เคยไหม ที่รู้สึกว่าลืมตาขึ้นมาแล้วชีวิตก็กลายเป็นของที่ทำงาน กว่าจะได้ชีวิตส่วนตัวกลับมาอีกทีก็ตอนพระอาทิตย์ตกดินแล้ว บทความในชุด “เปิดผลสำรวจ InterNations เมืองไหนดีต่อใจคนทำงานมากที่สุด” ตอนที่ 1 จะพาไปทัวร์รอบโลก ดูว่าชีวิตคนทำงานที่อื่นเขาอยู่กันอย่างไร เมื่อเจอตัวอย่างที่ดีอาจจะช่วยให้เราชะโลมหัวใจด้วยความคิดที่ว่าชีวิตดีขึ้นกว่านี้ได้ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร
เปิดผลสำรวจของ InterNations ทำความเข้าใจ “ความสุข” ผ่านการสำรวจชีวิตคนที่ย้ายไปทำงานต่างประเทศ (expats) 15,000 คน จาก 173 ประเทศทั่วโลก
การจัดอันดับเมืองที่แย่และดีต่อใจคนทำงานต่างประเทศมากที่สุด ของ InterNations จัดทำโดยให้ผู้เข้าร่วม 15,000 คน จาก 173 ประเทศทั่วโลก ประเมิน 25 แง่มุมสำคัญของชีวิตการทำงานต่างประเทศใน 13 หัวข้อย่อย โดยให้คะแนนได้ตั้งแต่ 1 ถึง 7 คะแนน
ผลการประเมินจะถูกจัดทำออกมาเป็น “ดัชนีชี้วัด” 4 หัวข้อใหญ่ คือ
- คุณภาพความเป็นอยู่ในเมือง (Urban Living)
- ความง่ายการปรับตัวเข้ากับเมือง (Getting Settled)
- ชีวิตการทำงานในเมือง (Urban Work Life)
- การเงินและที่พักอาศัย (Finance & Housing)
ในปี 2020 มีเมืองเข้ารวมการจัดอันดับ 66 เมือง (โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละเมืองจะต้องมีผู้เข้าร่วมการสำรวจมากกว่า 50 คน เพื่อความแม่นยำทางสถิติของแบบสำรวจ)
เมื่อเมืองใหญ่ไม่ได้น่าอยู่อย่างที่เราคิด
ปารีส ลอนดอน และโรม ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม และเป็นปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก แต่ ผลการสำรวจของ InterNations ในปี 2020 ชี้ให้เห็นว่าเมืองที่น่าเที่ยวบางครั้งก็ไม่ได้น่าอยู่ คนที่ย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่เหล่านั้นมักเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน และสมดุลระหว่างชีวิตและงาน
นี่จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วเมืองไหนกันที่ทำให้พวกเขามีความสุข? หรือพูดอีกอย่างคือ อะไรกันที่ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสุข?
เมืองไหน “ดีต่อใจ” ที่สุด?
ในการสำรวจของ InterNations ปีล่าสุด เมืองจากสเปนพาเหรดกันขึ้นมาติด 10 อันดับแรกเมืองน่าอยู่ถึง 4 เมือง ได้แก่
- บาเลนเซีย (อันดับ 1)
- อลิกันเต้ (อันดับ 2)
- มาลาก้า (อันดับ 6)
- มาดริด (อันดับ 9)
- ส่วนเพื่อนบ้านของสเปนอย่างโปรตุเกสก็ได้ส่งเมืองหลวง “ลิสบอน” (อันดับ 3) ยึดตำแหน่งหัวตารางของการจัดอันดับ
นอกจากเมืองจากแถบคาบสมุทรไอบีเรียแล้ว ยังเมืองอื่นๆ ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ได้แก่
- ปานามา ซิตี้ (อันดับ 4)
- สิงคโปร์ (อันดับ 5)
- บัวโนสไอเรส (อันดับ 7)
- กัวลาลัมเปอร์ (อันดับ 8)
- อาบูดาบี (อันดับ 10)
บาเลนเซีย: เมืองดีต่อใจแห่งปี สวรรค์ริมเมดิเตอเรเนียน
เคล็ดลับที่ทำให้เมืองอันดับ 1 อย่างบาเลนเซียยึดกุมตำแหน่งหัวตารางได้อย่างไร้ข้อกังขาคือ “สภาพความเป็นอยู่” ทั้งตึกรามสมัยใหม่ที่มีการจัดการดีเยี่ยมและบ้านช่องที่คงสถาปัตยกรรมที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งหมดนี้จัดวางอย่างลงตัวอยู่บนริมชายที่ทอดยาวไปกับทะเลเมดิเตอเรเนียนซึ่งมีอากาศอบอุ่นตลอดปี
นอกจากนี้ ด้วยความเป็นมิตรและความสนุกสนานของคนสเปน การสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคนทำงานต่างประเทศในบาเลนเซียถึง 91% พึงพอใจต่อผู้คนบาเลนเซีย
อีกทั้งบาเลนเซีย (และเมืองอื่น ๆ ในสเปน) มีวัฒนธรรมอาหารที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีกิจกรรมสันทนาการให้ผู้คนสามารถเติมเต็มตัวเองตามความสนใจได้อย่างไม่รู้จบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนในบาเลนเซียทั้งคนบาเลนเซียและผู้ที่ย้ายเข้ามาทำงานมีความสุขกับการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเมืองบาเลนเซีย
แม้บาเลนเซียจะดูเหมือนมีโชคช่วยที่บังเอิญมาตั้งอยู่บนภูมิทัศน์ที่สวยงาน มีอากาศดีตลอดปี แถมยังมีวัฒนธรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจและสถาปัตยกรรมดั้งเดิมตกทอดมาให้ แต่ปัจจัยที่ผลักดันให้บาเลนเซียขึ้นอันดับหนึ่งคือการบริหารจัดการเมืองที่ทำให้บาเลนเซียเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสเปน เราจึงแน่ใจได้ว่าบาเลนเซียจะมีสภาพเศรษฐกิจที่ดี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาลงหลักปักฐานอย่างเพรียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็น สาธารณูปโภค บริการด้านสาธารณะสุข การขนส่งสาธารณะ ทำให้ผู้คนในบาเลนเซียไม่ต้องหงุดหงิดรายวันกับการขาดแคลนความต้องการพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้รับ ทั้งนี้ บาเลนเซียเป็นประเทศที่เป็นอันดับ 1 ในหัวข้อย่อยด้านคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ ผู้คนในบาเลนเซียไม่ต้องวิตกด้านสถานการณ์ทางการเงินและการหาที่พักอาศัยสักเท่าไหร่นักเนื่องจากค่าครองชีพโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ โดยบาเลนเซียถูกจัดว่าดีที่สุดอันดับ 3 ในด้านการเงินและที่พักอาศัยจากการสำรวจ
จะเห็นได้ว่าบาเลนเซียเอื้อให้ผู้คนมี เวลา พลังงาน และทุนทรัพย์ล้นเหลือสำหรับการเติมเต็มตัวเองและมีความสุขกับชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบาเลนเซียถึงถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งปี
แนวโน้มของเมืองน่าอยู่ 5 อันดับแรก
เมืองอื่นๆ ในแถบคาบสมุทรไอบีเรียที่อยู่ใน 5 อันดับแรก ก็มีความเป็นอยู่ที่ไม่ได้ทิ้งห่างจากบาเลนเซียเท่าไหร่นัก โดยมีลักษณะร่วมที่น่าสนใจบางประการ ดังนี้
ทั้ง 5 เมืองมี “คุณภาพความเป็นอยู่ในเมือง” ติด 20 อันดับแรก โดย 3 เมืองอยู่ใน 10 อันดับแรก ซึ่งหมายถึงการมีกิจกรรมยามว่าง สภาพอากาศ ขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัย สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมที่ดี ชาวต่างประเทศที่ย้ายไปทำงานในกรุงลิสบอนกล่าวว่า “ชีวิตในโปรตุเกสนั้นวิเศษอย่างน่าประหลาดใจ ผู้คนเป็นมิตรมาก ส่วนอาหารนั้นยอดเยี่ยมมาก และอากาศโดยทั่วไปก็ดีตลอดปี”
4 จาก 5 เมืองมี “ความง่ายในการปรับตัวเข้ากับเมือง” อยู่ใน 4 อันดับแรก ซึ่งหมายถึงการที่ผู้คนเป็นมิตรและชีวิตทางสังคมดี ทางด้านมาดริดก็ไม่ได้ทิ้งห่างมากโดยได้อันดับ 13 คนที่ย้ายไปทำงานในอลิกันเต้นิยามชีวิตในเมืองดังกล่าวว่า “ในอลิกันเต้ พวกเขารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน”
นอกจากนี้ คน 3 จาก 5 เมืองพึงพอใจ “สถานการณ์ด้านการเงินและที่พัก” อยู่ใน 10 อันดับแรก โดยที่เมืองหลวงอย่างลิสบอนและมาดริดทำอันดับในเรื่องนี้ได้แย่กว่าตามประสาเมืองหลวง (อันดับ 27 และ 34) แต่ก็ยังทำได้ดีในระดับกลางๆ
เศรษฐกิจไม่ใช่ทุกอย่าง
การสำรวจนี้มีแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ บรรดาเมืองในหัวตารางส่วนใหญ่ไม่ได้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศยอดนิยมสำหรับคนทำงานต่างประเทศ (เช่น ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน หรือปารีส) และไม่ได้เป็นเมืองที่มักจะเป็นชื่อแรกๆ ที่เรานึกออกเวลาพูดถึงการย้ายไปทำงานต่างประเทศ
เมืองน่าอยู่อันดับ 1 อย่างบาเลนเซียมีคนเพียง 54% ที่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจในขณะที่ลิสบอนมีเพียง 62% เท่านั้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 63%
นอกจากนี้ เมืองที่น่าจะมีเศรษฐกิจน่าพึงพอใจสุดในกลุ่ม Top 5 อย่างกรุงมาดริด (เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศใหญ่) กลับมีคนไม่พึงพอใจกับสภาพเศรษฐกิจถึง 17% ซึ่งไม่ห่างจากค่าเฉลี่ยนระดับโลกที่ 18% อย่างไรก็ดี ปัจจัยอื่น ๆ ที่ได้มาแล้วก่อนหน้านี้ผลักดันให้เมืองเหล่านี้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ระดับโลก
จะเห็นได้ว่า การได้รับค่าตอบแทนสูงหรือหน้าที่การงานดีการอยู่อย่างมีความสุขเป็นเพียงด้านหนึ่งของความสุข เมืองน่าอยู่เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าแง่มุมอื่นๆ ของชีวิต เช่น กิจกรรมสันทนาการ สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม สุขภาวะ ความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทางในแต่ละวัน ความเป็นมิตรของสังคม และความสัมพันธ์ในสังคม ก็มีส่วนที่จะเติมเต็มมนุษย์คนหนึ่งให้มีความสุขยิ่งขึ้น
ชีวิตต้องสู้ของคนทำงานในเมืองใหญ่
เมื่อหันดูอีกด้านหนึ่งของตาราง เราพบว่า เมืองที่ให้โอกาสในอาชีพการงานสูง และให้ผลตอบแทนงาม อาจไม่ใช่เมืองที่เหล่าคนทำงานต่างประเทศคิดว่าดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น ปารีส จุดมุ่งหมายปลายทางในฝันอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวหลายปีซ้อน กลับได้อันดับที่ 61 จาก 66 ในการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ ผู้คนในปารีสต้องเผชิญกับสถานภาพทางการเงินที่ไม่น่าพึงพอใจและที่พักอาศัยราคาแพง 30% ของคนทำงานต่างประเทศไม่พอใจสถานภาพทางการเงิน ในขณะที่ 70% คิดว่าที่อยู่อาศัยแพงเกินไป โดยที่ ลอนดอน นิวยอร์ก และโรม ก็เผชิญกับสถานการณ์คล้ายกันกับปารีส
จากรายงานของ InterNations นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และซูริค ได้อันดับเกี่ยวกับ “โอกาสในหน้าที่การงาน” ในระดับต้นๆ (โดยได้อันดับที่ 3 14 24 และ 28 ตามลำดับ) อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้กลับทำคะแนนเกี่ยวกับ “สถานการณ์ทางการเงินและที่พักอาศัย” และ “สมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต” ได้ไม่ดีนัก โดยประเทศเหล่านี้ไม่มีประเทศไหนอยู่ในอันดับสูงกว่า 41 (จาก 66 ประเทศ) ทั้งในด้านการเงินและที่พักอาศัยและในด้านสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต
สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสในหน้าที่การงานมักจะทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง เพราะเมืองเหล่านี้ดึงดูดคนทำงานจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานดุเดือด ความมั่นคงในอาชีพต่ำ ซ้ำยังต้องเผชิญความตึงเครียดจากชั่วโมงการทำงานมหาศาลและการเร่งสร้างผลงานแข่งเพื่อรักษาตำแหน่ง จนนำไปสู่การพังลงของสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
นอกจากนี้ จำนวนคนที่หลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองจำนวนมหาศาลยังทำให้สภาพแวดล้อมในเมืองแออัด ขาดสุขภาวะ รวมไปถึงที่พักที่หายากขึ้นและมีราคาสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเมืองใหญ่ระดับโลกจึงไม่น่าอยู่เท่าที่เราคิด
บทเรียนแห่งความสุขจากโลกสู่เรา
เมืองระดับ Top 5 ได้สอนบทเรียนแห่งความสุขให้แก่เราว่า ความสุขไม่ได้เกิดจากผลตอบแทนสูงและหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าเพียงอย่างเดียวจนถึงขนาดที่ต้องแลกสภาพความเป็นอยู่ในมิติอื่นๆ เพื่อให้ได้มา
ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศรั้งท้ายเปรียบเสมือนอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่สอนบทเรียนเแห่งความทุกข์ให้เราเช่นกัน แม้เราจะได้เรียนรู้แล้วว่าเงินไม่ใช่ทุกมิติของความสุข แต่การจำทนกับสถานภาพทางการเงินที่ไม่สู้ดีนั้นเป็นทุกข์แน่นอน แถมยังเป็นความทุกข์ที่เรายังคงลังเลที่จะสลัดทิ้ง เรายังคงต้องทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงอันจะเป็นบันไดในการพัฒนาความเป็นอยู่กันต่อไป แต่เราต้องไม่ลืมตระหนักถึงความสุขด้านอื่นๆ จนกระทั่งสละทุกอย่างทิ้งทั้งหมด
ก่อนจะจากกันไปพร้อมกับบทส่งท้ายของการเดินทางรอบโลกของเราในครั้งนี้ เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านเปิดประตูสู่ประเมินความสมดุลในชีวิตใหม่ได้ไม่มากก็น้อย
ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ของการทำงานในกรุงเทพฯ ของพวกเราจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ในตอนต่อไปของบทความในชุด “เปิดผลสำรวจ InterNations เมืองไหนดีต่อใจคนทำงานมากที่สุด”
เข้าถึงรายงานฉบับเต็มได้ที่ – Expat Insider 2020: The Best & Worst Cities for Expats 2020 | InterNations
ที่มา – Bloomberg, InterNations
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา