นวัตกรรมการเงินเปลี่ยนโลก ธนาคารจะอยู่รอด ต้องทำธุรกิจเดิมๆ ให้น้อยที่สุด

การเริ่มต้นของธุรกิจ Startup โดยเฉพาะในสาย FinTech ได้สร้างนวัตกรรมการจ่ายเงินในรูปแบบที่ง่ายและสะดวกกว่าเดิม เมื่อเงินสดสามารถถูกโอนให้กันได้ในมูลค่าที่ถูก เพียงคลิกเดียวผ่านมือถือ ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปจากเดิม

Brad Garlinghouse ซีอีโอของ Ripple สตาร์ทอัพจากอเมริกา ได้ยกตัวอย่างการจ่ายค่าบริการเแท็กซี่ในอนาคต ที่จะไม่ใช่แค่การจ่ายผ่าน mobile wallet เท่านั้น แต่เมื่อผู้โดยสารขึ้นรถ ระบบมิเตอร์ของแท็กซี่จะเชื่อมต่อกับ mobile wallet และตัดเงินแบบอัตโนมัติเมื่อถึงปลายทางตามข้อมูลของมิเตอร์ ทั้งหมดตรวจสอบเงินได้ผ่านแอปในมือถือ

หรือในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่คนซื้อสามารถช้อปปิ้งสินค้าแล้วเดินออกจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้เลย ไม่ต้องเข้าคิวจ่ายเงิน เพราะระบบได้ตรวจสอบสินค้าและเชื่อมการชำระเงินกับ mobile wallet แบบอัตโนมัติเรียบร้อยแล้ว

บริการ Payment ของ FinTech ยิ่งใหญ่กว่า

Brad มองว่า หนึ่งในธุรกิจหลักของธนาคาร คือ การรับชำระเงิน การโอนเงินและการเก็บรักษาเงินของเจ้าของบัญชีไว้ตามกฎระเบียบที่ธนาคารกลางกำหนด ซึ่งบริการเหล่านี้มีค่าธรรมเนียมต่ำ และไม่ใช่บริการทางการเงินในอนาคต เทียบกับ การจ่ายค่าสินค้าและบริการแบบอัตโนมัติ หรือการบริหารข้อมูลของลูกค้าเพื่อให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นการต่อยอดจากบริการทางการเงินเดิมๆ ซึ่งปัจจุบันธนาคารยังห่างไกลจากจุดนี้

เคยมีคำกล่าวที่ว่า Startup ทุกรายจะเกี่ยวข้องกับ FinTech อย่างน้อยที่สุดคือ การรับชำระเงิน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งหมด จะมี FinTech เข้าไปเอี่ยวด้วย จนในที่สุดเส้นแบ่งระหว่าง การเงินและอุตสาหกรรมต่างๆ ค่อยๆ หายไป

จากรายงาน Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโมบายออนไลน์ของจีน ซึ่งประกอบด้วย ช้อปปิ้ง, บันเทิง, การตลาด และอื่นๆ จะมีมูลค่า 650 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 2 ปีก่อนหน้า

ทำให้ Alibaba เจ้าของ Alipay และ Tencent เจ้าของ WechatPay ได้รับประโยชน์ไปแบบเต็มๆ สร้างฐานร้านค้าและลูกค้าจำนวนมหาศาล เทียบเท่ากับที่ China UnionPay และ ธนาคารต่างๆ ใช้เวลากว่า 10 ปีในการสร้าง

คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงจากจีน ได้โหมเข้าสู่ญี่ปุ่นแล้ว ร้านสะดวกซื้อ Lawson รับชำระด้วย Alipay ทุกสาขาตั้งแต่เดือน ม.ค. และยังมีความร่วมมือในการใช้ข้อมูลของร้านร่วมกัน โดยบนแอป Alipay จะมีข้อมูลที่จำเป็นของ Lawson เพื่อหวังสร้างความสะดวก และดึงดูดให้คนจีนกว่า 450 ล้านคนที่มาเที่ยวญี่ปุ่นมาใช้บริการ Lawson

แค่บริการทางการเงินแบบเดิมๆ คงไม่พอ

ในอุตสาหกรรมการเงินจะเกิดผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมาก และเกิดการแข่งขันที่รุนแรง ในญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร 47 ราย เพิ่มขึ้น 40% ใน 3 ปี มี Yahoo Japan และ LINE รวมอยู่ด้วย ไม่ต่างจากไทย ที่มี FinTech โดยเฉพาะด้าน Payment อยู่เป็นจำนวนมาก

สิ่งที่ FinTech เหล่านี้ได้เปรียบ คือสามารถเสนอบริการได้ทั่วถึง ครอบคลุมมากกว่าที่ธนาคารทำได้ เช่น กู้ยืม ซึ่งธนาคารเข้าไม่ถึง และยังเป็นบริการที่พ่วงไปกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ไม่ใช่บริการทางการเงินเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ประเทศไทย เล็งจะใช้ ม.44 เพื่อทำให้ Uber หายไป แต่ในต่างประเทศ Uber Technologies ได้รับเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์จาก Goldman Sachs เมื่อปีที่แล้วเพื่อให้บริการ Xchange ซึ่งเป็นบริการให้เช่าซื้อรถยนต์ โดยจะทำงานร่วมกับ dealer ต่างๆ ให้คนขับสามารถเช่าซื้อรถยนต์ออกไปขับเพื่อให้บริการ Uber ได้

จากนั้น คนขับก็จ่ายเงินให้ Uber ผ่านรายได้ที่ได้จากการขับอีกที ดังนั้นถ้าคนขับที่สนใจอยากขับ Uber แต่ไม่มีรถเป็นของตัวเองก็ไม่มีปัญหา

ถ้าธนาคารยังคงเน้นบริการทางการเงินแบบเดิมๆ ไม่ปรับตัวโดยใช้ความได้เปรียบที่มีอยู่ เช่น ข้อมูลของลูกค้าที่เปิดบัญชี, ความน่าเชื่อถือ, พนักงานที่มีความสามารถ และความรู้ทางเทคนิคต่างๆ เพื่อออกมาสร้างธุรกิจใหม่ๆ โอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตในอนาคตอาจเป็นไปได้ยาก

กล่าวได้ว่า ถ้าจะอยู่รอดและเติบโตได้ ต้องทำธุรกิจเดิมๆ ให้น้อยที่สุด

สรุป

ธนาคารจะให้บริการแค่เรื่องเงินไม่ได้ แต่ต้องพัฒนาความเป็น Lifestyle และ Business ให้มากขึ้น เช่น โครงการ SCB พร้อมเพย์ แท็กซี่เดลิเวอรี่พร้อมรับ นั่งแท็กซี่แล้วจ่ายเงินผ่าน PromptPay ได้เลย ไม่ต้องใช้เงินสด สะดวก ปลอดภัย เป็นหนึ่งในตัวอย่างว่า ธนาคารกระโดดลงมาเล่นบริการร่วมกับแท็กซี่มากขึ้น เพราะจะแค่ รอให้คนใช้จ่าย โอน หรือฝากเงิน คงไม่ใช่คำตอบที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้ธนาคารอีกต่อไป

ที่มา: Asia.Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา