นเหมือนกัน

นอกจากจะต้องดูแลธุรกิจโรงแรมที่เป็นธุรกิจใหญ่ของครอบครัว แต่ Passion อันแรงกล้าในเรื่องอาหาร ทำให้ปิยะเลิศเปิดบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อดูแลธุรกิจร้านอาหารโดนเฉพาะ ได้เปิดมาแล้ว 4 ปี มีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 7 แบรนด์ เป็นแบรนด์ที่ซื้อแฟรนไชส์เข้ามา 4 แบรนด์ ได้แก่ IKKOUSHA Ramen, SEKAI NO YAMACHAN, PABLO Cheese Tart และ Gram มีแบรนด์ที่สร้างเองอีก 3 แบรนด์ ได้แก่ UCHIDAYA Ramen, Momotarou Ramen และ TAISHO Gyoza

ยุทธศาสตร์ของพีดีเอส โฮลดิ้งคือ เน้นซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารแบรนด์ดังจากต่างประเทศ เพราะได้ Know How ในการบริหารมาทั้งหมด ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ เน้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นพิเศษเพราะปิยะเลิศเรียนจบจากที่ญี่ปุ่น จึงหลงใหลประเทศญี่ปุ่นมาก

จุดเริ่มต้นของการเปิดพีดีเอส โฮลดิ้งนั้น ปิยะเลิศเล่าว่าตอนแรกเริ่มจากทำร้านเนื้อย่าง Gyu-Kaku เป็นแบรนด์แรกที่ซื้อแฟรนไชส์เข้ามา ตอนนั้นก็ยังไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อนเลย แต่พอทำแล้วผลตอบรับดี มีคนต่อแถวยาวทางญี่ปุ่นจึงขอซื้อคืนเพื่อไปบริหารเอง และได้ตัดสินใจขายเพราะได้กำไรเยอะ จึงเอาเงินที่ได้จากการขายมาลงทุนสร้างแบรนด์ และซื้อแบรนด์ต่อ

แต่เห็นธุรกิจอาหารเป็นเหมือนธุรกิจดาวรุ่งของตระกูลใหญ่ๆ ที่หันมาเสริมทัพธุรกิจในเครือให้แกร่งขึ้น ตระกูลใบหยกก็เช่นกันที่หวังเอาธุรกิจอาหารมาเสริมพอร์ต แต่เพิ่มเติมคือ Passion นั่นเอง

“การทำธุรกิจอาหารเหมือนเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง ใครๆ ก็อยากทำ คนหันมาเล่นอาหารเยอะ Big Player เยอะ ยิ่งทายาทรุ่นใหม่ๆ พ่อแม่อยากให้เปิดร้านอาหาร คาเฟ่ ซื้อแบรนด์ สรรหาของกินใหม่ๆ แต่ส่วนหนึ่งที่อยากทำก็เพราะชอบ เป็น Passion ที่ชอบ ทำแล้วดี รู้สึกว่าลูกน้องเยอะขึ้น ในอนาคตอยากให้เป็นระบบมากขึ้น มีการจัดสรรเป็นบริษัทที่ควรจะเป็น”

ความสำเร็จคือทำแบรนด์ให้อยู่ได้

หลักในการเลือกร้านอาหารที่จะนำเข้ามาคือต้องเป็นแบรนด์ที่คนรู้จัก มีกระแส และเมื่อเปิดจะต้องมีคิวต่อแถว ทำให้ทำการตลาดง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาทำการตลาดเยอะ ล่าสุดได้เพิ่งเปิดแบรนด์ใหม่คือ Gram คาเฟ่แพนเค้กจากประเทศญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกที่สยามพารากอน หลังจากที่ได้เคยเปิดร้าน Pablo มาแล้ว เป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างกระแสชีสทาร์ตในไทยได้

แต่คำถามที่ตามมาคือหลังจากที่สร้างกระแสของชีสทาร์ตได้แล้ว จะเมนเทนตลาดต่อไปอย่างไร ปิยะเลิศบอกว่า “จริงๆ Pablo ก็ไม่ได้ดรอปลงขนาดนั้น เพียงแต่ช่วงแรกๆ ดันขายดีมากเกินไป แต่เมื่อขยายสาขาก็ทำให้ลูกค้าไม่ต้องต่อคิวยาว

ซึ่ง Pablo ก็เป็นกรณีศึกษาชั้นดี เพราะก่อนหน้านี้พีดีเอสไม่เคยทำธุรกิจอาหารที่เป็นกระแสมากก่อน เป็นแบรนด์แรกที่ทำในห้าง ต้องเตรียมหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เตรียมอาหารเสิร์ฟแล้วจบ ต้องดูถึงเรื่องรันคิวยังไง ปรากฏว่าช่วงแรกดันขายดีเกินไปยอดขายวันละล้านบาท ตอนนี้อยู่ตัวแล้ว จะดีมากขึ้นก็บางช่วงที่ออกสินค้าใหม่ มีโปรโมชั่น ยอดขายตอนนี้เฉลี่ยเดือนละ 4 ล้านบาท”

ตอนนี้พีดีเอสมีร้านอาหารครบทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน ต่อไปกำลังมองหาอาหารกลุ่มชาบู และเนื้อย่างมาเติมพอร์ตให้แน่นขึ้น

แผนใน 5 ปี อาจจะเลือกเฉพาะแบรนด์ที่แข็งแรงจริงๆ แล้วขยายสาขาแบรนด์ละ 20 สาขาเท่านั้น และมีแผนอยากทำอาหารสำเร็จรูปขายตามร้านสะดวกซื้อ ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่น ด้านราเมง มองว่าจะนำบริษัทเข้าตลาดในอีก 2 ปีข้างหน้าเพื่อระดมทุนในการธุรกิจเพิ่มเติม

ถ้าพูดถึงเป้าหมายและความสำเร็จในมุมมองของปิยะเลิศนั้น เขามองว่าการสร้างแบรนด์ขึ้นมาแล้วทำให้แบนด์อยู่รอดได้ก็คือประสบความสำเร็จ แต่ความท้าทายคือต้องหาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ส่วนโจทย์ที่ทางคุณพ่อให้มานั้นก็คือต้องพัฒนาอยู่ตลอด และลงทุนอย่างรอบคอบ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องสานต่อในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำมาแล้วอย่างดี ปิยะเลิศกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา