เจาะลึกดีล BuzzFeed ซื้อ HuffPost: อนาคตของวงการสื่อยุคใหม่อยู่ที่ไหน?

BuzzFeed HuffPost

หน้าข่าวคือเข้าซื้อกิจการ เบื้องหลังคือเจ้าของอยากขายทิ้ง

ข่าวการเข้าซื้อกิจการ HuffPost โดย BuzzFeed ถือเป็นเรื่องใหญ่ของวงการสื่อโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะหากดูในแง่ของขนาด เมื่อ “BuzzFeed + HuffPost” จะกลายเป็นสื่อออนไลน์ที่มียอดเข้าชมเว็บไซต์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตามหลังเพียง CNN, BBC, The New York Times และ The Guardian

แม้ว่าดีลนี้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขในการเข้าซื้อกิจการ แต่สุดท้ายแล้วดีลนี้คือการซื้อหุ้น เพราะ Verizon Media จะได้เข้าถือหุ้นใน BuzzFeed นักวิจารณ์บางคนถึงกับบอกว่า ดีลนี้คือการที่ Verizon จ่ายเงินเพื่อให้ BuzzFeed เข้าซื้อ HuffPost บริษัทลูกของตัวเองด้วยซ้ำ

เรื่องนี้มีมูลอยู่ไม่น้อย

แหล่งข่าววงในที่ไม่เปิดเผยตัวตนของ HuffPost ให้ข้อมูลกับ The New York Times ว่า ในช่วงหลังๆ มา Verizon แทบจะไม่สนใจ HuffPost เลย เวลาที่มีการประชุมใหญ่ของบริษัทก็แทบจะไม่มีการพูดถึง แถมในช่วงโควิดที่ผ่านมา รายได้ของ HuffPost ก็ตกต่ำลงอย่างมาก

ดีลนี้อาจพูดง่ายๆ ได้ว่าสมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ BuzzFeed ที่ได้ HuffPost มาขยายฐานทั้งในแง่ผู้อ่านและรายได้โฆษณาในอนาคต รวมถึงเจ้าของ BuzzFeed ก็ได้ HuffPost คืนสู่อ้อมอกอีกครั้ง (เจ้าของ BuzzFeed คือ Jonah Peretti เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง HuffPost ในปี 2005 อ่านประวัติชีวิตของเขาได้ที่บทความ รู้จัก BuzzFeed และ Upworthy ต้นกำเนิดของเว็บไวรัลที่จะทำให้คุณต้องทึ่ง) ส่วนฝ่ายของ Verizon ก็ได้ลงทุนใน BuzzFeed แถมปลดเปลื้องพันธนาการของ HuffPost ออกไปให้ BuzzFeed ดูแลแทน

หลังจากนี้ Jonah Peretti จะมีอำนาจดูแลทั้ง BuzzFeed และ HuffPost แต่จะหาคนมาทำ ส่วนในด้านการทำงานในระยะเปลี่ยนผ่านจะยังแยกกันทำงานอย่างอิสระ คาบเกี่ยวกันเฉพาะการแบ่งปันคอนเทนต์และโฆษณารายได้

ข่าวลือปลดคนหลังเข้าซื้อกิจการ

ที่น่าประหลาดใจคือคนทำงานในฝั่ง HuffPost ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า BuzzFeed จะเข้าซื้อหรือ Verizon จะขายกิจการ

อันที่จริงแล้ว พนักงานของ HuffPost เพิ่งมารู้ทีหลังจากเอกสารที่เผยแพร่สู่สาธารณะว่ามีการซื้อขายกิจการกันแล้ว หรือแม้กระทั่ง Celeste Lavin บรรณาธิการหน้าหนึ่งของ HuffPost ที่บอกว่าตอนรู้ว่าเกิดดีลนี้ขึ้น “พวกเราตกใจอย่างมาก”

แต่หลังจากที่ดีลเกิดขึ้น ข่าวลือในฝั่ง HuffPost ก็แพร่สะพัดว่าน่าจะมีการปลดคน เพราะมีหลายตำแหน่งทับซ้อนกัน เช่น พนักงานที่ปฏิบัติงานทั่วไป แอดมิน และแผนกที่ทำด้านการเงิน ส่วนฝ่ายข่าวแม้ว่าจะยังแยกกันทำงาน แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นอนว่าจะทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันได้นานแค่ไหน

Tablet computer with news articles Photo: Getty Images

อนาคตของวงการสื่อ(ใหม่) เมื่อขนาดไม่ได้แปลว่า “จะอยู่รอด”

หากมองดีลนี้ในภาพใหญ่ การเดินเกมของ BuzzFeed สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ขนาด (size) ของธุรกิจสื่อเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลำพัง BuzzFeed เพียงคนเดียวอาจอยู่รอดไม่ได้

ในวงการสื่อยุคใหม่จะมีคำพูดทำนองว่า “Digital Media needs size to survive” (สื่อดิจิทัลต้องใหญ่พอจึงจะอยู่รอดได้)

ก็แน่นอนว่า ในกรณีของ BuzzFeed + HuffPost ย่อมไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยๆ ในช่วง 1-2 ปีนี้ บรรดาสื่อใหม่ต่างเข้าซื้อสื่อใหม่ด้วยกันเอง เช่น Vox Media ซื้อ New York Magazine, Vice Media ซื้อ Refinery29 และ Group Nine ควบรวมกิจการกับ PopSugar

BuzzFeed เข้าซื้อ HuffPost เป็นเพียงกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นเท่านั้น

  • แต่คำถามคือ ขนาดของสื่อ แปลว่าอยู่รอดได้จริงๆ หรือ? 

Jill Abramson อดีตบรรณาธิการข่าวของ The New York Times และเป็นผู้เขียนหนังสือ Merchants of Truth หนังสือที่พูดถึงธุรกิจวงการสื่อไว้อย่างดุดัน เธอบอกว่า “ในกรณีที่สื่อใหม่ผนึกกำลังกัน ฉันไม่คิดว่ามันคือความแข็งแกร่ง อันที่จริงมันเป็นสัญญาณของความอ่อนแอด้วยซ้ำ เพราะถ้าควบรวมกันแล้ว ยังต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณาเหมือนอย่างที่ BuzzFeed และ HuffPost กำลังทำอยู่”

นั่นคือหนึ่งมุมมองจากคนที่คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน แถมเคยอยู่ใน The New York Times ที่ใช้โมเดลสมัครสมาชิก (subscription model) ที่สุดท้ายแล้วแม้จะหนีตายจากการเข้ามาแย่งชิงรายได้ของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook ได้ แต่ก็ดูเหมือนว่า จะมีผู้รอดอยู่ไม่กี่ราย

สิ่งที่น่าสนใจคือ แหล่งข่าววงในที่เปิดเผยกับ Business Insider ระบุว่า การเข้าซื้อ HuffPost เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนี้ BuzzFeed จะใช้ความได้เปรียบจากฐานที่ใหญ่ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเข้าซื้อสื่อใหม่รายอื่นๆ ต่อไปอย่างแน่นอน

นี่คือกระบวนท่าในการแข่งขันของสื่อดิจิทัลที่แตกต่างกัน ซึ่งน่าติดตามเป็นอย่างมาก

อ้างอิง – WSJ, NYT, Business Insider, The Guardian, Digiday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา