คุยเรื่อง ‘หนังสือ’ กับสำนักพิมพ์ Bookscape ในวันที่โควิดระบาดแต่หนังสือเล่มยังมีที่ยืน

คุยกับสำนักพิมพ์ Bookscape ตัวแทนของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่จะมาเล่าสิ่งที่ “คนทำหนังสือ” ต้องเจอในยุคที่โควิด-19 ระบาด รวมถึงคำถามที่ว่าหนังสือเล่มตายแล้วจริงหรือไม่

สมัยนี้ยังมีใครอ่านหนังสือที่เป็นเล่มอยู่บ้าง? คำถามนี้เชื่อว่าหลายคนคงสงสัย เพราะในปัจจุบันผู้คนมีตัวเลือกในการเสพสื่อมากมาย โดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่เข้ามาแย่งเวลาในชีวิตไปจนแทบไม่เหลือเวลาให้อ่านหนังสือกันอีกแล้ว แถมในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เชื่อหรือไม่ว่าวงการหนังสือเองก็ไม่ได้รับการยกเว้น และได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง (พี่เป็ด) บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ Bookscape เกี่ยวกับเรื่อง “คนทำหนังสือ” ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

วงการหนังสือยังไม่ตาย แม้แต่ในยุคที่โควิด-19 ระบาด

คำถามแรกที่เราถามพี่เป็ดคือ ใครหลายๆ คนบอกกันว่า “หนังสือที่เป็นเล่ม” ตายไปแล้ว พี่เป็ดยืนยันในฐานะคนทำหนังสือว่า “หนังสือเล่มยังไม่ตาย” เพราะในขณะนี้ยังเห็นสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยี โดยเฉพาะศัตรูสำคัญ คือสื่อโซเชียลที่เข้ามาแย่งเวลาในการอ่านหนังสือไป

“หนังสือเล่มยังมีข้อดี กระดาษเป็นสื่อที่มีลักษณะเฉพาะตัว สร้างประสบการณ์เชิงลึกในการเสพได้ อ่าน แล้วหยุดคิด มีปฎิสัมพันธ์กับมัน แล้วกลับมาอ่านต่อได้ ต่างจากทีวีที่มีทั้งภาพและเสียงโหมเข้ามาใส่เรา”

อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่าหนังสือเล่มยังไม่ตาย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า วงการหนังสือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดโดยไม่มีข้อยกเว้น

พี่เป็ดเล่าให้ฟังถึงผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจสำนักพิมพ์ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาว่า ปีที่แล้วร้านหนังสือจำเป็นต้องปิดไปนาน 2-3 เดือน ส่วนในปีนี้แม้จะไม่ได้ปิดร้าน แต่คนก็เดินห้างน้อยลงมาก ร้านหนังสือบางแห่งอาจมียอดขายลดลงมากถึง 70-80% เลยทีเดียว

เมื่อร้านหนังสือได้รับผลกระทบไม่สามารถขายหนังสือได้ หรือขายได้น้อยลง สุดท้ายแล้วผลกระทบก็จะย้อนกลับมาที่สำนักพิมพ์ซึ่งนับว่าเป็นต้นกำเนิดของหนังสือ

“ช่วง 5 ปีที่แล้ว มีหนังสือเข้าสู่ตลาดประมาณ 20,000-30,000 ปก ทุกปี แต่ในทุกวันนี้ลดลงเหลือเพียง 5,000-6,000 ปก ต่อปีที่เท่านั้น”

งานหนังสือจัดไม่ได้ กระทบแหล่งรายได้สำนักพิมพ์

ตามปกติแล้ว สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จะจัดงานหนังสือเป็นประจำทุกปี แต่ในปีที่แล้วและปีนี้งานหนังสือไม่สามารถจัดได้เหมือนที่ผ่านมา ผลกระทบจึงตกอยู่กับสำนักพิมพ์อย่างเลี่ยงไม่ได้

พี่เป็ดเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของงานหนังสือที่มีต่อสำนักพิมพ์ว่างานหนังสือคือสิ่งที่ช่วยให้สำนักพิมพ์ได้เงินจากการขายหนังสือเร็วขึ้น

“หนังสือ 1 เล่ม กว่าจะคืนทุนอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี ต้องจ่ายค่าตีพิมพ์ ค่าลิขสิทธิ์หนังสือ ค่าแปล แต่กว่าจะเอาหนังสือไปวางขายตามร้าน กว่าจะขายได้ กว่าร้านจะรายงานยอด อาจต้องใช้เวลานาน 4 เดือนกว่าเงินก้อนแรกจะกลับมาถึงสำนักพิมพ์ และอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะคืนทุน” เมื่อต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เงินกลับคืนมา นั่นหมายความว่าการทำหนังสือ คือการทำธุรกิจที่ต้องมีสายป่านยาว

ในขณะที่งานหนังสือคือตัวช่วยที่ทำให้สำนักพิมพ์ได้เงินที่ลงทุนไปกลับมาเร็วขึ้น เพราะสำนักพิมพ์เป็นฝ่ายนำหนังสือไปขายด้วยตัวเอง ได้เงินสดกลับมาทันที ไม่ต้องรอเวลานานหลายเดือนเหมือนการวางขายหนังสือที่ร้าน ในขณะเดียวกันงานหนังสือยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้สำนักพิมพ์ได้พบกับคนอ่านหนังสือ ได้ทำความรู้จัก พูดคุยกับคนอ่าน ซึ่งที่ Bookscape บรรณาธิการจะต้องเป็นคนขายหนังสือด้วยตัวเอง เพราะรู้เกี่ยวกับหนังสือมากที่สุด

ไหนๆ ก็เล่าถึงเรื่องต้นทุน เราจึงถามพี่เป็ดด้วยว่า “หนังสือ 1 ปก มีต้นทุนเท่าไหร่” พี่เป็ดจึงเล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่าหนังสือ 1 ปกที่ขายกัน มีต้นทุนอยู่หลายอย่าง ทั้งค่าลิขสิทธิ์ ยิ่งหนังสือดังยิ่งมีค่าลิขสิทธิ์แพง ค่าแปล ค่าจ้างบรรณาธิการ ค่าจ้างออกแบบปก รวมถึงการพิสูจน์อักษร ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น ทำให้หนังสือบางเล่มอาจมีต้นทุนถึง 4-5 แสนบาท

ตัวอย่างหนังสือขายดีบนเว็บไซต์ thaibookfair.com

โควิด-19 ไม่ได้ทำให้คนเลิกอ่านหนังสือ หนังสือบางประเภทขายดีขึ้น

แม้โควิด-19 จะส่งผลต่อการขายหนังสือของสำนักพิมพ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อโควิด-19 ระบาด คนจะเลิกอ่านหนังสือ เพราะในความจริงแล้วคนก็ยังอ่านหนังสืออยู่เช่นเดิม เพียงแต่ประเภทของหนังสือที่อ่านเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต

พี่เป็ดเล่าว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด หนังสือที่ขายดีที่สุด คือหนังสือ ไลท์โนเวล หนังสือนิยาย และหนังสือการ์ตูน ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ต้องเจอ หนังสือเหล่านี้อาจช่วยให้หนีออกจากโลกความเป็นจริงได้ (Escapism)

เช่นเดียวกับหนังสือเด็ก และหนังสือเรียนที่ขายดี เพราะในช่วงนี้เด็กๆ ต้องอยู่ที่บ้าน พ่อแม่จึงต้องหาหนังสือให้ลูกอ่าน ในขณะที่หนังสือที่ขายไม่ได้แน่ๆ คือหนังสือประเภทท่องเที่ยว เพราะคนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อีกต่อไป

สำนักพิมพ์ปรับตัวอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต

เมื่อถามถึงการปรับตัวของธุรกิจสำนักพิมพ์ทั้งในยุคที่คนโดนโซเชียลแย่งเวลาไปจนไม่เหลือเวลาให้อ่านหนังสือ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 พี่เป็ดเริ่มต้นด้วยสิ่งที่เป็นหัวใจของสำนักนักพิมพ์ คือการระมัดระวังในการทำหนังสือ ต้องมีความคมชัดของประเด็น มีคุณภาพที่ดี และสื่อสารชัดเจนพอที่จะแข่งกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ได้

ช่องทางการขายก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะพี่เป็ดบอกว่าการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์กำลังมาแรงจริง แม้แต่ในทวิตเตอร์ก็มีการขายหนังสือกันได้ ดังนั้นสำนักพิมพ์จึงต้องทำความเข้าใจช่องทางการขายแต่ละช่อง

อย่างการขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ พี่เป็ดยกตัวอย่างเสียงสะท้อนจากลูกค้า ที่มักติเรื่องการจัดส่งที่ล้าช้า รวมถึงประเด็นเรื่องแพคเกจที่ต้องสวยงาม

นอกจากนี้ พี่เป็ดยังยกเรื่องการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ของสำนักพิมพ์ ในการผลิตคอนเทนต์แบบต่างๆ เช่น การนำเสนอหนังสือ การนำหนังสือไปตีความในมุมมองของคนขาย หรือแม้แต่การช่วยรีวิวหนังสือ ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่จะทำให้สำนักพิมพ์อยู่รอดได้ในยุคนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา