คนไทยชอบเช็คราคาก่อนซื้อของ แต่ 80% ไม่ได้ซื้อจากที่ถูกสุด

ข้อมูลจาก Priceza พบว่าคนไทยชอบสินค้าราคาถูก มีพฤติกรรมชอบเช็คราคาหลายๆ ที่ก่อนซื้อ แต่ 80% กลับไม่ได้ซื้อจากที่ถูกที่สุด แต่มีปัจจัยเรื่องความน่าเชื่อถือ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ราคาไม่ใช่สิ่งสำคัญสุด แต่มองความคุ้มค่าที่สุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ตลาอดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี มีผู้เล่นลงมาในตลาดมากมายทั้งของไทย และต่างชาติ ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งราคาก็เป็นสิ่งที่หลายเจ้าเอามาเป็นอาวุธเด็ดในการมัดใจลูกค้า ทำราคาให้ถูกที่สุด

ทำให้เกิดพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเช็คราคาสินค้าหลายๆ แพลตฟอร์มก่อนทำการตัดสินใจซื้อ โดยที่ธนาวัฒน์ มาลาบุปผาได้มองเห็นช่องว่างในตลาด จึงปั้นแพลตฟอร์ม Priceza ขึ้นมาเป็นเป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ ที่

Priceza วางจุดยืนเป็น Shopping Search Engine เป็นแพลตฟอร์มที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาการซื้อสินค้า ให้ผู้บริโภคคิดได้ว่าซื้ออะไรดี เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปี 2010 ปัจจุบันทำตลาด 6 ประเทศ ได้แก่ ไทยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย

โมเดลธุรกิจของ Priceza ก็คือเป็นสื่อกลางให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ในการนำสินค้าชนิดเดียวกันมาเปรียบเทียบกัน ให้ลูกค้าได้ตัดสินใจซื้อได้ง่าย มีรายได้จากลูกค้าก็คือร้านค้านั่นเอง

จากพฤติกรรมนี้ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อจากแหล่งที่ราคาถูกที่สุดแน่นอน แต่ธนาวัฒน์บอกว่าจริงๆ แล้วผู้บริโภคเช็คราคาหลายๆ ที่เพื่อหาราคาถูกที่สุด แต่พบว่า 80% นั้นตัดสินใจซื้อจากที่คุ้มค่าที่สุด ก็คือมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ร้านเข้าถึงง่าย มีความน่าเชื่อถือ มี Value Added อื่นๆ อย่างส่งเร็ว มีประกัน เพราะฉะนั้นราคาถูกไม่ได้ชนะเสนอไป

คนไทยยังช้อปเสื้อผ้ามากที่สุด

ในระบบของ Priceza มีสินค้ารวม 36 ล้านชิ้น โดยที่ 47% เป็นสินค้า Cross Border 17 ล้านชิ้น หรือสินค้าที่ส่งมาจากต่างประเทศ และ 53% เป็นสินค้าโลคอล 19 ล้านชิ้น

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้มีทราฟิกการเข้า Priceza จำนวน 70 ล้านครั้ง สามารถเปลี่ยนเป็นอัตราการซื้อเฉลี่ย 2.98% มีการเติบโตขึ้นจากปี 2017 ที่มีอัตรา 2.81% ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อของออนไลน์มากขึ้น

มีข้อมูลพบว่ามีมูลค่าในการตัดสินใจซื้อสินค้าจากการเช็คราคาใน Priceza ถึง 14,200 ล้านบาท มีการซื้อเฉลี่ย 1,702 บาทต่อออเดอร์ แต่ถ้าแยกมูลค่าการช้อปปิ้งตามอุปกรณ์ จะพบว่าใน Desktop มีมูลค่ามากที่สุด 2,309 บาทต่อออเดอร์ เพราะคนมั่นใจซื้อผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่า และจากมือถือ 1,266 บาท

ทราฟิกในการเข้าชมเว็บไซต์มาจากมือถือ 73% คอมพิวเตอร์ 23% และแท็ปเล็ต 4% แต่ทราฟิกในการซื้อสินค้ามาจากมือถือ 81% และคอมพิวเตอร์ 19%

กลุ่มสินค้าที่มีการซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เสื้อผ้า 15% มอเตอร์ไซต์ 14% ไอที 13% มือถือ 12% และเฟอร์นิเจอร์ 10%

แตกไลน์สู่ฟินเท็คทำเรื่องการเงินให้ง่ายขึ้น

Priceza ได้แตกบริการสู่โลกของการเงิน หลังจากมีแค่บริการเช็คราคาสินค้ามานาน ได้เปิดตัว Priceza Money เป็นบริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ ประกันภัย สินเชื่อ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด

ธนาวัฒน์เล่าว่า บริการนี้เกิดจากได้พบเห็นสินค้าการเงินมีมากมายแต่หาที่ถูกใจยากเพราะมีตัวเลือกเยอะไปหมดอีกทั้งหลายคนยังมีปัญหาเรื่องเซลล์โทรมาขายตลอดเลยคิดวิธีการแก้ปัญหา

ได้เริ่มเจาะจากประกันรถยนต์ก่อน เพราะพบว่า 90% ของคนขับรถบอกว่าไม่สบายใจที่จะขับรถโดยไม่มีประกัน และ 85% ของคนกลุ่มผู้ซื้อประกันรถยนต์บอกว่าขั้นตอนค้นหา เปรียบเทียบน่าเบื่อ ใช้เวลานาน อยากได้คนแนะนำง่ายๆ แบบเพื่อนคุยกัน

ปัจจุบัน Priceza Money มี 1.6 ล้านแผนประกัน 30 บริษัทประกัน และ 72 บัตรเครดิตที่เข้าร่วม หลังจากที่เปิดให้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีตัวเลขที่ช่วยให้คนตัดสินใจซื้อประกันรถยนต์ได้แล้วมูลค่า 14.6 ล้านบาท

อีคอมเมิร์ซอยู่ร่วมกับฟินเทค เพราะเรื่องเพย์เมนต์ทำให้อีคอมเมิร์ซโต รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ช่องทางการชำระเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มองว่าเรื่องนี้น่าสนใจจึงเอามาผนวกกับอีคอมเมิร์ซ มีการบอกว่าถ้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิตใบไหนถึงคุ้มค่าที่สุด ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น

ซึ่งบริการนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ Priceza เพิ่มมากขึ้นอีก อีกทั้งยังทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายจากข้อเสนอของธนาคาร

สรุป

ตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ย่อมมีการแข่งขันรุนแรง การมีเครื่องมือในการเปรียบเทียบราคาจึงช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น การที่ Priceza แตกบริการใหม่ในเรื่องการเงินก็ทำให้ครอบคลุม Ecosystem ของอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา