บทความโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นคำที่มีมาหลายสิบปี เริ่มถูกกล่าวถึงในช่วงปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารอย่างหนัก นำไปสู่การมุ่งเน้นการทำให้มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคเป็นหลัก ผ่านกระบวนการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยี สารเคมี และการตัดต่อยีนส์ แต่แม้จะมีอาหารจำนวนมาก แต่การขาดแคลนอาหารของคนยากจนก็ยังคงอยู่
ดังนั้นแมลงอาจเป็นอีกทางเลือกของโปรตีน ที่ไม่ใช่ในแง่มุมของความอร่อยและรสชาติ แต่หมายรวมถึงทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ที่ไทยอาจจะกำลังเผชิญอยู่ด้วย
*หมายเหตุ แมลงมีสารไคติน (Chitin) แบบเดียวกับสัตว์ทะเลจำพวกมีเปลือก เช่น กุ้ง ปู ดังนั้นคนที่แพ้สารไคตินในกุ้งหรือปู ควรหลีกเลี่ยงการทานแมลง*
การพูดถึงความมั่นคงทางอาหารในเวทีโลกมีพัฒนาการเรื่อยมา ทั้งการใช้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกระจายการเข้าถึงอาหารในช่วงปี 1980 จนกระทั่งในปี 1990 ความมั่นคงทางอาหารถูกขยายนิยามให้ครอบคลุมถึง “ความปลอดภัยทางอาหาร” กล่าวคือ ไม่ใช่แค่มีอาหารพอ แต่อาหารนั้นต้องมีคุณภาพ
ในปัจจุบันนิยามของความมั่นคงทางอาหารได้ยึดตามองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
- การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) อาหารมี ‘คุณภาพ’ ที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ สม่ำเสมอ
- การเข้าถึงอาหาร (Food Access) ซึ่งคนในสังคมสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ
- การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน หรือการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี อาหารในแง่นี้รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะด้วย
- การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) เน้นย้ำ ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ กล่าวคือทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤติใด ๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ
จากนิยามข้างต้น ภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดในระยะเวลาอันใกล้คงเป็นปรากฎการณ์ “หมูแพง” ในประเทศไทยอันมีที่มาจากโรคระบาด จนหมูขาดแคลน ซึ่งก็พอทำให้เห็นภาพการขาดแคลนอาหารที่กระทบชีวิตคนเมืองได้อย่างชัดเจน และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งภูมิอากาศ โรคระบาด ไปจนภาวะโลกร้อนทั้งหมดล้วนเป็นสารตั้งต้นให้เกิด แล็ปอาหารจากแมลงที่ชื่อ Exofood Thailand ขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน มีการวิจัยและจัดทำแมลงเพื่อเป็นอาหารทั้งสำหรับคน และสัตว์เลี้ยง
อธิวัชร พงษ์ศรัทธาสิน หรือบูม ผู้ร่วมก่อตั้ง Exofood Thailand วัย 35 อธิบายว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้เขาเห็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบกับความรู้ที่เขามีเรื่องแมลง จากที่เขาเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด และเกือบทุกชนิดกินแมลงเป็นอาหาร นำไปสู่การศึกษาเรื่องแมลงอย่างลึกซึ้ง
“แล็ปนี้ได้เกิดขึ้นมาเพราะว่าความมั่นคงทางอาหารในปัจจุบัน คนเรายังไม่ค่อยรู้สึกกับมันเท่าไร คนเมืองยังเข้าใจว่ายังสามารถจับจ่าย เข้าถึงอาหารได้ และได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เสถียรภาพในการเข้าถึงอาหารยังมีเพียงพอในปัจจุบัน แต่กลับกันในข้อมูลของ FAO ซึ่งได้ทำงานวิจัยมาว่าประเทศไทย มีความไม่มั่นคงทางอาหาร อย่างเช่น กรณีหมูแพงนี่เห็นได้ชัด มันหมายความว่า Food Availability มันมีไม่เท่าเดิม พวกนี้ก็จะเกี่ยวเนื่องถึงในอนาคตที่จะเห็นชัดมากขึ้น ประเด็นหลักเลยคือจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น”
แมลง ทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดโลกร้อนไปในตัว
บูมอธิบายต่อว่าในอนาคตการผลิตอาหารจะทำได้ไม่เพียงพอต่อประชากรที่กำลังจะเพิ่มขึ้น อาหารไม่สามารถพัฒนาได้มากกว่าเดิม เนื่องจากปัญหาโลกร้อน การทำปศุสัตว์ ฟาร์มหมู ฟาร์มวัว อาหารแปรรูปต่างๆ ทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก หรือแม้แต่การใช้น้ำ หากเทียบแล้วแตกต่างกับแมลงอย่างเห็นได้ชัด
กล่าวคือการเลี้ยงปศุสัตว์มีการใช้น้ำ และทุกกระบวนการก่อให้เกิดแก๊สมีเทน ซึ่งนับเป็น Greenhouse Gas Emission ที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนโดยตรง เมื่อเปรียบเทียบเป็นการผลิตโปรตีน 1 กก. แล้วนั้น หากเป็นไก่จะอยู่ที่ 300 กรัม หมู 1,310 กรัม เนื้อวัว 2,850 กรัม และแมลงเพียง 1 กรัม
สิ่งที่ส่งเสริมความคิดของบูมคือประเทศไทยเหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงแมลง เพราะประเทศไทยมีแสงแดด 12 ชั่วโมง มีกลางคืน 12 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยงแมลง
“ต่างประเทศเช่น สแกนดิเนเวีย ยุโรป อเมริกาที่มีการรณรงค์ให้รับประทานแมลงเป็นอาหาร (Edible insect) ประเทศเหล่านั้นมีอัตราการบริโภคแมลงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน แต่เขาไม่สามารถเลี้ยงได้เท่าเรา เพราะอุณหภูมิไม่ได้ มันหนาวแมลงตาย แสงแดดก็ได้ไม่เท่าเรา เข้าหน้าหนาวบางวันก็มีพระอาทิตย์แค่ 5-6 ชั่วโมง ทำให้ต้องลงทุนมหาศาล ต้องทำห้องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้เลี้ยงได้เท่าประเทศไทย แต่ประเทศไทยสามารถเลี้ยงแบบ Outdoor ได้สบายๆ”
แมลงกินได้ควรแทรกอยู่ในมื้ออาหาร
การพยายามสร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์แมลงของ Exofood Thailand เป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญลำดับต้นๆ แมลงที่จะนำมาผลิตอาหารเหล่านี้ บูมอธิบายว่าเขาใช้นักกีฏวิทยาในการดูแลแมลง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโดยตรง นอกจากนี้กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนกินได้ เขายังใช้กระบวนการ Sensory evaluation หรือ การประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสเพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านแล็ปนี้ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
“คือเราคิดมาเสมอว่าเราไม่ต้องการให้คนกินแมลงเป็นตัว มันควรไปอยู่ในเมนูอาหารอะไรก็ได้โดยที่คนเราไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพราะพฤติกรรมการกินมันเปลี่ยนยากที่สุด “
และเพื่อให้เห็นภาพ การสาธิตกระบวนการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสที่ Exofood ใช้กับผู้คนทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาเรื่องแมลงที่นี่ก็เริ่มขึ้น
หนอนรสโกโก้-ผงโปรตีน
เริ่มแรกบูมจะลองให้ดมกระปุก 3 กระปุก ซึ่งมีผงสีน้ำตาลเข้มอยู่ภายใน โดยมีคำถามหลังการดมคือ “คิดว่ากระปุกไหนคือโกโก้”
ซึ่งทั้ง 3 กระปุกจะมีกลิ่นใกล้เคียงกันจนน่าตกใจ ก่อนที่บูมจะเฉลยว่ากระปุกไหนคือผงจากแมลงซึ่งแน่นอนว่าแยกได้อย่างยากยิ่ง
ผงกลิ่นโกโก้จากแมลงนี้บูมเปิดเผยว่ามันคือผงโปรตีนสีน้ำตาล สกัดและแปรรูปจากหนอนแมลงวันลาย หรือ BSF (Black Soldier Fly Larvae) ซึ่งโดยทั่วไปก่อนการแปรรูปจะถูกใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่ม Exotic pet เช่น ชูก้าไรเดอร์ ตุ๊กแก เป็นต้น
“ตอนนี้โดยทั่วไปก็ยังเป็นอาหารสัตว์อยู่ เพราะชื่อเหมือนหนอนแมลงวัน ทำให้คนไม่กล้าจะเปิดรับ ซึ่งเราก็ลองคิดว่าจะใช้หลักการใดเข้ามาช่วยให้มันเกิดเป็นโปรดัคของเราให้ได้ เราก็เลยจัดทำการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสโดยนำไปอบในแต่ละอุณหภูมิ เพื่อให้มันได้กลิ่นที่ใกล้เคียงกับอาหารของคนมากที่สุด”
ในที่สุดเมื่อทดลองด้วยการอบและเทคนิคที่หลากหลาย บูมก็ได้ BSF ที่เป็นผงคล้ายโกโก้ กล่าวคือหากต้องการจะทำขนมหรืออาหารที่ใช้โกโก้ หรือชอคโกแลตเป็นส่วนประกอบ เช่น บราวนี่ แป้งโปรตีนจาก BSF ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยที่คนกินไม่รู้สึกแปลก เนื่องจากวัตถุดิบจากแมลงอยู่ในเมนูอาหารปกติไปเรียบร้อยแล้ว
และเพื่อมาตรฐานการกินในระดับที่คนกินได้ แมลงทุกตัวที่ถูกเพาะเลี้ยงโดย Exofood จำเป็นต้องกินอาหารที่สะอาดที่สุด
“BSF นี้ หากเป็นปกติก็สามารถนำตัวที่เป็นแห้งให้สัตว์กิน เลี้ยงสดๆ ตักให้สัตว์กินก็ทำได้ ทั่วไปก็ทำกัน แต่เราก็เปลี่ยนโพรเซส เปลี่ยนการเลี้ยงให้ถูกต้อง ไม่ใช่แมลงไปกินขยะเหลือมา แต่มันกินอาหารที่เราจัดเตรียมให้ ไม่เน่า ไม่เสีย”
“คือนักกีฏวิทยาที่ผมทำงานด้วย เขาค่อนข้างซีเรียสเรื่องการเลี้ยงแมลงให้คนกินได้จริงๆ คือมันเป็นเรื่องดี คือเรื่องมาก แต่ได้คุณภาพ”
แม้แต่หนอนนกหรือ Mealworm แมลงอีกชนิดที่ทานได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงปกติจะถูกเลี้ยงด้วยเศษผลไม้ และเศษอาหารเหลือทิ้ง แต่ภายใต้การดูแลของ Exofood บูมตัดสินใจเลี้ยงมันด้วยข้าวโอ๊ต
นอกจากนี้หนอนแล้ว แมลงอีกตัวหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือ สะดิ้ง ซึ่งสามารถนำไปสกัดเป็น protein hydrolysis สารสกัดโปรตีนออกมาให้เป็นอนุภาคเล็กที่สุด มีลักษณะเป็นผงโปรตีน เรียกว่า Cricket Powder โดย Exofood มีการพยายามพัฒนาทำผลิตภัณฑ์จากผโปรตีนนี้ออกมารูปแบบอื่นๆ เช่น นมอัดเม็ดจากผงโปรตีนจิ้งหรีด เป็นต้น
หนอนด้วงสาคู อาหารของวันพรุ่งนี้
ไฮไลท์ของ Exofood คือหนอนด้วงสาคู ซึ่งสามารถหาทานได้ทั่วไป แต่เมื่อ Exofood ลงมือพัฒนาอย่างจริงจัง สิ่งนี้จึงกลายป็นอาหารแห่งอนาคต เพราะสิ่งที่ได้จากด้วงสาคูเราไม่ได้มีแค่โปรตีนเป็นหลัก แต่กลับเป็นไขมัน ซึ่งหากจำแนกปริมาณสารอาหารแล้ว ด้วงสาคู 100 กรัม มีสารอาหารแบ่งเป็น 1.โปรตีน 25.8 กรัม 2.ไขมัน 38.5 กรัม 3.กากใย 2.1 กรัม 4.คาร์โบไฮเดรต 33.2 กรัม และเป็นพลังงานรวม 583 กิโลแคลเลอรี่
แม้คุณค่าทางโภชนาการหนอนด้วงสาคู จะมีไขมันมากกว่าโปรตีน แต่เป็นไขมันที่เต็มไปด้วย HDL (high-density lipoprotein) หรือก็คือไขมันดี ซึ่ง ป็นไขมันที่นำคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์จากหลอดเลือดแดง กับเนื้อเยื่อไปทำลายที่ตับ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน การอักเสบ และการแข็งตัวของเลือดโดยทั่วไป HDL จะอยู่ในอะโวคาโด ปลาแซลมอน อัลมอนด์ อยู่ในอาหารหลายๆ ชนิดที่ราคาสูง ทว่าทำให้ได้ในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าผ่านการใช้ด้วงสาคู
ยิ่งไปกว่านั้น ทางExofood ยังไปเป็นพาทเนอร์กับโรงงานน้ำมะพร้าว ที่ทำน้ำมะพร้ามออแกนนิค ซึ่งมีเนื้อมะพร้าวเหลือใช้ Exofood จึงนำเอาเนื้อมะพร้าวเหล่านั้นมาเลี้ยงด้วงสาคู ทำให้หนอนด้วงสาคูมีกลิ่นและรสชาติเหมือนไอศครีมกะทิ ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเป็นชีสได้ และเมื่อกลายเป็นชีส สสารจากแมลงเหล่านี้จึงสามารถอยู่ในอาหารได้หลากหลาย เช่น ชีสทาร์ต และไอศกรีม
“ด้วงสาคูนี้เลี้ยงแบบ Edible insect เพราะมันไม่ได้มีแค่โปรตีน คือเราลองเอาไปทอด อบ ฟรีซดรายด์ ให้มันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ เอาด้วงสาคูไปทำชีสเลย ทำไม่ได้ มันต้องมีโปรเซสเฉพาะ”
ซึ่งกระบวนการการสร้างหนอนด้วงสาคูเราทำมาเฉพาะตั้งแต่การเลี้ยง มีการจัดการระบบการเลี้ยงดู ให้เลี้ยงให้กลิ่นไปในทางเดียวกันผ่านอาหารที่ให้ เช่น มะพร้าว ฟักทอง เป็นต้น ทำให้เมื่อลองชิมหนอนด้วงสาคูของ Exofood ก็พบรสชาติและกลิ่นทั้งมะพร้ามและฟักทองอย่างชัดเจน
“คือหนอนด้วงสาคูไม่สามารถเอาไปทำเป็นแป้ง หรือทำแบบแห้งได้ มันไม่พากันไป เราเลยเอามาลองทำเป็นของเปียก เช่น ชีส ส่วนสะดิ้งเหมาะกับทำเป็นแป้ง”
บูมยังอธิบายเพิ่มว่าข้อควรระวังสำคัญของคนที่สนใจกินแมลงคืออาการแพ้ เนื่องจากแมลงมีไคตินอยู่ในเปลือกเฉกเช่นเดียวกับเปลือกกุ้ง ปู และหอย ดังนั้นหากอยากเข้าสู่วงการกินแมลง ก็จำเป็นต้องระวังจุดนี้ด้วย
แมลงสำหรับสัตว์เลี้ยง
นอกจากแมลงที่คนกินได้ Exofood ยังผลิตอาหารสำหรับสัตว์ ซึ่งมีตั้งแต่ BSF หนอนนก และสะดิ้ง ไปจนถึงแมลงที่แค่ชื่อก็ชวนสยอง อย่าง “แมลงสาปดูเบีย”
เจ้าดูเบียนี้ เป็นแมลงสาปจากอะเจนติน่า แต่ก็มีความน่าสยองขวัญที่ลดลงจากแมลงสาปทั่วไปคือ ตัวผู้มีปีกเอาไว้ร่อนลงอย่างเดียว ตัวเมียปีกสั้นบินไม่ได้ แถมดูแลง่ายเพราะเชื่องช้า ไม่ค่อยไต่ออกมาจากถาดเลี้ยง รวมถึงเป็นเรื่องยากที่จะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในประเทศไทย เพราะว่าดูเบียใช้เวลาถึง 6 เดือนถึงจะเจริญพันธุ์ได้ และเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ชะตากรรมปลายทางคือกลายเป็นอาหาร
“เขาต่างจากแมลงสาปท่อที่เราเห็นตามบ้าน ที่พอเราจิ้มแล้วมันบิน แต่ตัวนี้ไม่บิน เขาร่อนได้อย่างเดียว เพราะเขาเป็นแมลงสาปที่อยู่ใต้แผ่นไม้ กินผลไม้เป็นอาหาร เรียกได้ว่าเกิดมาเป็นเหยื่อโดยเฉพาะ”
ในต่างประเทศนักวิทยาศาสตร์ก็มีการเอามาสกัดเป็นแป้งทำขนมปัง เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารต้านการอักเสบ มีโปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการมาก แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็น “แมลงสาป” ทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนอกจากนำไปให้สัตว์เลี้ยงกิน
เพราะแมลงคุ้มค่าต่อการลงทุน
Exofood ไม่ได้มีเพียงแลปที่เพาะเลี้ยงและค้นคว้าเรื่องแมลง แต่มีศูนย์เลี้ยงแมลงเพื่อการขายต่อให้พาร์ทเนอร์ในการพัฒนาวงการอาหารจากแมลง ซึ่งลูกค้าในไทยจะเน้นไปที่แมลงที่เป็นอาหารสัตว์ ส่วนต่างประเทศเน้นที่แมลงสำหรับอาหารคน โดยมีศูนย์เพาะเลี้ยง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เพาะเลี้ยงสะดิ้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ศูนย์เพาะเลี้ยงด้วงสาคูอยู่ที่ถนนพระราม2 และศูนย์เลี้ยง BSF อยู่ที่ลำปาง
ซึ่งการเพาะเลี้ยงแมลงนั้นก็มีข้อได้เปรียบที่การใช้พื้นที่ เทียบกับปศุสัตว์แบบอื่น
“ตัวอย่างคือ ที่ผมเลี้ยงด้วงสาคูที่โรงงานผมที่พระราม2 ก็มี 1,000 กะละมัง ใช้ 10 คนดูแล เพราะว่าการเลี้ยงแมลงมันไม่ต้องทำทุกวัน แมลงมันใช้เวลาเจริญเติบโต เรา Bedding ปูพื้นให้เขาอยู่ ทำใส่กะละมังไว้ ทิ้งไว้ 3 วัน เอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาใส่ กะละมังไซส์กะละมังซักผ้า ได้กะละมังละประมาณ 2 โลครึ่ง ทั้งหมดก็ได้ 2 ตัน ถ้า Full capacity”
และจากปริมาณการผลิตแมลงแล้ว สารอาหารที่ได้จากแมลงยังมีปริมาณสูง เช่น ในปริมาตรการเสิร์ฟอาหาร 200 แคลเลอรี่ BSF หรือหนอนแมลงวันลายให้โปรตีนถึง 33.8 กรัม แมลงจำพวกจิ้งหรีด หรือสะดิ้ง 31 กรัม ในขณะที่เนื้อวัวแบบมีไขมัน 10% ให้โปรตีน 22.4 กรัม และแซลมอน 20.4 กรัม
นี่คืออนาคต
ไม่ใช่แค่การวิจัยแมลงเพื่อการกินเท่านั้น Exofood ยังมีภารกิจด้านการศึกษาที่เปิดเวิร์คชอปให้กับนักเรียนนักศึกษา และคนทั่วไปที่สนใจเรื่องแมลงเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งบูมอธิบายว่ายังมีอีก 2 ประเด็นที่ Exofood ให้ความสนใจ คือ ไบโอคอนโทรล หรือการเลี้ยงแมลงเพื่อเอาไปจัดการศัตรูพืช และการเลี้ยงแมลงเพื่อการศึกษา เช่น เลี้ยงมด เลี้ยงตั๊กแตนตำข้าวสวยงาม ตัํกแตนใบไม้ เป็นต้น โดยในปัจจุบันการเลี้ยงตั๊กแตนตำข้าวสวยงามมีมากขึ้น
การเปิดเวิร์คชอปยังเปิดโอกาสให้บูมได้พูดคุยและทำความเข้าใจเรื่องแมลงกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งเป้าหมายของเขาคือการทำให้คนที่เห็นแมลงแล้วส่ายหน้า สามารถยอมรับในสิ่งที่เขาทำอยู่ได้ เมื่อเห็นว่าแมลงที่ผ่านโพรเซสของExofood สะอาด มีคุณภาพ กินได้ เข้าถึงง่าย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำได้หากพิถีพิถันกับการเลี้ยงแมลง
….เพราะนี่คืออนาคต ของทรัพยากรอาหาร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา