กระทบไหล่ “ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์” เรื่องเล่าจาก PAUL เบเกอร์รี่ถึง True Sphere

paphol-2

Brand Inside ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร ของ True (ทรู) มาสักพักหนึ่งแล้ว ถึงการเริ่มต้นสร้างสรรค์ True Sphere (ทรู สเฟียร์) ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับลูกค้าระดับ Black Card ของ True แต่เมื่อมีโอกาสทั้งที เลยขอคุยย้อนกลับไปถึง PAUL เบเกอร์รี่ระดับพรีเมียม ที่ครัวซองต์อร่อยชนิดที่ไม่ควรพลาด

หน้าที่หลักของ ปพนธ์ ตลอด 12 ปีที่ True คือ การสร้างแบรนด์ให้เติบโต มั่นคง และก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งถึงวันนี้เฉพาะแบรนด์ True ในธุรกิจหลักด้านโทรคมนาคมแข็งแกร่งเพียงพอที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ในตลาดแล้ว

แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้มากขึ้น กลายเป็นที่มาของการดึงธุรกิจเบเกอร์รี่ PAUL และต่อยอดมาจนถึง True Sphere

dsc_0030

dsc_0035

ต่อยอดธุรกิจ ศึกษาจากแบรนด์ระดับโลก

ปพนธ์ บอกเล่าว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า ต้องมาจากมูลค่าของแบรนด์เอง ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การศึกษาจากแบรนด์ใหญ่ระดับโลกที่สามารถดำเนินธุรกิจมายาวนาน และยังรักษามาตรฐานสินค้าและบริการไว้ได้อย่างดี หนึ่งในนั้นคือ ร้านเบเกอร์รี่ PAUL ที่มีอายุกว่า 127 ปี

การเข้าไปเสนอเป็นแฟรนไชส์ของ PAUL ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยคำสัญญาว่า จะลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้สามารถเอาชนะคู่แข่งอีก 18 รายที่ยื่นข้อเสนอไปเช่นเดียวกัน ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องอาหาร เบเกอร์รี่ แต่ด้วยความตั้งใจจริงและอยากได้รับการสอน

และทำให้ได้แนวคิดของ PAUL ในการทำงาน คือ you fix it right overnight  มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ต้องแก้ให้เสร็จภายในคืนนี้ พรุ่งนี้ทุกอย่างต้องกลับมาเหมือนเดิม รวมถึงต้องมีวินัยที่ดี ใส่ใจรายละเอียด

d3s_0703

d3s_0739

ล้างจานเอง เลยได้บริหารแฟรนไชส์หลายประเทศ

การสัญญาว่า จะลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และทำให้ได้บริหารแฟรนไชส์ PAUL ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็น แฟรนไชส์เพียงแห่งเดียว จาก 600 กว่าสาขาทั่วโลก ที่ได้ดูแลหลายประเทศ (แฟรนไชส์อื่นๆ จะได้ดูแค่ในประเทศตัวเอง) ซึ่งมีแผนในการเปิดร้านประมาณ 40 สาขา ในประเทศไทย, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, และลาว

โดยที่ประเทศไทย สามารถไปพิสูจน์รสชาติได้หลายสาขา เช่น เซ็นทรัลเอ็มบาสซี, เซ็นทรัลเวิลด์ และดิ เอ็มโพเรียม

ส่วนการลงมือทำด้วยตัวเองทุกอย่าง ปพนธ์ บอกว่า เริ่มต้นตั้งแต่การล้างจาน ที่ PAUL การเรียนรู้เรื่องร้านอาหารเริ่มต้นที่การล้างจาน จะได้เห็นว่า อาหารอร่อยมั้ย ลูกค้ากินเหลือหรือเปล่า เหลือมากเหลือน้อย หรือไม่เหลือ ถือเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด

แม้แต่การทำครัวซองต์ ของร้าน PAUL ที่ต้องพับแป้งให้ได้ 80 ชั้น ต้องเลี้ยงยีสต์เอง 2 วัน พิถีพิถันในการทำทุกขั้นตอน เป็น Art & Science อย่างแท้จริง หรือสลัด ที่ต้องนำเข้าผักทั้งหมดเพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งหมดเพื่อให้ลูกค้า ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

และนี่คือสิ่งที่ถ่ายทอดมาใช้กับ True

tsp003

สร้าง True Sphere สร้างลูกค้าระดับ High Value

สำหรับแนวทางในการพัฒนา True Sphere ไม่ได้คำนึงถึงยอดขายหรือรายได้ แต่เน้นสร้างบริการระดับ High Value ถ้ามีมาตรฐานบริการที่ดี ก็จะได้ลูกค้าที่ดี ซึ่งหัวใจของงานบริการคือ “คน” ที่ต้องมี Service Mind ดังนั้นจึงไปดึงคนมาจากสายการบิน เพราะ พนักงานสายการบิน ให้บริการด้วย Service Mind อยู่แล้ว

“พนักงานที่ True Sphere ผมสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง เพราะต้องการได้คนที่มี ทัศนคติ ไปในทิศทางเดียวกัน นี่คือการให้ความสำคัญกับเรื่อง คน เป็นพิเศษ”

แนวคิดนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการบริหารงานของ Apple Shop ที่งานของผู้จัดการร้านมากกว่าครึ่งคือการสัมภาษณ์พนักงาน เพื่อให้ทุกร้านมีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นที่ True Sphere ทุกสาขาจะมีมาตรฐานเดียวกันและสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น เพราะทุกคนเปรียบเสมือน Spoke person ของ Brand

ด้วยบริการที่ดี จะมีส่วนในการสร้างลูกค้า High Value ให้เพิ่มขึ้นและสุดท้าย ถ้าลูกค้า Black Card ที่มีอยู่กว่า 1.7 แสนราย ถ้าเพิ่มเป็น 1 ล้านรายได้ เท่ากับว่า True จะได้ทั้ง Brand และยอดขายที่เพิ่มขึ้นเอง โดยในปีนี้จะมี True Sphere 6 แห่ง สาขาแรกอยู่ที่ ดิ เอ็มควอเทียร์ และจะเพิ่มเป็น 14 แห่งในปี 2017

tsp005

Regional Brand คือ เป้าหมายของ True

เป้าหมายของศุภชัย เจียรวนนท์ CEO ของ True คือการสร้างให้ True ก้าวไปจนถึงระดับ Global ให้ได้ เรียกว่า Brand ของคนไทยต้องไประดับโลก มีให้บริการในหลายประเทศ ดังนั้นเป้าหมายการสร้างแบรนด์ตอนนี้ ต้องไปให้ถึง Regional Brand ก่อน ด้วยแนวคิด True Together ใส่สิ่งดีๆ ลงไปให้สินค้าและบริการ ซึ่งตอนนี้ True Coffee, True Money คือหัวหอกแรกๆ ที่ออกไปลุยตลาดต่างประเทศแล้ว และ True อื่นๆ จะทยอยตามไปเรื่อยๆ

ทุกกระบวนคือการเรียนรู้ การสร้าง retail ต้องมี detail แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุด ก็คือ การสร้าง Brand เช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา