คนไทยเคยเห็นรถเข็นขายแมลงทอดกันจนคุ้นตา แต่ใครจะรู้ว่าแมลงไทยที่เแหละถูกส่งออกเป็นวัตถุดิบหลักของตลาดแมลงระดับโลก แต่เขาไม่ได้กินเป็นตัวอย่างเดียวยังเอาไปผสมในขนม อาหาร และยาอีกด้วย
แป้งจากแมลงโปรตีนสูงผลิตได้มากกว่าหมู-ไก่-วัว
อิทธิกร เทพมณี ผู้บริหาร บริษัท อินเซค โปรตีน จำกัด (Startups แปรรูปแมลง) บอกว่า ตั้งแต่องค์การสหประชาติ (UN) ประกาศให้แมลงเป็น Superfood หรืออาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารสูง ยิ่งได้รับความสนใจ เพราะในต่างประเทศมีการแปรรูปแมลงเพื่อเป็นส่วนผสมในหลายอย่าง เช่น ยา นำแมลงทำเป็นแป้ง ผสมในขนมกรุบกรอบ อาหาร โปรตีน ไอศครีม ฯลฯ
“ผง หรือแป้งแมลงเอาไปผสมได้หลายอย่าง ลดสัดส่วนแป้งแบบเดิมได้ แต่ยังแทนที่ไม่ได้ 100% เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกลิ่น รสชาติ ในต่างประเทศ นำไปทำโปรตีนบาร์เยอะมาก มีทำเป็นรูปร่างเมล็ดข้าวให้คนคุ้นเคยกินง่าย หรือผสมในไอศกรีม ส่วนเบเกอรี่เรากำลังทำอยู่แต่ติดปัญหาคือการทำให้เก็บได้นาน Pain Point อีกอย่างคือ คนยังติดขัดที่รูปลักษณ์ของแมลง”
ประโยชน์ของแมลงมีหลายอย่าง ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ แมลงสามารถให้โปรตีนได้สูงกว่าเนื้อสัตว์ดั้งเดิม อย่างไก่ หมู และวัว เช่น แมลงพอทำเป็นผง 100 กรัม จะให้โปรตีนได้สูง 50-60% ในขณะที่เนื้อสัตว์อื่นๆ ให้โปรตีนที่ 30-40% เท่านั้น ที่สำคัญแมลงยังดีต่อโลก เพราะใช้วัตถุดิบและสร้างมลพิษให้โลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ
“ทุกวันนี้เราอยู่ในวิกฤตอาหาร แต่ยังไม่รู้ตัว เพราะตอนนี้ประชากรโลก ทั้งจีน แอฟฟริกา ฯลฯ เพิ่มขึ้น คนต้องกินโปรตีน ต้องการอาหารอีกมาก ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ 2 ใน 3 เอามาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เพื่อที่เราจะผลิตเนื้อสัตว์มากิน แต่แมลงไม่ต้องใช้ที่เยอะขนาดนั้น”
ธุรกิจแมลงโตแรงในไทย ต่างชาติแห่งเข้าเพาะเลี้ยงส่งออก
ธุรกิจแมลงนับเฉพาะแมลงที่คนกินได้ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,800 ล้านบาท) โดยเอเชียเป็นตลาดหลักมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของทั้งโลก ที่เหลือกระจายตัวอยู่ทั้ง โซนยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดย 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแมลงเติบโตปีละ 20% แต่หลังจากนี้ 5 ปีตลาดแมลงกินได้จะขยายไปที่อเมริกา และโซนอเมริกาเหนือ
ประเทศไทยถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงในไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เพราะมีแมลงหลายชนิด และอากาศร้อนชื้นเหมาะสำหรับการเลี้ยงแมลง บางประเทศที่อากาศหนาวต้องทำห้องควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งฤดูหนาวแมลงจะโตได้ช้า
ปัจจุบันฟาร์มไทย ส่วนใหญ่จะส่งขายแมลงแบบเป็นตัว เช่น จิ้งหรีด ดักแด้ไหม ฯลฯ วงจรการเลี้ยงอยู่ประมาณ 45 วันพร้อมส่งขาย ราคาขายมีหลายแบบทั้งขายเป็นตัว ขายแบบแห้ง ราคาขึ้นอยู่กับความชื้นด้วย เช่น จิ้งหรีดเป็นตัวขายอยู่ประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเป็นน้ำหนักขายแบบแห้งจะยิ่งแแพงขึ้น
“ตอนราคาโปรตีนจากแมลงยังแพงกว่าโปรตีนจากสัตว์แบบเดิม เพราะยังไม่ได้ Scale แบบการผลิตวัว หมู ตอนนี้บริษัทเราเน้นนำแลงมาแปรรูป โดยจะทำให้ให้เป็น Commercial มากขึ้นสินค้าตัวแรกน่าจะออกมาใน ไตรมาส 1-2 ปี 2019”
ทำไมคนต้องกินแมลง ตัวอะไรกินได้บ้าง?
ภาคอีสานของไทย มีแมลงหลายชนิดหลายสายพันธุ์ การจะเลือกแมลงมาทำแป้งต้องดูหลายเรื่อง เช่น สามารถผลิตโปรตีนได้เท่าไร กลิ่นคนจะรับได้ไหม ฯลฯ
แมลงที่ขายในตลาดเยอะ ได้แก่ จิ้งหรีด เพราะมีหลายสายพันธุ์ทำให้มีหลายกลิ่น และดักแด้ไหม ที่เมื่อนำมาแปรรูปได้โปรตีนที่คุณภาพดีมาก ส่วนหนอนรถด่วน ที่ราคาแพงเพราะยังเพาะเลี้ยงไม่ได้ มีข้อจำกัดในการเลี้ยง อย่างในไทยที่ขายกันอยู่ก็นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
“มีข่าวว่าที่จีนเพาะเลี้ยงแมลงสาบเป็นฟาร์ม ผมมองว่าเรายังไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นนั้น เพราะเป็นอะไรที่ยากกว่าคนจะเข้าถึง”
นอกจากนี้แมลงยังมีการวิจัยเพื่อใช้ในหลายอย่าง เช่น การแพทย์ ใช้ในสิ่งทอ พลาสติก หรือทำเครื่องสำอาง
สรุป
แมลงเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เพราะป็นแหล่งโปรตีนของมนุษย์ที่ผลิตได้ โดยใช้วัตถุดิบ และทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงหมู วัว ไก่ แต่แมลงยังแพงอยู่ คงต้องจับตาดูว่าตลาดนี้จะเติบโตอย่างไรต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา