วิวาทะว่าด้วย “อัตราดอกเบี้ย”

“เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอุปสงค์จากต่างประเทศล่าสุดชะลอลงบ้างแต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมาย โดยยังมีความเสี่ยงด้านสูง คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้”

คำกล่าวข้างต้นเป็นย่อหน้าสำคัญของแถลงการณ์โดยสรุปของผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 หากจะสกัดเอาเฉพาะใจความสำคัญของการตัดสินใจแบบเอกฉันท์ของคณะกรรมการที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ก็คงมีความว่า เศรษฐกิจกำลังไปได้ดี เงินเฟ้อก็น่าจะคุมอยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาทและเกรงว่าคนจะเข้าใจไปว่า ต้นทุนทางการเงินคงจะต่ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าเช่นนั้นก็ขอขึ้นดอกเบี้ยอีกสักสลึงก็แล้วกัน

พูดง่าย ๆ ว่า กนง. มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป และย่อมสุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความกังวลใจดังกล่าวถูกแสดงออกในรูปของการเพิ่มความยืดหยุ่นของเครื่องมือนโยบายที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ย” หากปัญหาเงินเฟ้อกลับมาแสดงอิทธิฤทธิ์ กนง. ก็พร้อมที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยกำราบให้สงบ หรือหากมีเหตุการณ์อันใดที่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ช่องว่างทางนโยบายของ กนง. ก็มีเพียงพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผลและทันทีทันใด

หากให้เดาใจ กนง. ว่า เหตุการณ์ใดที่ กนง. จำต้องรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง คำเฉลยคงเกี่ยวข้องกับ “นโยบายประชานิยม” ของรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตามที จะเป็นพรรคเพื่อไทย จะเป็นพรรคก้าวไกล หรือจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หน่วยงานกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศก็หวั่นและสะพรึงใจไม่ต่างกัน ทั้งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่ก้าวกระโดดพรวดพราด นโยบายการลดค่าครองชีพแบบโยนภาระให้รัฐ นโยบายสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนที่แจกให้โดยไม่ต้องพิสูจน์คุณสมบัติ เงินหมื่นดิจิทัลก็ดี สามพันคนชราก็ดี ต่างก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งนั้น สถานการณ์จำพวกนี้ที่ กนง. แปะฉลากว่าเป็น “ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง” นั่นเอง

แต่ความแตกต่างเชิงโลกทัศน์ของเหล่านักการเมืองและบรรดาเทคโนแครต (Technocrats) จะหามีปัญหาไม่ ถ้าแต่ละฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเที่ยงตรงและซื่อสัตย์ อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีอยู่จริง โลกของรัฐบาลกับธนาคารกลางเป็นโลกแห่งการห้ำหั่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะสองขั้วตรงข้ามนี้ยืนอยู่คนละฝั่งถนนกันมาอย่างนาน โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หากใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยมาแล้ว ก็คงไม่แปลกใจว่า บนสังเวียนนโยบาย “อัตราดอกเบี้ย” มีคนแพ้และคนชนะผลัดกันไปราวกับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

นึกย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง คือ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล เจ้าของฉายาซามูไรเลือดเดือด ผู้ยึดหลักการคลังแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเปิดเผยและไม่ยอมให้ใครมาลูบคม กับคุณนุกูล ประจวบเหมาะ เจ้าของเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้รับการขนานนามว่า นักสู้ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ การประดาบระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในหลายนโยบายจวบจนฟางเส้นสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องของการจำกัดสินเชื่อร้อยละ 18 ที่ทำให้ปู่สมหมายอดรนทนไม่ไหวต้องสั่งปลดคุณนุกูลกลางอากาศและแต่งตั้งคุณกำจร สถิรกุลมารับตำแหน่งแทนแบบไม่ทันตั้งตัว งานนี้ฝ่ายการเมืองแม้จะชนะ แต่ก็เสียรังวัดไปพอสมควรจากการแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติที่ต้องการความเป็นอิสระ

ผ่านเหตุการณ์นั้นมาเกือบ 20 ปี คราวนี้เป็นคู่ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีคลัง กับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติ สมัยคุณทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ใคร ๆ ต่างก็คิดว่า หม่อมเต่า ผู้กล้าหาญชาญชัยประเภทหมูไม่กลัวน้ำร้อนจะถูก ดร.สมคิด ฟันจนเต่ากระดองแตกเก็บของอำลาวังบางขุนพรหมไปแบบไม่ให้ทันตั้งตัว เพราะหม่อมเต่ายืนเต่าขาเดียวไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย แม้จะถูกเรียกร้องจากฝ่ายรัฐบาลอย่างหนักหน่วง แต่ก็ทำเป็นหูทวนลม มิหนำซ้ำยังให้สัมภาษณ์สวนนายกรัฐมนตรีไปว่า เป็นตายยังไงก็ไม่ลด

ราว 10 ปีถัดมา คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง สวมบทรัฐมนตรีคลังเลคเชอร์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอย่าง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผ่านสื่อมวลชน ด้วยการกระแทกดัง ๆ กดดันแรง ๆ ว่า แบงก์ชาติต้องทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย มิฉะนั้น รัฐบาลก็คงต้องทำอะไรสักอย่าง เช่นการเปลี่ยนผู้ว่าเป็นต้น ดร.ประสารกลับอาศัยความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวทั้งมวล และใครจะคาดคิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว รัฐมนตรีคลังกลับเป็นผู้ถูกเปลี่ยนเสียเอง

แต่วันนี้ ไม่รู้ว่าใครจะมาคุมกระทรวงริมคลองประปา แต่แบงก์ชาติก็ตั้งการ์ดสูงไปแล้วว่า เรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของฉัน และฉันก็พร้อมจะทำทุกอย่างที่จะกำราบความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มากระทบระบบเศรษฐกิจ น่าหวั่นใจเหลือเกินว่า กงล้อประวัติศาสตร์จะกลับมาวนเวียนอีกครั้งหนึ่งในไม่ช้านี้ คงต้องจับตารอดูกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา