ปัญหาการฆ่าตัวตายสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงหลายหมื่นล้านบาทต่อปี แล้วญี่ปุ่นมีวิธีป้องกัน แก้ไข หรือรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไรบ้าง ?
เราแบ่งสาเหตุการฆ่าตัวตายที่ญี่ปุ่นตามช่วงอายุได้ ดังนี้
- คนที่ฆ่าตัวตายเพราะ ‘ปัญหาสุขภาพ’ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 70-79 ปี
- คนที่ฆ่าตัวตายเพราะ ‘ปัญหาเศรษฐกิจ’ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 50-59 ปี
- คนที่ฆ่าตัวตายเพราะ ‘ปัญหาครอบครัว’ และ ‘ปัญหาเรื่องงาน’ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 40-49 ปี
- คนที่ฆ่าตัวตายเพราะ ‘ปัญหาเรื่องเพศ’ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 20-29 ปี
- คนที่ฆ่าตัวตายเพราะ ‘โดนบูลลี่’ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่อายุน้อยกว่า 19 ปี
จากสถิติที่ผ่านมายังเผยให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายของผู้ชายคิดเป็นประมาณ 70% ของทั้งหมด ส่วนสาเหตุและแรงจูงใจ ผู้ชายก็มีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงในทุกกรณี โดยอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายว่างงานที่หย่าร้างจะสูงกว่าผู้ชายที่แต่งงานและทำงานถึง 20 เท่า
ยังไม่นับเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายจากความเศร้าสลดที่สูญเสียทรัพย์สินที่จะเก็บไว้ใช้และสมาชิกในครอบครัว
ด้วยสถานการณ์แบบนี้มีองค์กรไหนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นบ้าง ?
OVA องค์กรที่ช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายแบบเชิงรุก
เนื่องจากญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 20,840 รายต่อปี และมีรายงานการพยายามฆ่าตัวตายกว่า 530,000 ครั้ง ทาง OVA จึงหาทางแก้ปัญหานี้ โดยอาศัยอินไซต์ที่คนหลากหลายช่วงวัยค้นหาคำว่า “ฉันอยากตาย” ในอินเทอร์เน็ตมากกว่า 100,000 ครั้งต่อเดือน
ทาง OVA มีวิธีอย่างไร ?
OVA จะยิงโฆษณาไปหากลุ่มคนที่เสิร์จคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับการอยากฆ่าตัวตาย แล้วนำเสนอบริการให้คำปรึกษาแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านสองช่องทางหลักคือการแชทและการคุยโทรศัพท์ ขึ้นอยู่กับความสบายใจของผู้ใช้บริการ
ทาง OVA เน้นกลยุทธ์แบบเชิงรุกคือเป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้าก่อนที่อะไรจะสายเกินไป
ทำไมถึงเลือกใช้กลยุทธ์นี้ ?
OVA พบว่าผู้มีบาดแผลทางจิตใจบางส่วนไม่กล้าเล่าเรื่องราวให้คนใกล้ตัวฟัง เช่น กว่า 50% ของผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย หรือ 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจากการถูกสามีทำร้ายร่างกายก็เลือกไม่บอกใครเลย
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในปี 2013 โฆษณาของทาง OVA ถูกนำเสนอไปกว่า 20 ล้านครั้ง และมีจำนวนการให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกเดือน ในปี 2016 จึงได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมจาก Nippon Foundation
ZIAI องค์กรที่ใช้ AI ช่วยให้คำปรึกษาผู้ที่อยากฆ่าตัวตาย
ZIAI ถูกก่อตั้งขึ้นด้วย Pain Point ที่แม้ญี่ปุ่นจะมีบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ความเร็วในการตอบแชทนั้นต่ำเพียง 2.7% ถึง 21.4% ทำให้ป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายได้ไม่ทันท่วงที ทาง ZIAI จึงพยายามพัฒนา AI ให้สามารถวิเคราะห์ว่าตอนนี้อีกฝ่ายต้องการความช่วยเหลือระดับใด เร่งด่วนแค่ไหน เพื่อออกแบบ Chatbot ให้ตอบโต้ได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากที่สุด
ความน่าสนใจคือ Chatbot ของ ZIAI จะมีวิธีการพูด การให้คำปรึกษา และการตั้งคำถามที่ใกล้เคียงกับภาษาที่นักจิตวิทยาคลินิกใช้จริง ๆ
ตัวอย่างบทสนทนาในภาพด้านบนคือ
ผู้มาขอคำปรึกษา : ฉันโดนเพื่อนบูลลี่มาค่ะ
Chatbot : พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าโดนรังแกแบบไหนครับ ?
ผู้มาขอคำปรึกษา : เพื่อน ๆ ชอบเมิน ทำเหมือนฉันไม่มีตัวตนเลยค่ะ ฉันเลยมีความคิดว่าอยากจบชีวิต
Chatbot : ใจเย็น ๆ นะครับ เราลองมาคุยกันก่อนไหมครับ ?
เรียกได้ว่าทาง ZIAI อาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิจัย NLP (Natural Language Processing) นักภาษาศาสตร์ นักจิตวิทยาคลินิก และ Data Scientist ด้วยความเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมได้
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการคืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ช่วยป้องกันปัญหานี้
นอกจาก 2 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่กล่าวไป ทาง กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ยังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้อัตราการฆ่าตัวตายน้อยลง
กระทรวงนี้มีแนวทางอย่างไร ?
ทาง กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ได้สร้างหลากหลายเว็บไซต์ที่คอยให้ความรู้ควบคู่กับการดูแลสุขภาพใจคนในประเทศ
ตัวอย่างเช่น
คลิปวิดีโอแนะนำเว็บไซต์ Kokoronomimi
เว็บไซต์ Kokoronomimi ที่ให้คำแนะนำด้านสุขภาพจิตสำหรับหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย เช่น
- ผู้ประสบปัญหาด้านการทำงาน
- ผู้เจอความท้าทายด้านธุรกิจ
- ผู้ที่ติดปัญหาครอบครัว
ซึ่งการแบ่งประเภทเนื้อหาอย่างละเอียดแบบนี้จะช่วยให้คนอ่านรู้สึกได้รับความเข้าใจ เพราะมีโอกาสได้คำแนะนำและวิธีแก้ไขที่ตรงจุดจริง ๆ
อีกจุดเด่นของเว็บไซต์นี้คือมีสีสันสดใสและใช้การ์ตูนเป็นภาพประกอบ ทำให้เข้าใจง่ายและส่งเสริมให้คนทั่วไปรู้สึกว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
คลิปวิดีโอแนะนำบริการของ Mamorouyokokoro
เว็บไซต์ mamorouyokokoro ที่รวบรวมช่องทางการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตไว้ โดยแบ่งตามประเภทของกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มเป้าหมายที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี
- กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงวัยรุ่น
ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ตามความสะดวกว่าอยากพูดคุยผ่านช่องทางไหน เช่น แชทไลน์ อีเมล ทวิตเตอร์ หรือเบอร์โทร โดยในบางช่องทางก็สามารถติดต่อได้ 365 วันต่อปี ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้ง และชี้แจงให้เข้าใจว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ควรรับมืออย่างไร และมีหน่วยงานที่คอยจัดการกับข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่ชักจูงให้ฆ่าตัวตาย โดยกำหนดให้เป็นข้อมูลที่ละเมิดข้อกำหนดการใช้งาน และถ้าพบเห็นเมื่อไรจะรายงานไปยังศูนย์สายด่วนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทาง Facebook Japan ก็ช่วยสอดส่องดูแลในเรื่องนี้ด้วย
ในด้านของโลกออฟไลน์ก็มีการวางแผนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ต ทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประกาศทางวิทยุ การแจกแผ่นพับ
มีโครงการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่มีปัญหาซับซ้อน รวมถึงผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาหรือเลิกเรียนกลางคัน เพื่อส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นการลดปัญหาสุขภาพจิตที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายไปในตัว
ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายที่ญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนเราคงต้องติดตามกันต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก japedia, ovajapan, ziaijp, kokoronomimi, mamorouyokokoro
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา