ปันจักสีลัต ทีมชาติไทย ใช้งานอักษรลิขสิทธิ์ปักหลังเสื้อ ละเมิดลิขสิทธิ์นักออกแบบตัวอักษร

กีฬาซีเกมส์ 2021 ครั้งที่ 31 กำลังจัดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม ล่าสุด ทีมปันจักสีลัตลีลาไทยที่เพิ่งคว้าเหรียญทองแรกของนักกีฬาทีมชาติไทยมาได้ กำลังมีประเด็นร้อนจากการละเมิดลิขสิทธิ์นักออกแบบตัวอักษร

Thailand font

วานนี้ สุชาล ฉวีวรรณ เจ้าของผลงานตัวอักษร ไทยแลนด์ที่ออกแบบมาให้สามารถอ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยเป็นคำว่าไทยแลนด์ได้ภายในคำเดียว โพสต์ผ่านเฟสบุคถามถึงลิขสิทธิ์ผลงานที่เขาได้ออกแบบไว้ โดยระบุว่า เขาได้รับข้อความจากเพื่อน พี่ๆ หลายช่องทางถึงลิงก์ข่าวงานแข่งขันกีฬาซีเกมส์ฮานอย 2021 ซึ่งเริ่มแข่งวันนี้เป็นวันแรก และทีมนักกีฬาไทยของเราได้เหรียญทองเหรียญแรกจากกีฬาประเภทนี้

สุชาลระบุว่า เขารู้สึกยินดีกับทีมปันจักสีลัตลีลาไทยที่คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้กับทัพนักกีฬา แต่สิ่งที่เศร้าใจคืองานออกแบบตัวอักษร ไทยแลนด์ ที่ถูกนำไปใช้เป็นแบบปักอยู่บนเสื้อของทีมนักกีฬาทีมนี้โดยที่ได้เห็นภาพจากข่าวครั้งแรก ซึ่งทางเขาไม่ได้รับการติดต่อจากทางสมาคมหรือองค์กรใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาประเภทนี้เลย และไม่ได้เคยให้ไฟล์ผลงานนี้กับใครเพื่อเอาไปใช้ในกิจการต่างๆ กับองค์กรใดๆ ด้วย

จึงอยากใช้โอกาสนี้ชี้แจงว่า งานออกแบบตัวอักษร ไทยแลนด์ที่ได้ออกแบบนั้น ได้มีการขอลิขสิทธิ์ถูกต้องและได้เอกสารรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว การที่งานออกแบบของเขาจะไปอยู่บนสินค้าหรือพื้นที่ใดๆ นั้น จะต้องมีการขออนุญาตจากเขาก่อน

สุดท้ายสุชาลระบุว่า เขาอยากแนะนำให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การนำผลงานการออกแบบที่เห็นจากโลก online ไปใช้ในกิจการงานต่างๆ ในทางส่วนตัวหรือนำไปใช้ในองค์กรที่ท่านสังกัดอยู่โดยไม่ขออนุญาตนั้นถือว่ามีความผิด

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้ความหมายของคำว่า “ลิขสิทธิ์” หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่นโดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน

ประเภทงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง ประกอบด้วย งานวรรณกรรม (หนังสือ บทความ บทกลอน) นาฏกรรม (ท่าเต้นรำ) ศิลปกรรม (ภาพวาด ภาพถ่าย) ดนตรีกรรม (เนื้อร้อง ทำนองเพลง) โสตทัศน์วัสดุ (วีซีดีคาราโอเกะ) ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง (เทป ซีดีเพลง) งานแพร่เสียง แพร่ภาพ (รายการวิทยุโทรทัศน์) หรืองานอื่นใดในแผนวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ

ที่มา – Facebook สุชาล ฉวีวรรณ, DIP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา