เว็บไซต์ Tech In Asia ลงบทสัมภาษณ์พิเศษ Connie Chan ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นพาร์ทเนอร์ของกองทุน Andreessen Horowitz กองทุน VC ชื่อดังที่ลงทุนในสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จมากมาย เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องสตาร์ทอัพในประเทศจีน ซึ่งมีหลายอย่างที่คนนอกเข้าใจผิดไปเยอะ
Connie Chan ปัจจุบันมีงานหลักคือศึกษา สังเกต รวบรวมข้อมูลสตาร์ทอัพในประเทศจีน แล้วทำรายงานสรุปให้กับทางกองทุนเกี่ยวกับเทรนด์ล่าสุดที่เกิดขึ้น เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Stanford เคยทำงานในอเมริกาก่อนย้ายกลับมาบ้านเกิดที่ปักกิ่ง
Chan เล่าว่าพลวัตของ Startup ในจีนนั้นรวดเร็วมาก มีเรื่องราวใหม่ๆ ให้ติดตามและพยายามทำความเข้าใจอยู่ตลอด แต่คนนอกยังเข้าใจว่าจีนก็แค่เป็นผู้ลอกแอพที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา แล้วเดินรอยตาม
อย่าเข้าใจว่ามันคือ … เวอร์ชันจีน
ตัวอย่างที่ Chan มองว่าคนเข้าใจผิดเยอะคือ Weibo ซึ่งสื่อต่างประเทศชอบเรียกว่า “Twitter จีน” ซึ่งการนิยามแบบนี้ทำให้คนไม่สนใจต่อว่าฟีเจอร์ข้างในคืออะไร (เพราะเข้าใจว่าก็เหมือน Twitter) ซึ่ง Chan บอกว่าระดับการเชื่อมต่อผู้คนของ Weibo นั้นทำได้ดีเทียบกับ Instagram เลยทีเดียว การโพสต์แสดงเนื้อหาต่างๆ เป็นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ของคนๆ นั้น ซึ่งแบบนี้ถือว่าเป็นมากกว่า Twitter แล้ว
แอพอีกตัวที่คนมองข้ามไปเยอะคือ WeChat ซึ่งเธอมองว่าตอนนี้ในอเมริกาไม่มีแอพไหนเลยที่ใกล้เคียง มันจึงไม่ควรถูกเทียบกับแอพใดๆ เพราะข้างในมันมีฟังก์ชันที่หลากหลาย (WeChat เรียกว่า Mini Program) และสะท้อนไลฟ์สไตล์การใช้มือถือของคนจีน เช่นเดียวกับ DiDi แอพเรียกรถแท็กซี่ ที่คนเข้าใจว่ามีแค่นั้น แต่ในตัวแอพมันมีฟีเจอร์หยิบย่อย อาทิ เรียกเฉพาะคนขับให้มาขับรถให้เราเวลาเมาออกจากผับ, ฟีเจอร์ค้นหารถเมล์ที่อยู่รอบๆ, ฟีเจอร์หน้าจอขยายใหญ่สำหรับคนแก่ เป็นต้น
ถ้าอยากเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้แอพจีนให้มากขึ้น
Chan บอกว่าช่วงแรกเธอก็ไม่เข้าใจว่าแอพจีนแต่ละตัวมันดีอย่างไร ต้องอาศัยถามเพื่อนที่อยู่ในจีนมานานเอา แต่เมื่อได้กลับมาจีน คำแนะนำของ Chan คือต้องลองใช้มันเอง และใช้ให้มากที่สุดจะเข้าใจพฤติกรรม users จีนได้ดีขึ้น
ตัวอย่างแอพที่ Chan แนะนำคือแอพ Inke ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดชีวิตตนเอง แล้วมีผู้ชมให้ของขวัญเป็นการตอบแทน แอพแนวนี้ในไทยอาจจะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับความนิยมสูงมากๆ ในประเทศจีน Chan บอกว่าหากต้องการเข้าใจแนวคิดทางสังคมที่ทำให้แอพแบบนี้นิยม ก็ต้องทดลองถ่ายทอดสดตนเองดู ซึ่ง Chan พบว่าการที่มีคนให้ของตอบแทน และเราได้เป็นฝ่ายให้ของตอบแทนด้วยเช่นกัน เป็นความรู้สึกที่ดีและอยากทำต่อเนื่องเรื่อยๆ เช่นนี้ก็พอเข้าใจวิธีคิดคนจีนมากขึ้น
ไม่ใช่ทุกอย่างที่ลอกจีนได้
ขณะเดียวกันเราได้เห็นสตาร์ทอัพแหวกแนวหลายอย่างในจีน ซึ่ง Chan บอกว่าอาจจะเป็น China Only และประเทศอื่นคงไม่สามารถลอกตามได้ง่ายๆ ตัวอย่างคือแอพเช่าจักรยานทั้งหลาย ซึ่งวิธีปฏิบัติในจีนคือการใช้ QR Code (ที่ประเทศอื่นไม่นิยม) และการติดตั้งจักรยานตามที่สาธารณะ ซึ่งในจีนนิยมทำไปก่อน แล้วให้หน่วยงานรัฐมาจับปรับทีหลัง
สุดท้าย Chan บอกว่าแนวโน้มที่น่าสนใจในสตาร์ทอัพจีนตอนนี้คือ Fintech และการจ่ายเงินผ่านมือถือทั้งหลาย เธอบอกว่าเพราะมันทำให้ธุรกิจหลายอย่างที่เดิมไม่คุ้มค่าทำ หากต้องมีคนมาคอยรับจ่ายเงิน สามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะติดตั้งสถานีและใช้มือถือจ่ายเงินแทน อาทิ เช่าจักรยาน, เช่าร่ม, เช่าลูกบาสเกตบอล ก็น่าจะทำให้เกิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ทางธุรกิจมากขึ้นจากนี้
ที่มา: Tech In Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา