จากโปรตีนผงหนอนแมลงวันถึงชีสหนอนด้วง ทางเลือกโปรตีนที่อร่อยและคุ้มค่า เมื่อไทยอาจกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

บทความโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นคำที่มีมาหลายสิบปี เริ่มถูกกล่าวถึงในช่วงปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารอย่างหนัก นำไปสู่การมุ่งเน้นการทำให้มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคเป็นหลัก ผ่านกระบวนการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยี สารเคมี และการตัดต่อยีนส์ แต่แม้จะมีอาหารจำนวนมาก แต่การขาดแคลนอาหารของคนยากจนก็ยังคงอยู่

ดังนั้นแมลงอาจเป็นอีกทางเลือกของโปรตีน ที่ไม่ใช่ในแง่มุมของความอร่อยและรสชาติ แต่หมายรวมถึงทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ที่ไทยอาจจะกำลังเผชิญอยู่ด้วย

*หมายเหตุ แมลงมีสารไคติน (Chitin) แบบเดียวกับสัตว์ทะเลจำพวกมีเปลือก เช่น กุ้ง ปู ดังนั้นคนที่แพ้สารไคตินในกุ้งหรือปู ควรหลีกเลี่ยงการทานแมลง*

โปรตีนทางเลือก

การพูดถึงความมั่นคงทางอาหารในเวทีโลกมีพัฒนาการเรื่อยมา ทั้งการใช้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกระจายการเข้าถึงอาหารในช่วงปี 1980 จนกระทั่งในปี 1990 ความมั่นคงทางอาหารถูกขยายนิยามให้ครอบคลุมถึง “ความปลอดภัยทางอาหาร” กล่าวคือ ไม่ใช่แค่มีอาหารพอ แต่อาหารนั้นต้องมีคุณภาพ

ในปัจจุบันนิยามของความมั่นคงทางอาหารได้ยึดตามองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้

  1.  การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) อาหารมี ‘คุณภาพ’ ที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ สม่ำเสมอ
  2.  การเข้าถึงอาหาร (Food Access) ซึ่งคนในสังคมสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ
  3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน หรือการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี อาหารในแง่นี้รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะด้วย
  4. การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) เน้นย้ำ ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ กล่าวคือทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤติใด ๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ

จากนิยามข้างต้น ภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดในระยะเวลาอันใกล้คงเป็นปรากฎการณ์ “หมูแพง” ในประเทศไทยอันมีที่มาจากโรคระบาด จนหมูขาดแคลน ซึ่งก็พอทำให้เห็นภาพการขาดแคลนอาหารที่กระทบชีวิตคนเมืองได้อย่างชัดเจน และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งภูมิอากาศ โรคระบาด ไปจนภาวะโลกร้อนทั้งหมดล้วนเป็นสารตั้งต้นให้เกิด แล็ปอาหารจากแมลงที่ชื่อ Exofood Thailand ขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน มีการวิจัยและจัดทำแมลงเพื่อเป็นอาหารทั้งสำหรับคน และสัตว์เลี้ยง

ราคาหมูช่วงกลางจนถึงปลายปีที่แล้วที่ค่อนข้างแพง

อธิวัชร พงษ์ศรัทธาสิน หรือบูม ผู้ร่วมก่อตั้ง Exofood Thailand วัย 35 อธิบายว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้เขาเห็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบกับความรู้ที่เขามีเรื่องแมลง จากที่เขาเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด และเกือบทุกชนิดกินแมลงเป็นอาหาร นำไปสู่การศึกษาเรื่องแมลงอย่างลึกซึ้ง

“แล็ปนี้ได้เกิดขึ้นมาเพราะว่าความมั่นคงทางอาหารในปัจจุบัน คนเรายังไม่ค่อยรู้สึกกับมันเท่าไร คนเมืองยังเข้าใจว่ายังสามารถจับจ่าย เข้าถึงอาหารได้ และได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เสถียรภาพในการเข้าถึงอาหารยังมีเพียงพอในปัจจุบัน แต่กลับกันในข้อมูลของ FAO ซึ่งได้ทำงานวิจัยมาว่าประเทศไทย มีความไม่มั่นคงทางอาหาร อย่างเช่น กรณีหมูแพงนี่เห็นได้ชัด มันหมายความว่า Food Availability มันมีไม่เท่าเดิม พวกนี้ก็จะเกี่ยวเนื่องถึงในอนาคตที่จะเห็นชัดมากขึ้น ประเด็นหลักเลยคือจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น”

โปรตีนทางเลือก
คุณบูม อธิวัชร พงษ์ศรัทธาสิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Exofood Thailand

แมลง ทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดโลกร้อนไปในตัว

บูมอธิบายต่อว่าในอนาคตการผลิตอาหารจะทำได้ไม่เพียงพอต่อประชากรที่กำลังจะเพิ่มขึ้น อาหารไม่สามารถพัฒนาได้มากกว่าเดิม เนื่องจากปัญหาโลกร้อน การทำปศุสัตว์ ฟาร์มหมู ฟาร์มวัว อาหารแปรรูปต่างๆ ทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก หรือแม้แต่การใช้น้ำ หากเทียบแล้วแตกต่างกับแมลงอย่างเห็นได้ชัด

กล่าวคือการเลี้ยงปศุสัตว์มีการใช้น้ำ และทุกกระบวนการก่อให้เกิดแก๊สมีเทน ซึ่งนับเป็น Greenhouse Gas Emission ที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนโดยตรง เมื่อเปรียบเทียบเป็นการผลิตโปรตีน 1 กก. แล้วนั้น หากเป็นไก่จะอยู่ที่ 300 กรัม หมู 1,310 กรัม เนื้อวัว 2,850 กรัม และแมลงเพียง 1 กรัม

สิ่งที่ส่งเสริมความคิดของบูมคือประเทศไทยเหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงแมลง เพราะประเทศไทยมีแสงแดด 12 ชั่วโมง มีกลางคืน 12 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยงแมลง

“ต่างประเทศเช่น สแกนดิเนเวีย ยุโรป อเมริกาที่มีการรณรงค์ให้รับประทานแมลงเป็นอาหาร (Edible insect) ประเทศเหล่านั้นมีอัตราการบริโภคแมลงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน แต่เขาไม่สามารถเลี้ยงได้เท่าเรา เพราะอุณหภูมิไม่ได้ มันหนาวแมลงตาย แสงแดดก็ได้ไม่เท่าเรา เข้าหน้าหนาวบางวันก็มีพระอาทิตย์แค่ 5-6 ชั่วโมง ทำให้ต้องลงทุนมหาศาล ต้องทำห้องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้เลี้ยงได้เท่าประเทศไทย แต่ประเทศไทยสามารถเลี้ยงแบบ Outdoor ได้สบายๆ”

 

โปรตีนทางเลือก
ผงโปรตีนสกัดจากแมลง (ผงซ้ายสุด) ถูกวางในถาดเหล็กเทียบกับสารโปรตีนอื่นๆ ได้แก่ สารสกัดแมลงผสมถั่วปากอ้า และถั่วปากอ้าบด (ตามลำดับ)

แมลงกินได้ควรแทรกอยู่ในมื้ออาหาร

การพยายามสร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์แมลงของ Exofood Thailand เป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญลำดับต้นๆ แมลงที่จะนำมาผลิตอาหารเหล่านี้ บูมอธิบายว่าเขาใช้นักกีฏวิทยาในการดูแลแมลง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโดยตรง นอกจากนี้กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนกินได้ เขายังใช้กระบวนการ Sensory evaluation หรือ การประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสเพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านแล็ปนี้ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

“คือเราคิดมาเสมอว่าเราไม่ต้องการให้คนกินแมลงเป็นตัว มันควรไปอยู่ในเมนูอาหารอะไรก็ได้โดยที่คนเราไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพราะพฤติกรรมการกินมันเปลี่ยนยากที่สุด “

และเพื่อให้เห็นภาพ การสาธิตกระบวนการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสที่ Exofood ใช้กับผู้คนทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาเรื่องแมลงที่นี่ก็เริ่มขึ้น

หนอนรสโกโก้-ผงโปรตีน
โปรตีนทางเลือก
BSF (Black Soldier Fly Larvae) หรือหนอนแมลงวันลายแบบอบและแบบสกัดเป็นผงโปรตีนที่เป็นอาหารเสริม

เริ่มแรกบูมจะลองให้ดมกระปุก 3 กระปุก ซึ่งมีผงสีน้ำตาลเข้มอยู่ภายใน โดยมีคำถามหลังการดมคือ “คิดว่ากระปุกไหนคือโกโก้”

ซึ่งทั้ง 3 กระปุกจะมีกลิ่นใกล้เคียงกันจนน่าตกใจ ก่อนที่บูมจะเฉลยว่ากระปุกไหนคือผงจากแมลงซึ่งแน่นอนว่าแยกได้อย่างยากยิ่ง

ผงกลิ่นโกโก้จากแมลงนี้บูมเปิดเผยว่ามันคือผงโปรตีนสีน้ำตาล สกัดและแปรรูปจากหนอนแมลงวันลาย หรือ BSF (Black Soldier Fly Larvae) ซึ่งโดยทั่วไปก่อนการแปรรูปจะถูกใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่ม Exotic pet เช่น ชูก้าไรเดอร์ ตุ๊กแก เป็นต้น

“ตอนนี้โดยทั่วไปก็ยังเป็นอาหารสัตว์อยู่ เพราะชื่อเหมือนหนอนแมลงวัน ทำให้คนไม่กล้าจะเปิดรับ ซึ่งเราก็ลองคิดว่าจะใช้หลักการใดเข้ามาช่วยให้มันเกิดเป็นโปรดัคของเราให้ได้ เราก็เลยจัดทำการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสโดยนำไปอบในแต่ละอุณหภูมิ เพื่อให้มันได้กลิ่นที่ใกล้เคียงกับอาหารของคนมากที่สุด”

ในที่สุดเมื่อทดลองด้วยการอบและเทคนิคที่หลากหลาย บูมก็ได้ BSF ที่เป็นผงคล้ายโกโก้ กล่าวคือหากต้องการจะทำขนมหรืออาหารที่ใช้โกโก้ หรือชอคโกแลตเป็นส่วนประกอบ เช่น บราวนี่ แป้งโปรตีนจาก BSF ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยที่คนกินไม่รู้สึกแปลก เนื่องจากวัตถุดิบจากแมลงอยู่ในเมนูอาหารปกติไปเรียบร้อยแล้ว

และเพื่อมาตรฐานการกินในระดับที่คนกินได้ แมลงทุกตัวที่ถูกเพาะเลี้ยงโดย Exofood จำเป็นต้องกินอาหารที่สะอาดที่สุด

“BSF นี้ หากเป็นปกติก็สามารถนำตัวที่เป็นแห้งให้สัตว์กิน เลี้ยงสดๆ ตักให้สัตว์กินก็ทำได้ ทั่วไปก็ทำกัน แต่เราก็เปลี่ยนโพรเซส เปลี่ยนการเลี้ยงให้ถูกต้อง ไม่ใช่แมลงไปกินขยะเหลือมา แต่มันกินอาหารที่เราจัดเตรียมให้ ไม่เน่า ไม่เสีย”

“คือนักกีฏวิทยาที่ผมทำงานด้วย เขาค่อนข้างซีเรียสเรื่องการเลี้ยงแมลงให้คนกินได้จริงๆ คือมันเป็นเรื่องดี คือเรื่องมาก แต่ได้คุณภาพ”

โปรตีนเสริม
หนอนแมลงวันที่ถูกเลี้ยงด้วยข้าวโอ๊ต

แม้แต่หนอนนกหรือ Mealworm แมลงอีกชนิดที่ทานได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงปกติจะถูกเลี้ยงด้วยเศษผลไม้ และเศษอาหารเหลือทิ้ง แต่ภายใต้การดูแลของ Exofood บูมตัดสินใจเลี้ยงมันด้วยข้าวโอ๊ต

นอกจากนี้หนอนแล้ว แมลงอีกตัวหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือ สะดิ้ง ซึ่งสามารถนำไปสกัดเป็น protein hydrolysis สารสกัดโปรตีนออกมาให้เป็นอนุภาคเล็กที่สุด มีลักษณะเป็นผงโปรตีน เรียกว่า Cricket Powder โดย Exofood มีการพยายามพัฒนาทำผลิตภัณฑ์จากผโปรตีนนี้ออกมารูปแบบอื่นๆ เช่น นมอัดเม็ดจากผงโปรตีนจิ้งหรีด เป็นต้น

โปรตีนเสริม
ผงโปรตีนสกัดจากแมลงสะดิ้ง ตัวแมลง และนมอัดเม็ดจากโปรตีนสะดิ้งถูกวางเปรียบเทียบบนถาดเหล็ก

หนอนด้วงสาคู อาหารของวันพรุ่งนี้

ไฮไลท์ของ Exofood คือหนอนด้วงสาคู ซึ่งสามารถหาทานได้ทั่วไป แต่เมื่อ Exofood ลงมือพัฒนาอย่างจริงจัง สิ่งนี้จึงกลายป็นอาหารแห่งอนาคต เพราะสิ่งที่ได้จากด้วงสาคูเราไม่ได้มีแค่โปรตีนเป็นหลัก แต่กลับเป็นไขมัน ซึ่งหากจำแนกปริมาณสารอาหารแล้ว ด้วงสาคู 100 กรัม มีสารอาหารแบ่งเป็น 1.โปรตีน 25.8 กรัม 2.ไขมัน 38.5 กรัม 3.กากใย 2.1 กรัม 4.คาร์โบไฮเดรต 33.2 กรัม และเป็นพลังงานรวม 583 กิโลแคลเลอรี่

แม้คุณค่าทางโภชนาการหนอนด้วงสาคู จะมีไขมันมากกว่าโปรตีน แต่เป็นไขมันที่เต็มไปด้วย HDL (high-density lipoprotein) หรือก็คือไขมันดี ซึ่ง ป็นไขมันที่นำคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์จากหลอดเลือดแดง กับเนื้อเยื่อไปทำลายที่ตับ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน การอักเสบ และการแข็งตัวของเลือดโดยทั่วไป HDL จะอยู่ในอะโวคาโด ปลาแซลมอน อัลมอนด์ อยู่ในอาหารหลายๆ ชนิดที่ราคาสูง ทว่าทำให้ได้ในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าผ่านการใช้ด้วงสาคู

โปรตีนเสริม
หนอนด้วงสาคูตัวอวบอ้วน โปรดัคที่กำลังถูกพัฒนาเพื่ออนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น ทางExofood ยังไปเป็นพาทเนอร์กับโรงงานน้ำมะพร้าว ที่ทำน้ำมะพร้ามออแกนนิค ซึ่งมีเนื้อมะพร้าวเหลือใช้ Exofood จึงนำเอาเนื้อมะพร้าวเหล่านั้นมาเลี้ยงด้วงสาคู ทำให้หนอนด้วงสาคูมีกลิ่นและรสชาติเหมือนไอศครีมกะทิ ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเป็นชีสได้ และเมื่อกลายเป็นชีส สสารจากแมลงเหล่านี้จึงสามารถอยู่ในอาหารได้หลากหลาย เช่น ชีสทาร์ต และไอศกรีม

“ด้วงสาคูนี้เลี้ยงแบบ Edible insect เพราะมันไม่ได้มีแค่โปรตีน คือเราลองเอาไปทอด อบ ฟรีซดรายด์ ให้มันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ เอาด้วงสาคูไปทำชีสเลย ทำไม่ได้ มันต้องมีโปรเซสเฉพาะ”

ซึ่งกระบวนการการสร้างหนอนด้วงสาคูเราทำมาเฉพาะตั้งแต่การเลี้ยง มีการจัดการระบบการเลี้ยงดู ให้เลี้ยงให้กลิ่นไปในทางเดียวกันผ่านอาหารที่ให้ เช่น มะพร้าว ฟักทอง เป็นต้น ทำให้เมื่อลองชิมหนอนด้วงสาคูของ Exofood ก็พบรสชาติและกลิ่นทั้งมะพร้ามและฟักทองอย่างชัดเจน

โปรตีนเสริม
ภาพเปรียบเทียบอาหารที่ถูกนำมาทำขนมถูกฉายบนผนัง โดยขนมหวานในภาพคือทาร์ตจากชีสด้วงหนอนสาคู

“คือหนอนด้วงสาคูไม่สามารถเอาไปทำเป็นแป้ง หรือทำแบบแห้งได้ มันไม่พากันไป เราเลยเอามาลองทำเป็นของเปียก เช่น ชีส ส่วนสะดิ้งเหมาะกับทำเป็นแป้ง”

บูมยังอธิบายเพิ่มว่าข้อควรระวังสำคัญของคนที่สนใจกินแมลงคืออาการแพ้ เนื่องจากแมลงมีไคตินอยู่ในเปลือกเฉกเช่นเดียวกับเปลือกกุ้ง ปู และหอย ดังนั้นหากอยากเข้าสู่วงการกินแมลง ก็จำเป็นต้องระวังจุดนี้ด้วย

แมลงสำหรับสัตว์เลี้ยง

โปรตีนทางเลือก
ตุ๊กแกเผือก Exotic pet ของบูม นอนนิ่งบนฝ่ามือ เนื่องจากดวงตาไม่สามารถสู้แสงสว่างได้มากนัก สัตว์เลี้ยงกลุ่มมีอาหารหลักเป็นแมลง

นอกจากแมลงที่คนกินได้ Exofood ยังผลิตอาหารสำหรับสัตว์ ซึ่งมีตั้งแต่ BSF หนอนนก และสะดิ้ง ไปจนถึงแมลงที่แค่ชื่อก็ชวนสยอง อย่าง แมลงสาปดูเบีย

เจ้าดูเบียนี้ เป็นแมลงสาปจากอะเจนติน่า แต่ก็มีความน่าสยองขวัญที่ลดลงจากแมลงสาปทั่วไปคือ ตัวผู้มีปีกเอาไว้ร่อนลงอย่างเดียว ตัวเมียปีกสั้นบินไม่ได้ แถมดูแลง่ายเพราะเชื่องช้า ไม่ค่อยไต่ออกมาจากถาดเลี้ยง รวมถึงเป็นเรื่องยากที่จะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในประเทศไทย เพราะว่าดูเบียใช้เวลาถึง 6 เดือนถึงจะเจริญพันธุ์ได้ และเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ชะตากรรมปลายทางคือกลายเป็นอาหาร

“เขาต่างจากแมลงสาปท่อที่เราเห็นตามบ้าน ที่พอเราจิ้มแล้วมันบิน แต่ตัวนี้ไม่บิน เขาร่อนได้อย่างเดียว เพราะเขาเป็นแมลงสาปที่อยู่ใต้แผ่นไม้ กินผลไม้เป็นอาหาร เรียกได้ว่าเกิดมาเป็นเหยื่อโดยเฉพาะ”

ในต่างประเทศนักวิทยาศาสตร์ก็มีการเอามาสกัดเป็นแป้งทำขนมปัง เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารต้านการอักเสบ มีโปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการมาก แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็น “แมลงสาป” ทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนอกจากนำไปให้สัตว์เลี้ยงกิน

โปรตีนทางเลือก
แมลงสาปดูเบีย แมลงสาปที่เกิดมาเพื่อเป็นเหยื่อหรืออาหาร และบินไม่ได้

เพราะแมลงคุ้มค่าต่อการลงทุน

Exofood ไม่ได้มีเพียงแลปที่เพาะเลี้ยงและค้นคว้าเรื่องแมลง แต่มีศูนย์เลี้ยงแมลงเพื่อการขายต่อให้พาร์ทเนอร์ในการพัฒนาวงการอาหารจากแมลง ซึ่งลูกค้าในไทยจะเน้นไปที่แมลงที่เป็นอาหารสัตว์ ส่วนต่างประเทศเน้นที่แมลงสำหรับอาหารคน โดยมีศูนย์เพาะเลี้ยง 3 แห่ง  ได้แก่ ศูนย์เพาะเลี้ยงสะดิ้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ศูนย์เพาะเลี้ยงด้วงสาคูอยู่ที่ถนนพระราม2 และศูนย์เลี้ยง BSF อยู่ที่ลำปาง

 ซึ่งการเพาะเลี้ยงแมลงนั้นก็มีข้อได้เปรียบที่การใช้พื้นที่ เทียบกับปศุสัตว์แบบอื่น

“ตัวอย่างคือ ที่ผมเลี้ยงด้วงสาคูที่โรงงานผมที่พระราม2 ก็มี 1,000 กะละมัง ใช้ 10 คนดูแล เพราะว่าการเลี้ยงแมลงมันไม่ต้องทำทุกวัน แมลงมันใช้เวลาเจริญเติบโต เรา Bedding ปูพื้นให้เขาอยู่ ทำใส่กะละมังไว้ ทิ้งไว้ 3 วัน เอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาใส่ กะละมังไซส์กะละมังซักผ้า ได้กะละมังละประมาณ 2 โลครึ่ง ทั้งหมดก็ได้ 2 ตัน ถ้า Full capacity”

และจากปริมาณการผลิตแมลงแล้ว สารอาหารที่ได้จากแมลงยังมีปริมาณสูง เช่น ในปริมาตรการเสิร์ฟอาหาร 200 แคลเลอรี่ BSF หรือหนอนแมลงวันลายให้โปรตีนถึง 33.8 กรัม แมลงจำพวกจิ้งหรีด หรือสะดิ้ง 31 กรัม ในขณะที่เนื้อวัวแบบมีไขมัน 10% ให้โปรตีน 22.4 กรัม และแซลมอน 20.4 กรัม

โปรตีนทางเลือก
นมอัดเม็ดจากโปรตีนของตัวสะดิ้ง ที่รสชาดไม่แตกต่างจากนมอัดเม็ดจิตรลดา

นี่คืออนาคต

ไม่ใช่แค่การวิจัยแมลงเพื่อการกินเท่านั้น Exofood ยังมีภารกิจด้านการศึกษาที่เปิดเวิร์คชอปให้กับนักเรียนนักศึกษา และคนทั่วไปที่สนใจเรื่องแมลงเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งบูมอธิบายว่ายังมีอีก 2 ประเด็นที่ Exofood ให้ความสนใจ คือ ไบโอคอนโทรล หรือการเลี้ยงแมลงเพื่อเอาไปจัดการศัตรูพืช และการเลี้ยงแมลงเพื่อการศึกษา เช่น เลี้ยงมด เลี้ยงตั๊กแตนตำข้าวสวยงาม ตัํกแตนใบไม้ เป็นต้น โดยในปัจจุบันการเลี้ยงตั๊กแตนตำข้าวสวยงามมีมากขึ้น

การเปิดเวิร์คชอปยังเปิดโอกาสให้บูมได้พูดคุยและทำความเข้าใจเรื่องแมลงกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งเป้าหมายของเขาคือการทำให้คนที่เห็นแมลงแล้วส่ายหน้า สามารถยอมรับในสิ่งที่เขาทำอยู่ได้ เมื่อเห็นว่าแมลงที่ผ่านโพรเซสของExofood สะอาด มีคุณภาพ กินได้ เข้าถึงง่าย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำได้หากพิถีพิถันกับการเลี้ยงแมลง

….เพราะนี่คืออนาคต ของทรัพยากรอาหาร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา