คปภ.ชี้เศรษฐกิจไม่ดีกระทบธุรกิจประกันในไทยเผย ปี 2562 เบี้ยรับรวมฯ หดตัว

ปี 2561 ที่ผ่านมาเบี้ยประกันภัยในเอเชียหดตัวลง จากตลาดหลักอย่างจีน และเกาหลี ในส่วนของไทยธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบหลายอย่าง ทั้งแบงก์ชาติหันมาคุมเข้มการขายผ่านช่องทางธนาคาร ไหนบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งจะเบี้ยฯ ลดลงอีก ไตรมาส 1 และช่วงเวลาหลังจากนี้ธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัวอย่างไร?

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

คปภ.เผยปี 2562 ธุรกิจประกัยภัยเบี้ยฯ หดตัวตามเศรษฐกิจ

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บอกว่า ปี 2562 นี้คปภ.คาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจากธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัยไทยทั้งระบบจะอยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท หดตัว 2-3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

ทั้งนี้ไตรมาส 1 ปี 2562 เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หดตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนใหญ่อย่างธุรกิจประกันชีวิตเบี้ยประกันภัยหดตัว 7% ในขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น 4% ซึ่งเบี้ยประกันภัยทั้งระบบปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจไทย แต่ภายในปีนี้ทางคปภ.จะมีการปรับคาดการณ์เบี้ยประกันภัยทั้งระบบอีกครั้ง

ภาพจาก shutterstock

ทางออกธุรกิจประกันเน้นประกันสุขภาพ-รายย่อย ชงเข้าร่วมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ส่วนเบี้ยธุรกิจประกันชีวิตที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการปรับพอร์ทของบริษัทประกันชีวิต ที่ลดการขายประกันชีวิตแบบ Single Premium และหันมาเน้นแบประกันความคุ้มครองที่เบี้ยฯ ถูกกว่า ในขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยกลับมาเติบโตในต้นปีนี้หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาเบี้ยฯ ค่อนข้างชะลอตัว

ดังนั้นตแม้ช่วงนี้การเมืองยังไม่แน่นอน แต่มองว่าครึ่งปีหลังการเมืองจะมีความมั่นคงมากขึ้น ภาครัฐลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ส่งผลให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตขึ้นนอกจากนี้หากรัฐบาลใหม่สนับสนุนการประกันภัยผู้มีรายได้น้อย ภาคธุรกิจสามารถขยายประกันพืชผลการเกษตร รวมถึงเพิ่มประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ

นอกจากนี้เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะหนุนโครงการใหญ่ๆ เกี่ยวกับประกันภัยที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น ประกันพืชผลทางการเกษตร ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจจะส่งเสริมการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเพิ่มเข้าไป(Add-on) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรผู้มีรายได้น้อย) ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มขึ้น

อรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการสายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย คปภ.บอกว่า เทรนด์สำคัญของธุรกิจประกันภัยตอนนี้คือ ประกันสุขภาพ ประกัน PA รวมถึงประกันภัยรายย่อยต่างๆ เห็นได้จากไตรมาส 1 ปีนี้  สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพยังเติบโต 9.5% สัญญาเพิ่มเติม PA . เติบโต 10% 

ในขณะที่ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิต 39% มีเบี้ยประกันเฉลี่ย 12,809 บาท/ราย ดังนั้นตลาดประกันชีวิตยังมีโอกาสให้ขยายตัวอีกมาก แต่ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองลูกค้าแต่ละ Segment ได้มากขึ้น

สุทธิพล บอกว่า ด้านแผนงานของคปภ. ในปี 2562 จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสถานการณ์ ปรับกระบวนการทำงาน เช่น การยื่นขอความเห็นชอบแบบประกันให้เร็วขึ้น พัฒนากระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการขยาย Microinsurance ให้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแบบประกันสุขภาพเพื่อสูงอายุในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

สรุป

ธุรกิจประกันชีิวิต และธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัวอีกมาก ทั้งการปรับปรุงภาพลักษณ์ของธุรกิจ การสร้างความเข้าใจ แต่จุดสำคัญคือการสร้างความตระหนักว่าประกันภัยสำคัญต่อชีวิตอย่างไร เพราะในประเทศพัฒนาแล้วประชาชนเลือกทำประกันภัยเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น มากกว่ามองว่าการทำประกันภัยคือการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง