เจาะอินไซต์คนไทย… ทิ้งตะกร้าสินค้าออนไลน์เกินครึ่ง เพราะค่าส่งแพง!

พฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทยไม่ได้คำนึงถึงแค่โปรโมชั่นของสินค้าอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เรื่องการจัดส่งสินค้าก็สำคัญ การผลสำรวจพบว่าคนไทยไม่ซื้อของออนไลน์ก็เพราะค่าส่งแพง!

ภาพจาก Shutterstock

ค่าจัดส่งเป็นปัจจัยสำคัญ

มีผลวิจัยจาก SAP Consumer Propensity เกี่ยวกับพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์พบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภคไทยละทิ้งตะกร้าสินค้าออนไลน์ เนื่องจากค่าจัดส่งสินค้าที่มีราคาสูงกว่าที่คาดคิด

ผู้บริโภคชาวไทยยุติการซื้อสินค้าออนไลน์เมื่อถึงขั้นตอนเช็คเอาท์ที่ต้องกด “ซื้อ” โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 60% มีการทิ้งตะกร้าสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง หรือบางครั้ง ยังพบว่าค่าจัดส่งสินค้าที่มีราคาสูง 48% คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการทิ้งตะกร้า

นอกจากนี้มากกว่า 30% ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ชาวไทย ใช้ตะกร้าสินค้าออนไลน์เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบราคาเท่านั้น โดยไม่ได้มีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าแต่อย่างใด แถมคนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดยังยกเลิกการซื้อสินค้าเนื่องจากขั้นตอนการเช็คเอาท์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 23%

ผลสำรวจนี้ได้ทำการสำรวจกับผู้บริโภคชาวไทย 1,000 คน เพื่อทำความเข้าใจความต้องการในการซื้อสินค้าออนไลน์ และแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจนเสร็จสมบูรณ์ โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับโลก รวมทั้งอีกหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

ผลการสำรวจพบว่า ราคา คือ ปัจจัยกระตุ้นการเลือกซื้อที่สำคัญที่สุด ทั้งด้านโปรโมชั่น 59% และส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าเพิ่มอีกชิ้น 41% ก็เป็นตัวกระตุ้นให้นักช็อปกดจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังต้องการให้แบรนด์ต่างๆ มีความเข้าใจความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง เช่น ประวัติการซื้อสินค้าของพวกเขา 37% ผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่งให้ความสนใจกับสินค้าแนะนำมากที่สุด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 25%

ผู้เล่นค้าปลีกต้องใช้ดาต้าให้เกิดประโยชน์

ที่สำคัญคือดาต้าของการละทิ้งตะกร้าสินค้าออนไลน์ คือแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับผู้ค้าปลีกในการระบุจุดเปลี่ยนในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค และปรับปรุงประสบการณ์โดยรวมของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ทั้งนี้ประเภทของสินค้าที่เลือกซื้อ เวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนการเลือกซื้อ เวลาที่เหลือสำหรับการวางสินค้าในตะกร้า และจุดที่เกิดการละทิ้งตะกร้าที่แม่นยำ ล้วนเป็นดาต้าที่ช่วยให้ผู้ค้าปลีกดำเนินการโดยมีข้อมูลรองรับ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคและการซื้อสินค้าจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้มากขึ้น

ผลการศึกษาชิ้นนี้ ยังแนะนำว่าธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานในขั้นตอนการเช็คเอาท์ เช่น ร้านค้าปลีกต่างๆ สามารถแสดงข้อมูลค่าจัดส่งสินค้าและค่าภาษีในระหว่างขั้นตอนการเลือกซื้อ แทนที่จะแสดงผลเมื่อถึงขั้นตอนเช็คเอาท์สินค้าอย่างเดียว

ซึ่งสามารถสร้างความตกใจให้ผู้ซื้อถึงราคามูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าราคาสินค้าจริงค่อนข้างมาก นอกจากนี้การสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการการเช็คเอาท์สินค้านั้นไม่ยุ่งยาก และเสร็จสิ้นภายใน 5 ขั้นตอน สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้

คนไทยซื้อของออนไลน์น้อยสุดในเอเชียแปซิฟิค

นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังไม่ได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าออนไลน์มากนักเมื่อเทียบกับผู้บริโภคจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก ด้วยผลการสำรวจที่บ่งชี้ว่า พวกเขามักซื้อสินค้าน้อยที่สุดในกลุ่มสินค้าเกือบทุกประเภท (5 จาก 7 ประเภท) ได้แก่

– สินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 19%)

– สินค้าดิจิตอล (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14%)

– สินค้าอุปโภคบริโภค (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 19%)

– สินค้าเพื่อความบันเทิง (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 21%)

– สินค้าเฟอร์นิเจอร์ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 12%)

– สินค้าด้านการเงิน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 12%)

– สินค้าแฟชั่น (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4%)

หากเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย จะเห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีโอกาสสูงสำหรับธุรกิจต่างๆ ที่สามารถมอบประสบการณ์แบบส่วนบุคคล และการมีส่วนร่วมให้กับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ประสบการณ์ดังกล่าวต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และขยายขอบเขตไปไกลกว่าการซื้อสินค้า คือรวมถึงการให้บริการและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา