สัมภาษณ์พิเศษ “วิชิต ซ้ายเกล้า” : Craft Beer ไทย จะเกิดได้ ต้องสร้าง Ecosystem เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ

เรื่อง Craft Beer กลายเป็นประเด็นที่มีคนกล่าวถึงกันมาก ทั้งที่ไม่เห็นด้วยเพราะมองเป็นเรื่องมอมเมา และที่สนับสนุน โดยมองเป็นเรื่องเสรีภาพและศิลปะ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมถึงอนุญาตให้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยได้แค่ 3-4 แบรนด์ จากผู้ผลิตหลักแค่ 2 รายเท่านั้น

ทั้งที่หากอ้างอิงเรื่องเสรีการค้า การทำ Craft Beer ที่ได้มาตรฐาน ต้องเปิดกว้างและสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหลายคนที่ไม่เห็นด้วย บอกว่า Craft Beer หรือเบียร์ต้มเอง ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ปลอดภัย

Brand Inside มองลึกลงไปกว่านั้น โดยการสัมภาษณ์ ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตัวพ่อ” ของวงการ Craft Beer ไทย ซึ่งมีแนวคิดในการสร้าง Ecosystem ของ Craft Beer ทั้งระบบ เป็นการแสดงให้รัฐบาลและคนที่ไม่เห็นด้วย ได้รู้ว่า Craft Beer สามารถสร้างให้เกิดได้ในไทย เต็มไปด้วยประโยชน์

ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตัวพ่อ” ของวงการ Craft Beer ไทย

“การจะเปลี่ยนแปลงระบบ ไม่ใช่การต่อต้าน ไม่ใช่การสร้างความขัดแย้ง เมื่อตอนนี้มีกฎหมาย เราก็ต้องเคารพและทำตามกฎหมาย พร้อมๆ กับแสดงให้เห็นว่า Craft Beer คือความเป็นไปได้ คือประโยชน์ สามารถสร้างงาน สร้างสินค้า สร้างภาษีให้รัฐ คือ win-win ทุกฝ่าย เจ้าตลาดเบียร์เดิม ก็ไม่เสียประโยชน์ด้วย”

เป้าหมายของ ดร.วิชิต คือ ในปี 2020 คนไทยจะสามารถทำ Craft Beer หรือ ต้มเบียร์กินเองในบ้านได้อย่างถูกกฎหมาย ย้ำว่ากินเองในบ้าน แต่เรื่องเชิงพาณิชย์ ก็มีแผนอยู่เช่นกัน

เริ่มต้นที่ฝั่ง Supply ด้วยแนวคิด Sharing Facilities

หลายคนรู้อยู่แล้วว่า ดร.วิชิต เป็นเจ้าของแบรนด์ Craft Beer ที่ชื่อว่า CHIT BEER เป็นแบรนด์ตัวตั้งตัวตีในการผลิต Craft Beer ในไทย แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การสร้างแบรนด์เท่านั้น แต่เป็นการสร้าง Ecosystem โดยเริ่มต้นจากฝั่ง Supply หรือฝั่งผลิต โดยการจัด Academy ฝึกอบรมให้กับ กลุ่มคนที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ และต้องเป็น พรีเมียมเบียร์ เท่านั้น ซึ่งถึงปัจจุบันมีคนที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 1,000 คน

ทุกคนมีความรู้ มีความเข้าใจ คิดสูตรการทำเบียร์ที่แตกต่างกันไป เน้นที่ความมี “เอกลักษณ์” เป็นของตัวเอง สร้างแบรนด์ตัวเองขึ้นมา แต่การต้มเบียร์ผิดกฎหมาย ดังนั้น ดร. วิชิต จึงก่อตั้ง “โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์” ขึ้นมา ถือเป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ จะเป็นโรงเบียร์ที่ทุกคนที่อยากมีแบรนด์เบียร์ของตัวเอง ได้มาใช้ผลิตร่วมกัน เรียกว่าเป็น Sharing Facilities ดังนั้นยอดผลิตให้ได้ 1 แสนลิตรต่อปีจึงมีความเป็นไปได้ ซึ่งที่โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ จะเป็นเหมือนเวทีให้ทุกคนได้ลอง และได้ขายให้กับผู้ที่สนใจชิมเบียร์เกรดพรีเมียมที่รสชาติดีกว่า

ปัจจุบันโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จกลางปี และน่าจะยื่นขอใบอนุญาตเพื่อเปิดทำอย่างเป็นทางการช่วงปลายปีนี้ ซึ่งฝั่ง Supply ยังไม่จบ

ส่งไม้ต่อไปต่างประเทศ ผลิตบรรจุขวดนำเข้าไทย

ดร.วิชิต บอกว่า กลุ่มคนที่เรียนผ่าน Academy มีบางส่วนที่ออกไปตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำการผลิตบรรจุขวดและส่งกลับเข้ามาขายในไทยแล้ว ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม Stone Head ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญอีกส่วนในฝั่ง Supply เพราะเมื่อ โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็น เวทีให้ได้เรียนรู้ ทดลอง ผลิต ถ้าใครที่มั่นใจในการตลาด สามารถออกไปใช้โรงงานผลิตเบียร์ของกลุ่ม Stone Head และนำกลับเข้ามาขายในไทยได้อย่างถูกกฎหมาย

“ปัจจุบันมี Craft Beer ไทย บรรจุขวดนำเข้ามาขายแล้วประมาณ 8 แบรนด์ จากในตลาดทั้งหมดที่มีกว่า 60 แบรนด์ มีทั้งที่ผลิตโดยกลุ่ม Stone Head และที่ผลิตโดย Contact Brew คือใช้โรงงานอื่นๆ ในต่างประเทศอีก ข้อดีคือ ประเทศไทยได้ภาษีสรรพสามิต แต่ถ้าผลิตในประเทศได้ จะเก็บภาษีจากการผลิตได้ด้วย”

ปากเกร็ด ศูนย์กลาง Craft Beer ประเทศไทย

มีหลายคนที่เคยยืนยันว่า ประเทศไทยไม่สามารถปลูกฮ๊อป (Hop) และข้าวบาร์เลย์ได้ ซึ่งทั้ง 2 เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเบียร์ที่เดิมต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เวลานี้ ดร.วิชิต และกลุ่ม Craft Beer ได้เริ่มต้นทดลองปลูกฮ๊อป และข้าวบาร์เลย์เรียบร้อยแล้วที่ปากเกร็ด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้จริง และตั้งเป้าให้ปากเกร็ดเป็น ศูนย์กลางการผลิต Craft Beer ของประเทศไทย มีทั้งโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ ไร่ฮ๊อป และไร่ข้าวบาร์เลย์

เมื่อการเพาะปลูกสำเร็จจะทำให้ไทยมีวัตถุดิบผลิตได้เองในประเทศ และหากสามารถสร้างกลุ่ม Craft Beer ได้มากพอ อยากเห็นในทุกพื้นที่ของไทย ผลิต Craft Beer ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ใช้วัตถุดิบเฉพาะ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เบียร์ท้องถิ่น สร้างงานให้คนในท้องถิ่น สร้างการท่องเที่ยวในชุมชน

เบียร์พรีเมียม ต้องสร้าง Outlet อีกขั้นของ Ecosystem

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ดร.วิชิต ต้องการสร้าง Ecosystem ของ Craft Beer ไทย ตอนนี้มีกลุ่มคนดื่ม มีกลุ่มคนผลิต และกำลังสร้างชุมชนแหล่งผลิตขึ้น อีกส่วนที่ต้องเร่งสร้างคือ Outlet หรือช่องทางจำหน่าย ซึ่งหากขายผ่านตัวแทนจำหน่ายจะทำให้มีราคาสูง ตลาดจะเกิดยาก ดังนั้นต้องสร้าง Outlet เอง

ดร.วิชิต บอกว่า ส่วนตัวได้สร้าง TURTLE BAR ขึ้นมาเป็น Outlet ต้นแบบ พร้อมกับจัดโครงการพี่สอนน้อง อบรมให้กับคนที่อยากเปิดบาร์เบียร์ เป็นการพัฒนา Serve Beer ให้เกิดขึ้น ที่คือส่วนสำคัญมาก เพราะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับกลุ่มผู้ดื่ม ได้สัมผัส เบียร์พรีเมียม ของแท้ที่ผ่านการพิถีพิถันบรรจุผลิตขึ้นมาให้มีรสชาติเฉพาะ ดังนั้นเป้าหมายคือ อยากให้มีบาร์เบียร์เปิดกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง ไม่ต่างจากร้านกาแฟ คือ กลางวันกินกาแฟ กลางคืนกินเบียร์

ส่วนการสร้างงาน ตำแหน่ง Beer Server ไม่ใช่แค่พนักงานขาย แต่ต้องรู้จักและเข้าใจความแตกต่างของ Craft Beer แต่ละตัว และสามารถแนะนำผู้ดื่มได้ว่า Craft Beer แต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร ตัวไหนให้สัมผัส ให้ความรู้สึกอย่างไร เหมาะกับจังหวะและโอกาสไหน

สร้าง Ecosystem ที่สมบูรณ์ เสนอขอความเปลี่ยนแปลง

จากแนวคิดการสร้างบาร์เบียร์ เวลานี้กำลังเพิ่มจำนวนบาร์เบียร์ให้มีมากขึ้น เพื่อเตรียมรับผลผลิต Craft Beer ไปจำหน่ายต่อ คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง Ecosystem ก็จะสมบูรณ์ขึ้น และจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกส่วน เพื่อทำเป็นรายงานนำเสนอต่อรัฐบาลชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ และไม่ได้เป็นการมอมเมาแต่อย่างใด

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา เดิมเคยมีเบียร์ 2-3 แบรนด์และมีกฎหมายห้ามทำ Craft Beer เหมือนไทย และใช้เวลาเป็นสิบปีจนทุกฝ่ายยอมรับใน Craft Beer โดยปัจจุบันมี Craft Beer ประมาณ 4,000 แบรนด์ แต่ก็มีปริมาณบริโภค 8% ของการบริโภคทั้งหมดต่อปี แสดงว่า Craft Beer ไม่ได้มีผลกระทบกับแบรนด์หลักในตลาด

ขณะที่ในไทย หนทางที่ Craft Beer จะเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่การต่อต้านหรือทำผิดกฎหมาย แบบนั้นไม่มีทางสร้างตลาดที่ยั่งยืน แต่ต้องใช้เวลาสร้างความเปลี่ยนแปลง Be the change for Thai Craft Beer สร้างความหลากหลายในวงการเบียร์ไทย จากยอดบริโภคเบียร์ในไทยรวมประมาณ 2,000 ล้านลิตรต่อปี Craft Beer มีสัดส่วนที่น้อยมาก

สุดท้ายแล้ว อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า การทำ Craft Beer ไม่ได้เป็นเบียร์ที่กินกันจนเมา แต่เป็นการดื่มกับศิลปะของการทำเบียร์พรีเมียมที่แตกต่าง และต้องการบอกให้สังคมรับรู้ว่า คนไทย 65 ล้านคน มีคนดื่มเบียร์ประมาณ 10% ทำไมถึงมีเบียร์ที่ผลิตในไทยได้แค่ 3-4 แบรนด์เท่านั้น?

ขอบคุณภาพจาก: Chitbeer

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา