คุยกับ จิราพร ขาวสวัสดิ์ กับภารกิจสร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกให้กับ OR

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564 สร้างสีสันให้นักลงทุนไม่น้อย เป็นหุ้นที่หลายคนสนใจ แต่ในมุมมองของ โออาร์ ความท้าทายที่แท้จริงกำลังเริ่มต้นขึ้น

ceo or

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ โออาร์ บอกว่า เมื่อแยกบริษัทออกมาจาก ปตท. แล้ว โออาร์ ต้องมีเอกลักษณ์ (Identity) ของตัวเองให้ชัดเจน ซึ่งการสื่อสารคือสิ่งที่สำคัญ

เช่น ชื่อบริษัทคือ โออาร์ ไม่ใช่ พีทีทีโออาร์

หรือสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ต้องการสื่อความหมายว่า เป็นธุรกิจภายใต้การบริหารจัดการของ โออาร์ จะใช้คำว่า ปั๊มน้ำมัน ปตท. อีกไม่ได้ เพราะนั่นคือแบรนด์ของบริษัทแม่

และการจะเปลี่ยนภาพจำของผู้ใช้บริการ มีแต่ต้องตอกย้ำ ซ้ำ ๆ ว่า นี่คือ โออาร์ และ PTT Station

ptt station

เจาะลึก ทำความเข้าใจธุรกิจของ โออาร์

ธุรกิจของ โออาร์ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ 

  • ธุรกิจน้ำมัน ทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบค้าปลีก (น้ำมันเชื้อเพลิงใน PTT Station, LPG, ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants) และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ให้กับกลุ่มอากาศยาน, กลุ่มเรือขนส่ง, กลุ่มอุตสาหกรรม ฯลฯ
  • ธุรกิจค้าปลีก เช่น Café Amazon, Jiffy, Texas Chicken, และฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ
  • ธุรกิจต่างประเทศ 

หรืออาจเรียกตามประเภทแบ่งเป็น ธุรกิจ Oil และ NonOil ก็ได้

จิราพร บอกว่า จากภาพรวม Oil เป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้ใหญ่ที่สุด แต่ NonOil กลายเป็นส่วนหลักที่มีการเติบโตสูง และมีศักยภาพอีกมาก ดูแค่ใน PTT Station ผู้ที่เข้ามาใช้บริการส่วนมากไม่ได้เข้ามาเติมน้ำมัน แต่มาซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ทำให้ โออาร์ เร่งเครื่องพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

cafe amazon

Retailing beyond Fuel โอกาสของ PTT Station เมื่อค้าปลีกเปลี่ยนไป

แนวทางการทำธุรกิจ คือ โออาร์ ต้องบริหารจัดการ Asset ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ PTT Station กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ที่มีผู้มาใช้บริการกว่า 3 ล้านคนต่อวัน ใช้โมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “Retailing beyond Fuel” ที่ทำให้ PTT Station เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน ด้วยแนวคิดการเป็น Living Community

ความได้เปรียบของ PTT Station คือ เข้าถึงง่าย มีบริการที่ตรงความต้องการและครบวงจร เทียบกับห้างสรรพสินค้า ที่เข้าถึงได้ยากกว่า ต้องหาที่จอดรถ ค่าเช่าที่ก็สูงกว่ามาก ทำให้ PTT Station ดึงดูดทั้งลูกค้าและพันธมิตร

“โออาร์ มี Platform ที่แตกต่างจากค้าปลีกอื่น ๆ หลายแบรนด์ไม่ได้แค่เช่าพื้นที่ แต่ร่วมลงทุนด้วยเลย ถ้าค้าปลีกอื่น ๆ มีหน้าร้าน มีห้างสรรพสินค้า โออาร์ มี PTT Station

เมื่อผสานกับ Digital Platform คือ บัตร Blue Card ที่มียอดสมาชิกกว่า 7 ล้านร้าย สามารถทำกิจกรรมสร้าง Engagement ทำ CRM, O2O ได้อีกมากมาย

or

เข้าลงทุนพันธมิตรต่อยอดธุรกิจของ โออาร์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา โออาร์ เข้าลงทุนในหลากหลายธุรกิจที่น่าสนใจ เพื่อต่อยอดและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับ โออาร์ เช่น การเข้าถือหุ้น 9.58% ใน Flash Express ซึ่งเป็นธุรกิจ Logistics ขนส่งสินค้าที่เติบโตสูง ตามความต้องการของตลาด สามารถ Synergy เป็นหนึ่งในบริการใน PTT Station

การเข้าถือหุ้น 65% ใน บริษัท พีเบอร์รี่ไทย จำกัด ผู้จัดหาเมล็ดกาแฟ และอุปกรณ์ในร้านกาแฟ และทำธุรกิจกาแฟประเภท Specialty Coffee แบรนด์ Pacamara นี่เป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร้าน Café Amazon ได้เป็นอย่างดี

และล่าสุดเข้าถือหุ้น 20% ใน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (โอ้กะจู๋) นอกจากมีโอกาสขยายสาขาใน PTT Station แล้ว ยังพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับร้าน Café Amazon ด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีการลงทุนในลักษณะนี้ออกมาอีกแน่นอน เพราะทุกการลงทุนเพิ่มโอกาสและการเติบโตทางธุรกิจให้กับ โออาร์ และพันธมิตร

ev station

EV ไม่ใช่อุปสรรค แต่คือโอกาสใหม่ของ โออาร์

หลายคนถามว่ารถยนต์​ไฟฟ้ากำลังมา PTT Station มีแนวทางอย่างไร โออาร์ มีความพร้อมสำหรับ EV Station เพราะ โออาร์ มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่ครอบคลุมเส้นทางหลักทั่วประเทศ ซึ่งการลงทุนติดตั้ง EV Station เพิ่มในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ไม่ได้ใช้งบประมาณสูง 

คนที่เข้าไปใช้บริการ PTT Station จะรู้ว่า ด้านซ้ายของสถานีบริการน้ำมัน เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ มีโอกาสพัฒนาเป็น EV Station ได้ และยิ่งการชาร์จไฟฟ้าใช้เวลานานกว่าเติมน้ำมัน ธุรกิจ Non-Oil เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ธนาคารสาขา ศูนย์บริการยานยนต์ ฯลฯ ก็จะมีบทบาทมากขึ้น

ปัจจุบันมี PTT Station ที่ให้บริการ EV Station 30 แห่ง มีแผนขยายเป็น 100 แห่งในปีนี้ 300 แห่งในปี 2565 และยังพร้อมขยายออกไปนอกสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้บริการในตลาดพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบัน โออาร์ มีลูกค้ากว่า 2,600 รายในตลาด

cafe amazon

ต่างประเทศ โอกาสในการขยายธุรกิจ Oil และ Non-Oil

โออาร์ ทำธุรกิจในต่างประเทศทั้ง Oil และ NonOil รวม 10 ประเทศเป็นเวลากว่า 27 ปี โดยกลุ่มหลักคือ ประเทศ CLMV ซึ่งเชื่อมั่นในคุณภาพน้ำมันจากไทย และคนในประเทศก็ให้ความนิยมด้วย รวมถึง โออาร์ สามารถส่งน้ำมันไปได้ง่ายเพราะประเทศติดกับไทย

สิ่งที่โดดเด่นอีกประการคือ PTT Station ที่ขยายไปต่างประเทศจะใช้โมเดลธุรกิจ “Retailing beyond Fuel”  เหมือนที่ใช้ในไทย ที่มีทั้ง Oil และ NonOil ซึ่งดึงดูดผู้ใช้บริการได้ดี และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นของแต่ละประเทศมีส่วนร่วมในธุรกิจด้วย

ส่วนของ NonOil มี Café Amazon เป็นหัวหอกสำคัญ เพราะ โออาร์ สามารถไปลงทุนเองได้ หาพันธมิตรร่วมทุน หรือเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ก็ได้ เช่น บริษัท PTTOR China ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ โออาร์ ในประเทศจีน ร่วมมือกับ บริษัทกลุ่มมิตรผลในประเทศจีน และ Sinopec (Guangxi) เปิด Café Amazon ที่หนานหนิง จีนทางใต้ซึ่งมีความใกล้เคียงคนไทย

ceo or

นำทีมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทันธุรกิจที่เปลี่ยนไป

จิราพร บอกว่า ในยุคที่ธุรกิจเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง คนในองค์กรคือปัจจัยสำคัญ ซึ่งจะเน้น 5 ส่วนสำคัญที่รวมกันเป็น OR DNA คือ 

  1. ต้องนึกถึงผู้อื่นก่อนเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเติบโตไปด้วยกัน
  2. ต้องเข้าถึงง่าย เพราะธุรกิจของ โออาร์ เป็น B2C ที่ใกล้ชิดผู้บริโภค
  3. ต้องวางใจได้ 
  4. ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของพนักงาน ให้อำนาจพนักงานได้ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา
  5. ต้องมีความเป็น Entrepreneurship ในความเป็นเจ้าของ โออาร์

การทำธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ ดึงดูดผู้บริโภคและผู้ร่วมทุนให้เข้ามา ต้องมีสิ่งเหล่านี้ ซึ่ง 23 ปีที่ โออาร์ แยกตัวมาจาก ปตท. สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ทำธุรกิจได้คล่องตัวขึ้น มีการสร้าง New SCurve และการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมชุมชนควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ 

ส่วนการทำหน้าที่ CEO หลังจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ พันธกิจ หรือ ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบ 5 แสนราย แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิม คือ ต้องพัฒนาศักยภาพคนในองค์กร สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทันกับธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นความท้าทาย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา