เจาะเบื้องหลังซีรีส์ “เด็กใหม่” กลายเป็นซีรีส์สุดหินของแกรมมี่ที่มาพร้อมกับโจทย์สุดท้าทายหลายด้าน ที่สำคัญคือต้องการทำคอนเทนต์ให้โกอินเตอร์ให้ได้ งานนี้มีรีรันแค่บน Netflix เท่านั้น!
ซีรีส์เรื่องแรกในชีวิตของ “เจ๋อ ภาวิต”
เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีมานี้ GMM Grammy มีการทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างหนัก เพราะธุรกิจเพลงไม่ได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนแต่ก่อน ได้มีการให้น้ำหนักกับธุรกิจคอนเทนต์มากขึ้นหลังจากมีช่องทีวีดิจิทัลในเครือถึง 2 ช่อง ก็คือช่อง One31 และ GMM25
ซึ่งแกรมมี่ได้ผลิตคอนเทนต์ทั้งรายการ ละคร ซีรีส์ต่างๆ ออกมามากมาย กลายเป็นว่าโจทย์ในการทำคอนเทนต์ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นตามกลไกตลาด
ทาง Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “พี่เจ๋อ-ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือเรียกง่ายๆ ว่าธุรกิจเพลง แต่วันนี้พี่เจ๋อได้ทรานส์ฟอร์มตัวเองเพราะได้รับโจทย์ใหม่ว่าต้องทำซีรีส์! จึงเป็นที่มาของซีรีส์เรื่อง “เด็กใหม่” หรือ Girl From Nowhere เป็นซีรีส์แนว Mysterious-fantasy หรือแนวลึกลับ แฟนตาซีหน่อยๆ ที่กำลังจะออนแอร์ในเร็วๆ นี้ทางช่อง GMM25 ทุกวันพุธ เวลา 22.25-23.25 น.
พี่เจ๋อเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์นี้ว่า “ได้รับมอบหมายโจทย์นี้มา 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ที่เพิ่งรับตำแหน่งเป็น CEO กลุ่มมิวสิค ตอนนั้นคุณไพบูลย์ (อากู๋) ได้มอบหมายให้ทำซีรีส์ต่างจากท้องตลาด โจทย์คือต้องโกอินเตอร์ ฉายในโกลบอลแพลตฟอร์มให้ได้ เพราะคอนเทนต์อินเตอร์จะเป็น Blue Ocean ในยุคนี้
ตอนแรกไม่รับปากอะไร เพราะตัวเองไม่มีความรู้ ไม่มีทีม ไม่มีบารมีวงการละครเลย แต่คุณไพบูลย์ก็ให้คำแนะนำว่าให้จับมือกับคนข้างนอกในการทำ”
จากวันนั้นที่ได้รับโจทย์มาจนถึงวันนี้ก็ใช้เวลา 2 ปีในการหาคอนเซ็ปต์ หาทีมงาน คิดแน่ๆ ว่าต้องหาพาร์ทเนอร์ในการทำโปรเจ็คต์นี้ เพราะทำคนเดียวไม่ได้ ไม่มีความรู้ด้านการทำซีรีส์อะไรเลย จนได้เจอผู้เข้าตาอยู่ 3 ราย อยู่ในวงการเอเยนซี่ทั้งหมด จนสุดท้ายได้ตัดสินใจร่วมงานกับ SOUR เอเยนซี่น้องใหม่ที่มีแพชชั่นอันแรงกล้า
ซีรีส์ที่ทำกับเอเยนซี่โฆษณา SOUR
จุดเริ่มต้นของการที่มาได้ร่วมงานกับ SOUR นั้น พี่เจ๋อบอกว่าได้พูดคุยกับ “เล็ก ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา” Co-founder and Executive Creative Director SOUR Bangkok ตอนนั้นเป็นจังหวะที่เล็กลาออกจากเอเยนซี่ยักษ์ใหญ่อย่างโอกิลวี่ เพื่อมาเปิด SOUR วางจุดยืนเป็นเอเยนซี่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ
เมื่อเห็นว่าจุดยืนตรงนี้ถูกใจ และใช่มากๆ พี่เจ๋อเลยตัดสินใจร่วมโปรเจ็คต์นี้กับ SOUR ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานซีรีส์เรื่องแรกของดมิสาฐ์เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาเคยทำแต่งานโฆษณามาตลอด
“ตอนนั้นก็ชวนมาทำงานด้วยแบบดื้อๆ เล็กบอกอยากทำเอเยนซี่สำหรับผู้หญิง เลยเห็นจุดยืนว่าตรงนี้ใช่ เห็นผลงานตั้งแต่โอกิลวี่แล้ว และยังเห็นว่าโลกนี้พูดเกี่ยวกับสิทธิสตรีมากขึ้น คอนเทนต์สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะน่าสนใจ ผมมีความเชื่อว่าไอเดียสำคัญจะได้กันตอนเปิดซิง ความหมายคือจะได้ได้พล็อตเรื่องตอนเปิดซิงทำอะไรใหม่ๆ ก็ตาม เหมือนหนังแฟนฉันก็แจ้งเกิดผู้กำกับคนดังมากมาย งานนี้เลยน่าจะท้าทายทั้งผม และเล็กทั้งคู่”
ทางด้านเล็ก ดมิสาฐ์เสริมว่า “ตอนออกมาเปิดเอเยนซี่เองนั้น ตอนแรกไม่อยากทำบริษัทโฆษณา อยากให้เป็นแบรนด์ โฆษณา คอนเทนต์ บันเทิงก็ได้ พอพี่เจ๋อชวนเลยคิดว่าอยากทำอะไรใหม่ๆ บ้าง เป็นจิ๊กซอว์เติมความฝันของตัวเองเหมือนกัน เลยกระโดดรับโปรเจ็คต์นี้”
คอนเซ็ปต์ใหม่ กลิ่นอายซีรีส์ญี่ปุ่น มีตอนจบทุกตอน!
ซีรีส์เรื่องนี้ทางแกรมมี่เป็นเหมือนผู้ลงทุน และทำการตลาด ส่วนทาง SOUR เป็นผู้ลงแรง ทั้งในการคิดพล็อตเรื่อง หาทีมโปรดักชั่นต่าง สิ่งที่เหมือนกันของทั้งพี่เจ๋อ และดมิสาฐ์ก็คือ เป็นคนโฆษณามาก่อนทั้งคู่ ซีรีส์เรื่องนี้จึงมีแนวคิดแบบคนโฆษณา โปรดักชั่นทีมโฆษณา
ดมิสาฐ์เล่าว่า “ที่มาไอเดียนี้เรื่องนี้เป็นความชอบส่วนตัวที่ชอบดูหนังญี่ปุ่น อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น แล้วมาคิดว่าทำไมซีรีส์ไทยไม่มีใครทำแบบนี้บ้าง แนวลึกลับแฟนตาซี เป็นไอเดียว่าผู้หญิงย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ และเป็นคอนเซ็ปต์ที่ว่าซีรีส์มีทั้งหมด 13 ตอน แต่ละตอนจะมีตอนจบในตอนนั้นเลย ไม่ได้มีเรื่องราวต่อกัน เหมือนแต่ละตอนเริ่มใหม่หมด เพียงแค่มีตัวละครเอกตัวเดียว ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ที่เมืองนอกมีใช้กันเยอะ”
เนื้อหาของซีรีส์จะเป็นเรื่องราวในโรงเรียน ยังคงจับกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นผู้ชมหลักของช่อง GMM25 เพราะมองว่ากลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มทาร์เก็ตที่ใหญ่มาก เลยทำคอนเทนต์เจาะกลุ่มนี้เพื่อให้อินไปกับซีรีส์ อีกทั้งเม็ดเงินโฆษณาส่วนมากก็จับกลุ่มคนดูอายุ 15-34 ปีเช่นกัน เลยทำคอนเทนต์วัยรุ่น เป็นคอนเทนต์ร่วมสมัยทุกวัยก็ดูได้
ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้คือการที่คนโฆษณามาร่วมกันทำซีรีส์นี้ ซึ่งแน่นอนว่าธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ชินกับคอนเทนต์สั้นๆ แต่สามารถทำคอนเทนต์ให้กินใจได้ภายในเวลาอันจำกัด ซีรีส์เรื่องนี้เลยทำเป็นจบในแต่ละตอน เชื่อว่าจะดึงอารมณ์คนดูได้เช่นกัน
ดมิสาฐ์เสริมว่า “ความยากของการทำซีรีส์เรื่องนี้อยู่ที่การทำให้ 13 ตอนขาดจากกัน ซีรีส์อื่นๆ มีเส้นเรื่องเดียวกัน โลเคชั่นเดียว แต่เรื่องนี้ชุดนักเรียน โลเคชั่นแต่ละเรื่องขาดจากกันหมด ได้หาโปรดักชั่นเฮาส์หลายเจ้า สุดท้ายมาได้จังก้า บางกอกเป็นโปรดักชั่นโฆษณาเช่นกัน”
หยิบประเด็นสิทธิสตรีมาตีแผ่
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้คือพล็อตเรื่องจะเกี่ยวกับสิทธิสตรี การนำเรื่องราวกระแสสังคมเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงมาตีแผ่ในเรื่อง เป็นการเล่าเรื่องผ่านเด็กผู้หญิง ผ่านมุมมองว่ามีเรื่องราวปัญหาอะไรในโรงเรียนบ้าง เช่น ปัญหาชู้สาวของอาจารย์กับลูกศิษย์
“หนังลึกลับแฟนตาซีเป็นการค้นหาตัวละครผ่านด้านมึดหลายๆ อย่าง มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้หญิงในสังคมอีกมากจริงๆ มันโหดร้ายกว่าในข่าวที่เห็น หยิบประเด็นสังคมมาเล่า มองว่ามันเป็นความรู้สึกร่วมของใครหลายคน เลยทยอยคิดพล็อต 13 ตอน เช่น ปัญหาชู้สาวของครูกับเด็ก”
ส่วนคำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมทั้งแกรมมี่และ SOUR สนใจในประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในตอนนี้มีแคมเปญ หรือการรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิสตรีกันทั่วโลก
ดมิสาฐ์เล่าว่า กระแสนี้ได้เห็นมา 3-4 ปีแล้วตั้งแต่อยู่โอกิลวี่ JWT เรื่องสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่ทั่วโลกลุกขึ้นมาพูด เพราะตอนนี้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง มีอำนาจในการซื้อกว่า 80% บริษัทใหญ่ๆ ผู้หญิงเป็นผู้บริหารมีอำนาจตัดสินใจโดยนโยบาย ในช่วงหลายปีให้หลังงานเทศกาลโฆษณาเมืองคานส์ก็ให้ความสำคัญกับแคมเปญผู้หญิง ให้ผู้หญิงมาเป็นกรรมการมากขึ้น ต้องผู้หญิง 40% งานที่ตัดสินใจโดยผู้ชาย 70% จะไม่ค่อยโดนใจผู้หญิง ส่วนกระแสนี้ในไทยก็เห็นได้ 4 ปีเช่นกัน ผู้หญิงเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหญ่มาก และมีดาต้าที่มาจับทำให้เห็นอำนาจของคนกลุ่มนี้
สำหรับในเรื่องคอนเทนต์ที่ดูทีเซอร์แล้วอาจจะดูแรงไปบ้าง แต่ทั้งคู่ไม่ได้กังวลเรื่องความรุนแรงใดๆ มองว่าเบากว่าสิ่งที่ผู้บริโภคเสพในโทรศัพท์อีก ไม่ได้บรีฟว่าเอาเรทแรงสุด คิดว่าทำสะท้อนสังคมไม่เอาเรทมาเป็นตัวตั้ง ไม่ต้องแรงสุด ดาร์กสุด ต้องเป็นงานที่ดี ผู้หญิงดูแล้วได้แง่คิด สังคมได้แง่คิด
ยอมรับความเสี่ยง รีรันแค่บน Netflix เท่านั้น
อย่างที่บอกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์สุดหิน สุดท้าทายเรื่องหนึ่ง ได้มีการทดลองอะไรใหม่ๆ หลายเรื่อง และเตรียมรับความเสี่ยงกับการที่จะรีรันการฉายบน Netflix เท่านั้น และเป็นการฉายหลังจากที่จบทั้ง 13 ตอนแล้ว ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ชอบดูละครย้อนหลังทันทีหลังจากที่จบ
ด้วยโจทย์ของอากู๋ไพบูลย์ที่ต้องทำซีรีส์ให้โกอินเตอร์ เรื่องนี้จึงอยู่บนแค่ Netflix เท่านั้น ไม่สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่แพลตฟอร์มอื่น ไม่ว่าจะ YouTube หรือ LINE TV ก็ไม่มี
พี่เจ๋อบอกว่า “ซีรีส์อินเตอร์เหมาะกับ Netflix มากกว่า แต่ละเรื่องก็มีการเลือกแพลตฟอร์มต่างกันออกไป มีความเชื่อว่าคอนเทนต์ทุกคอนเทนต์จะต้อง Universal มีหลักแนวคิดเหมือนโฆษณาต้องคอนเน็คคนทั่วโลกให้อินให้ได้ จะเป็นหลักการทำคอนเทนต์ของเราต่อไปด้วย”
สุดท้ายแล้วพี่เจ๋อก็ยอมรับว่าเสี่ยงมากที่เข้า Netflix ที่เดียว และรีรันหลังจบทุกตอนแล้ว แต่ก็ต้องลองต้องสร้างจุดแข็งตรงนี้เป็นจุดขายให้ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา