การตลาดของผู้สูงอายุเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดแล้ว เพราะประเทศไทยใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว จะพาไปเจาะลึกอินไซต์พฤติกรรมของผู้สูงอายุในเรื่องการกิน และการเที่ยว เพื่อให้นักการตลาดต้องเตรียมตัววางกลยุทธ์เพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มนี้
รู้จักสังคมผู้สูงอายุ
คำว่าสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society เป็นคำพูดที่ได้ยินมาหลายปีแล้ว กลายเป็นวาระที่กำลังพูดถึงกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะประชากรกลุ่มสูงวัย หรือคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มมากขึ้น
ทาง UN ได้กำหนดสังคมผู้สูงอายุไว้ 3 ระดับ คือ Aging Society ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สำหรับประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด Aged Society ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ สำหรับประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และ Super-aged Society ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ สำหรับประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
เมื่อดูสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุระดับโลก ในปี 2015 มีจำนวน 901 ล้านคน หรือ 12.3% คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1,402 ล้านคน หรือ 16.5% ในปี 2030 และเพิ่มเป็น 2,092 ล้านคน หรือ 21.5% ในปี 2050
ทวีปเอเชียขึ้นชื่อว่ามีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก 5 ประเทศที่มีคนสูงวัยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นญี่ปุ่น เมื่อปี 2015 มีสัดส่วน 26% และจะเพิ่มเป็น 30% ในปี 2030 รองลงมาคือสิงคโปร์มี 12% ไทย 10% จีน 10% และเวียดนาม 7%
เมื่อเจาะมาดูประชากรสูงอายุในไทยนั้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุเมื่อปี 2557 มีสัดส่วน 15% และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี 2564 และ 28% ในปี 2574 เรียกว่าเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
เรียกว่าการขยายตัวนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป กลุ่มผู้สูงวัยกำลังจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคตที่นักการตลาดต้องจับตามอง และให้ความสำคัญในการสื่อสาร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีทัศนคติ และพฤติกรรมแตกต่างจากคนกลุ่มอื่น
เจาะอินไซต์ จับใจคนสูงวัยอย่างไร
ความน่าสนใจของตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยในหัวข้อ “AWUSO Society 4.0 แก่แต่วัย หัวใจยังเก๋า” โดยนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ทำทั้งในรูปแบบการทบทวนวรรณกรรม การเก็บข้อมูลสำรวจกว่า 615 คน ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก Focused-group และวิเคราะห์กรณีศึกษา ภายในกลุ่มตัวอย่าง 615 คนนั้นเป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นผู้หญิง 64% ผู้ชาย 36% ยังทำงานอยุ่ 65% และไม่ได้ทำงานแล้ว 35%
จากการศึกษาการจัดกลุ่มอายุทำได้ 2 แบบหลักๆ คือ Chronological Aged หรือ อายุจริง และ Subjective Aged หรือ อายุใจ สิ่งที่ทำให้แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในไทยจากกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 50 – 85 ปี จำนวน 615 คน พบว่า 90% ของกลุ่มตัวอย่างมีอายุใจที่ต่ำกว่าอายุจริง และ 8% คิดว่าอายุจริงและอายุใจเท่ากัน และมีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่มองว่าตนเองมีอายุใจมากกว่าอายุจริง
เจาะพฤติกรรมทานอาหารนอกบ้าน
ผู้สูงอายุออกไปทานอาหารนอกบ้าน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ คิดเป็น 53% เป็นการไปทานอาหารกับครอบครัว หรือนัดพบปะกับเพื่อนที่คุ้นเคย เหตุผลในการเลือกร้าน กว่า 55% เลือกจากรสชาติของอาหารเป็นอันดับแรก โดยจะเป็นการเลือกไปร้านประจำที่เคยไปบ่อยๆ เพราะมั่นใจในเรื่องของคุณภาพอาหาร และรสชาติที่ถูกปาก
ผู้สูงอายุมักจะเรื่องสั่งเมนูแนะนำ โดยไม่ได้คำนึงว่าเมนูนั้นๆจะเป็นเมนูเพื่อสุขภาพหรือไม่ เพราะผู้สูงอายุยังมองว่าไม่ได้ทานทุกวัน ไม่น่าจะมีผลต่อสุขภาพ
ข้อเสนอแนะถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร
50% ของกลุ่มตัวอย่าง คือ เมนูอาหาร โดยต้องการให้เมนูมีรูปภาพ พร้อมตัวหนังสือขนาดใหญ่ ชัดเจน สามารถอ่านได้ด้วยตนเอง อันดับต่อมา 14% คือป้ายต่างๆภายในร้าน โดยผู้สูงอายุต้องการให้มีป้ายบอกเมนูแนะนำ หรือป้ายบอกทางต่างๆชัดเจน และ 13% เป็นเรื่องของทางเดินสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งควรจะเป็นทางเดินที่มีราวจับ
เจาะพฤติกรรมการท่องเที่ยว
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบท่องเที่ยวแบบกลุ่มถึง 73% โดยเดินทางไปท่องเที่ยวกับครอบครัว และเพื่อนฝูง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไปกับเพื่อน เนื่องจาก นัดง่าย ไม่ได้ทำงานแล้วมีเวลาว่าง อยู่กับเพื่อนรู้สึกได้ทำอะไรเต็มที่กว่าครอบครัว รองลงมาคือ ชอบไปเที่ยวคนเดียว 21% เพราะ ชอบอิสระ สามารถตัดสินใจเองได้เลยว่าอยากไปไหน และมีเพียง 6% ที่ไปกับทัวร์ เพราะผู้สูงอายุมักไม่ชอบไปกับคนไม่รู้จัก และการขึ้นลงรถทัวร์เป็นอุปสรรคในการเดินทาง รวมไปถึงการเที่ยวกับทัวร์มักมีเวลาจำกัด ทำให้เขารู้สึกเที่ยวไม่ได้เต็มที่
จากผลสำรวจผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว คิดเป็น 50% เนื่องจาก ชอบขับรถชมวิวทิวทัศน์สองข้างทาง และการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะทำให้สามารถแวะเข้าห้องน้ำได้ตลอด รองลงมาผู้สูงอายุนิยมขึ้นเครื่องบิน 25% เพราะเดินทางสะดวกและใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องนั่งนานๆ ไม่เหนื่อยมากสามารถเที่ยวต่อได้เลย และอันดับ 3 ผู้สูงอายุนิยมนั่งรถเช่าเหมาคันไปท่องเที่ยว 15% เพราะ ไม่เหนื่อยในการขับรถ สามารถหลับระหว่างทางได้ และรู้สึกสนุกสนานเวลาได้เช่ารถไปด้วยกันกับกลุ่มเพื่อนฝูง
จุดประสงค์ในการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ
เพื่อการพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ 71% เนื่องจาก ได้ปลดปล่อยความเครียด ชมทิวทัศน์สวยงาม ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องเร่งรีบ รู้สึกผ่อนคลายมีความสุข รองลงมาผู้สูงอายุไปท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนาน 13% เพราะ มักชอบไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนฝูงรุ่นเดียวกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เหมือนได้ย้อนไปสมัยหนุ่มสาว และอันดับ 3 ผู้สูงอายุไปท่องเที่ยวและเน้นไปทำบุญ 11% เพราะ ได้ทำบุญแล้วรู้สึกสงบ สบายใจ โดยเชื่อว่าการทำบุญให้กับชีวิตในชาตินี้ เพื่อส่งผลไปชาติหน้า และต้องการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ปัจจัยภายในที่สร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ
อันดับแรก คือ การท่องเที่ยวทำให้รู้สึกสนุก และมีความสุข 36% เนื่องจาก ได้พบเจอเพื่อนฝูง เพราะหลังจากเกษียณก็รู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว อันดับสอง คือ การท่องเที่ยวทำให้พบเจอสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ 23% เพราะ การได้ออกไปท่องเที่ยวเหมือนได้เปิดโลกให้กับตัวเอง ออกไปเรียนรู้อะไรที่เราไม่เคยเห็น และอันดับสาม คือ การท่องเที่ยวทำให้ผู้สูงอายุได้เติมเต็มความฝัน 17% เนื่องจาก ผู้สูงอายุอยากให้รางวัลแก่ตนเอง คิดว่าตนเองไม่มีภาระแล้ว จึงอยากไปท่องเที่ยวตามความฝัน
ปัจจัยภายนอกที่สร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ
ปัจจัยภายนอกที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุออกไปท่องเที่ยว อันดับแรก 41% คือความเป็นธรรมชาติเพราะว่าการไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ จะทำให้ได้รู้สึกผ่อนคลาย ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ และเมื่อไปสถานที่สวยๆแล้ว ก็จะถ่ายรูปไปแชร์ให้เพื่อนๆดูในกลุ่ม Line อันดับถัดมาจะใกล้เคียงกัน คืออาหาร 26% และวัฒนธรรม 23% เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ลองทานอาหาร และสัมผัสวัฒนธรรมใหม่ๆ
ช่องทางในการหาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
จากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุนิยมหาข้อมูลการท่องเที่ยวจากช่องทาง Offline ถึง 65% โดยกว่า 31% จะได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว หรือได้เห็นรูปสถานที่ท่องเที่ยวจากเพื่อน ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอยากไปบ้าง และรองลงมา เห็นจากรายการทีวี 18% ซึ่งรายการท่องเที่ยวทำให้ผู้สูงอายุได้เห็นความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว จึงกระตุ้นให้ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ที่รายการแนะนำ และในส่วนของช่องทาง Online มีผู้สูงอายุที่ใช้ช่องทางนี้ในการหาข้อมูลการท่องเที่ยว 35% โดยนิยมค้นหาข้อมูลผ่าน Internet 25% ว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวไหนน่าสนใจ หรือมีคน Review ว่าเป็นสถานที่ที่สวยงามน่าไปท่องเที่ยว รวมไปถึงหาข้อมูลรายละเอียดการเดินทาง
สิ่งที่อยากแนะนำผู้ประกอบการท่องเที่ยว
สถานที่นั้นๆควรจะมีอุปกรณ์ Safety เพื่อความปลอดภัยจัดเตรียมไว้ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัย และสบายใจ ทั้งนี้ด้านที่พัก ผู้สูงอายุต้องการที่พักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ทางภายในห้องพัก และบริเวณโดยรอบ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา