ขึ้นโรง ขึ้นศาล เป็นคดีความ เรื่องเสียงคุก เสี่ยงตาราง ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากให้ชีวิตเกี่ยวพันกับคดี ไม่ว่าจะคดีใดก็ตาม เมื่อโควิดระบาดจนธุรกิจท่องเที่ยวพัง สิ่งที่นายจ้างทำได้คือการลดต้นทุน ลดขนาดองค์กร ลดการใช้จ่ายเงิน ปลดพนักงานเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่าย แต่อย่าลืมว่าปลดพนักงานกระทันหันแบบนี้ ปลดได้ แต่อย่าลืมจ่ายค่าชดเชยด้วย
ปัจจุบัน ศาลแรงงานหลายจังหวัดในไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวค่อนข้างมากกำลังประสบกับปัญหาคดีความเรื่องแรงงานเป็นส่วนใหญ่ และคดีความส่วนใหญ่ก็มักเป็นเรื่องลูกจ้างเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายจ้างหลังนายจ้างหลายราย หลายแห่ง ลอยแพพนักงานและไม่รับผิดชอบค่าชดเชย เนื่องจากขาดรายได้หลังโควิด -19 ระบาดจนประเทศต้อง Lockdown และส่งผลให้ต้องปิดประเทศ ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้คือเรื่องราวของผู้คนในภูเก็ต หลากหลายอาชีพที่ต้องพึ่งพารายได้ทั้งจากในต่างประเทศและชาวต่างชาติ สิ่งที่เราคาดหวังคงไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากสะท้อนเสียงของผู้เดือนร้อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่สร้างวิกฤตต่อธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ตลอดจนสะท้อนเสียงจากลูกจ้างที่ต้องการให้นายจ้างรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็เป็นค่าชดเชยที่พึงได้หากคิดจะลอยแพพนักงาน
โซตี อะหะหมัด หรือ นัสรี อายุ 21 ปี เดินขายข้าวเกรียบในภูเก็ต เพื่อส่งเสียลูก เมีย น้อง และแม่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา เขารับข้าวเกรียบจากนราธิวาสมาขาย เริ่มเดินขายตั้งแต่ปี 2016 ขายข้าวเกรียบถุงละ 50 บาท มีรายได้อย่างน้อยถุงละ 10 บาท ก่อนโควิดระบาด เขาขายข้าวเกรียบได้ราว 50 ถุงต่อวัน หลังโควิดระบาดขายได้วันละ 35-40 ถุง เขาเดินขายตั้งแต่สภากอจ๊าน ถึงย่านเมืองเก่าภูเก็ต ช่วงเวลาที่ขายตั้งแต่บ่ายโมงถึง 4 ทุ่ม
ก่อนหน้าที่จะมีโควิดระบาด เขาข้ามไปขายข้าวเกรียบที่มาเลเซีย เขาบอกว่ารายได้ดีกว่าขายในไทย เมื่อโควิดระบาดจึงกลับมาขายที่ภูเก็ตต่อ เขาบอกว่าเขาไม่กล้าทำงานในยะลาเพราะกลัวความเสี่ยงจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งก่อนหน้านี้ จึงต้องเข้ามาหาอาชีพทำในภูเก็ต
เขาเดินขายข้าวเกรียบที่ทำจากปลาหลังเขียว มีกระดูกเยอะ แต่ตัวตัวเล็กประมาณ 2 นิ้ว การขายข้าวเกรียบจะมีเถ้าแก่รับข้าวเกรียบสดๆ มาทอดเองที่ห้องเช่า ในห้องเช่านั้นพักอาศัยอยู่ 7 คน หารค่าเช่ากันอยู่ นัสรีเล่าว่า เขารอวันที่โควิดระบาดลดลง เพื่อจะเดินทางเข้าไปขายในมาเลเซียต่อ เพราะรายได้ดีกว่าและขายได้จำนวนมาก (กรณีนี้ คือคนที่ขาดรายได้จากการปิดพรมแดนระหว่างประเทศเนื่องจากโควิดระบาด)
คนขาดรายได้หวังพึ่งรัฐบาล ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่ขาดโอกาสในการหารายได้
จีระพงศ์ ทองฤทธิ์ (เน็ก) อายุ 25 ปี อาชีพหมอนวด เน็กอยู่ร้านดับบลิวมาจสาจ ถนนดิลก อุทิศ 1 ร้านนี้ตั้งมา 10 กว่าปีแล้ว เธอมาอยู่ภูเก็ตได้ 2 ปีแล้ว เธอเพิ่งย้ายจากจังหวัดตรังเข้ามาทำงานที่นี่เพื่อหายรายได้เพิ่ม เธอเล่าว่า เธอหัดเรียนนวดมาตั้งแต่สมัยเรียนอาชีวะ เธอทำงานนี้เพื่อส่งเสียตัวเองเรียนมาตลอด เธอรักอาชีพนี้ เธอเล่าว่าการเป็นหมอนวด เมื่อนวดให้ลูกค้าคลายความปวดเมื่อย ก็ทำให้เธอรู้สึกสบายใจไปด้วย ทำให้มีแรงบันดาลใจที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป
ลูกค้าร้านนวดก่อนที่จะมีโควิดระบาด วันธรรมดามีมาให้เธอนวดราว 4-5 คน ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ก็ราว 7-8 คนต่อวัน หลังจากโควิดระบาด ร้านนวดปิดกิจการไปราว 2 เดือนครึ่ง เธอไม่มีรายได้ จึงต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ เธอไม่ได้ทำงานราว 4 เดือนแล้ว เงินเก็บก็ค่อยๆ ร่อยหรอลง
เน็กเล่าว่า เมื่อโควิดระบาด แขกที่มาใช้บริการก็เงียบหายไปเช่นกัน เน็กเล่าว่า ทำเลของร้านนี้เมื่อก่อนฝั่งตรงข้ามเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภูเก็ต ชื่อโอเชียน ก่อนหน้านี้คนไปเที่ยวหาดป่าตองเสร็จก็จะแวะมาเที่ยวที่นี่ด้วย คนเดินครึกครื้นทั้งคืน ผิดกับตอนนี้ที่ห้างเพิ่งปิดไปเพราะหมดสัญญาและยังมีโควิดระบาดอีก จากเดิมที่มีคนต่างชาติราว 90% ตอนนี้หาได้น้อยมากกว่าจะมาเยือนร้านนวดสักคนหนึ่ง
เน็กเล่าว่าบรรยากาศในเมืองภูเก็ตค่อนข้างแย่ ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน รายได้ไม่พอใช้ ต้องเอาเงินเก็บมาใช้ประทังชีวิตไปพลาง ช่วงที่ภูเก็ต lockdown ชีวิตเธอลำบากมาก เพราะต้องไปรอรับข้าวสาร ปลากระป๋องมาเก็บไว้ เธอติดอยู่ในภูเก็ตราว 2 เดือน เพราะออกจากตัวเมืองไม่ทันช่วงที่มีคำสั่งปิดเมือง ช่วงนั้นเธอต้องถูกกักกันโรคในวัด เพราะโรงแรมที่ใช้กักกันโรค ห้องพักเต็มหมดแล้ว ทางหมู่บ้านจึงให้เธอกักกันโรคในวัดแทน เธออยู่ในวัดกับแม่ของเธอ ไม่มีคนส่งข้าว-น้ำให้ โชคดีอยู่บ้างที่วัดยังมีพระให้เธอได้อาศัยข้าวจากบาตรพระไปพลาง
เงินเก็บเธอเริ่มหมด จากนั้นเธอจึงเลือกกลับไปอยู่บ้านนาน 2 เดือน ช่วงนั้นมีทั้งความเครียด กลัว เพราะมีภาระหลายด้านต้องรับผิดชอบ ทั้งค่ารถ ค่าห้องที่ต้องจ่าย ช่วงนั้นลูกค้ามีน้อยมาก บางวันมีคนเดียว บางวันไม่มีเลย พนักงานในร้านมีอยู่สี่คน กลายเป็นว่าต้องผลัดกันทำงานเพื่อให้แต่ละคนมีรายได้ เธออยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง คนที่ประสบปัญหาจากโควิด บ้างไม่มีงานทำ ขาดรายได้ เขาไม่ได้ขี้เกียจ แต่เขาไม่มีโอกาสในการหารายได้ (กรณีนี้คือผู้ที่ขาดรายได้เพราะขาดโอกาสในการหารายได้)
จากลูกจ้างถึงนายจ้าง: เลิกจ้างได้ แต่ช่วยรับผิดชอบค่าชดเชยด้วย
นิสารัตน์ อุโท หรือเปิ้ล อายุ 39 ปี เล่าให้เราฟังว่า เธอเป็นพนักงานตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กอยู่ใน Kid Culb ของโรงแรมแถวหาดกะรน ทางโรงแรมไม่ได้ปิดกิจการ แต่ปิดเฉพาะส่วนที่ให้บริการเลี้ยงเด็ก, Business, Spa ประกาศให้หยุดทำงานตั้งแต่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลประกาศสั่งปิดเมื่อ 1 เมษายน และสั่งให้เปิดทำการได้เมื่อ 3-4 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่านายจ้างไม่ประกาศให้ลูกจ้างกลับไปทำงาน
สิ่งที่ลูกจ้างได้รับคือเงินชดเชยจากประกันสังคมอยู่ที่ 62% เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับเงินเดือนอีกเลย โรงแรมที่เปิ้ลทำอยู่นี้มีขนาด 224 ห้อง พนักงานราว 200 คน มีพนักงานเพียง 1% เท่านั้นที่ยังได้ทำงานอยู่ ส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ช่าง และแม่บ้าน
ก่อนหน้านั้น เปิ้ลเล่าว่า โรงแรมแจ้งว่าจะเปิดกิจการผ่านการสนทนาในกลุ่ม Line แต่พอใกล้หมดช่วงเวลาที่ประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยให้ ทางโรงแรมก็พยายามสื่อสารใหม่ว่าเดี๋ยวจะกลับมาเปิดโรงแรมอีก จากนั้นก็เงียบหาย ทางเปิ้ลและเพื่อนๆ จึงรวมตัวกันเพื่อทำเรื่องที่กรมสวัสดิการแรงงานเพื่อฟ้องร้องโรงแรมให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายให้
จากนั้น ทางโรงแรมก็ส่งทนายมาไกล่เกลี่ย และจะให้พนักงานที่มาเรียกร้องเซ็นหนังสือเลิกจ้าง แต่ก็ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ ทางโรงแรมเสนอทางเลือกเดียวให้พนักงาน คือให้เซ็นหนังสือเลิกจ้ายเท่านั้น จากนั้น ทนายของฝ่ายโรงแรมจึงให้ทางพนักงานยื่นเรื่องฟ้องร้องเอง ทางเปิ้ลระบุว่า ทางพนักงานต้องการรับเงินชดเชยตามอายุงาน
เธอเล่าว่าทางพนักงานไม่ได้อยากออกมาฟ้องร้อง แต่ทางโรงแรมปล่อยให้พนักงานรอฟีดแบคยาวนานเกินไป ไม่ยอมชี้แจงว่าจะเปิดให้กลับไปทำงานเมื่อไร ไม่ชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เมื่อติดต่อสอบถามก็มีแต่ความเงียบงันเกิดขึ้น ถือเป็นการผลักภาระให้พนักงานต้องไปหารายได้จากทางอื่นเพื่อประทังชีวิต เปิ้ลต้องหันไปหารายได้ทางอื่นแทน เช่น การขายของออนไลน์
เปิ้ลบอกว่า เธอและเพื่อนๆ ไม่ได้อยากฟ้องร้อง แต่ถ้าทางผู้ประกอบการมีท่าทีเห็นใจต่อพนักงานบ้าง ก็คงไม่ทำเช่นนี้ ทางโรงแรมไม่ได้สร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานเลย พวกเธอโดนลอยแพในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ แต่เงินก็ต้องหาใช้ต่อไป
เธอมีลูก ตอนนี้ก็อาศัยแฟนที่พอหาปลา ปู หอยหวานเอาไปส่งขายได้บ้าง เธอบอกว่า เธอเคยลงทุนขายของแล้ว แต่ก็พบว่า ขายของโดยไม่ลงทุนดีกว่า หาปลามาขายได้วันละ 200-300 บาท แม้ขายไม่ได้ก็ยังมีเก็บไว้ทำกับข้าวทาน คนว่างงาน คนตกงานต่างก็หารายได้ด้วยการขายของกันหมด ขายไม่ได้ ก็ขาดทุน ของที่ช่วยเหลือเช่น ถุงยังชีพ ช่วง 2-3 เดือนแรกก็พอช่วยได้บ้าง แต่ก็มีการแจกจ่ายถุงยังชีพที่ไม่ทั่วถึง
แรกๆ ที่ประสบปัญหาก็พอมีเงินเก็บให้ช่วยประคองตัวได้บ้าง ถุงยังชีพก็พอมีไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และข้าวสารให้ได้มีไว้กินบ้าง แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือแค่เพียงช่วง 2 เดือนแรกเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกเลยทั้งที่ความเดือดร้อนก็ยังคงอยู่
ด้านตติยา ดวงจิตต์ กิฟท์ อายุ 31 ปี เล่าว่า รายได้ส่วนใหญ่ของภูเก็ตมาจากการท่องเที่ยว รายได้มาจากชาวต่างชาติเสียมาก เมื่อเกิดโควิดระบาด ภาคการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบเยอะ เธอมองว่า อยากให้รัฐบาลคิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภูเก็ตมีปัญหาเรื่องการขนส่งมวลชนยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าพื้นที่อื่น ทำให้คนภูเก็ตจึงต้องการรายได้จากชาวต่างชาติเสียมาก เพราะต้องยอมรับว่าภูเก็ตมีภาพลักษณ์ที่แพง ทำให้คนไม่กล้าเที่ยว เพราะต้องใช้เงินมาก ทั้งค่าเที่ยวทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทางก็ต้องจ่ายเงินเยอะ
คนขับแท็กซี่กระทบหนัก ขาดรายได้หลักจากชาวต่างชาติ ต้องหันมาพึ่งคนชาติเดียวกัน
ขณะที่สันต์ อาชีพขับแท็กซี่ในย่านภูเก็ต ที่ใครๆ ต่างก็รับรู้ว่าค่าเดินทางในภูเก็ตค่อนข้างสูงเพราะรถสาธารณะไม่ค่อยมีให้ใช้บริการมากมายเท่าในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่นที่มีการพัฒนาขนส่งมวลชนค่อนข้างดี สันต์เล่าว่า โควิด-19 เข้ามา ทำให้หลายคนขาดรายได้และหลายครอบครัวมีปัญหาทำให้ครอบครัวแตกแยกเพราะขาดรายได้กัน
เขาบอกว่าเงินช่วยเหลือของรัฐบาลตอนที่ lockdown เดือนละ 5,000 บาทก็พอช่วยทำให้มีเงินซื้อข้าวสาร ซื้อกับข้าวกินได้บ้าง แต่ทองคำที่เคยซื้อเก็บไว้ตอนนี้ก็ถูกนำไปขายเกลี้ยงหมดแล้วเพราะต้องนำเงินมาจุนเจือในครอบครัวแทน สันต์เล่าว่าเขาผ่อนรถตู้หมดก่อนโควิดมา จึงไม่เกิดปัญหาเรื่องยึดรถแบบที่คนอื่นต้องเผชิญ เมื่อไม่มีรายได้ก็ต้องถูกยึดรถอย่างเดียว สันต์คิดว่าถ้าสิ้นปีแล้วยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา น่าจะทำให้หลายคนไปไม่รอดเยอะ
ช่วงที่ขาดรายได้ สันต์เล่าว่า ก่อนหน้านี้แฟนขายของ แต่หลังจากโควิด-19 ก็ปรากฏว่ามีแต่คนขายสินค้า แต่ไม่มีคนซื้อ แค่เพียงมีรายได้พอประทังชีวิตไปเท่านั้น สันต์เล่าว่าก่อนที่จะมีโควิด รายได้เขาอยู่ที่ 3,000 ถึง 5,000 บาทต่อวัน บางวันได้มากถึง 10,000 บาท แบบที่ฟลุคมากคืออยู่ที่ 100,000 บาทได้เลยเพราะได้ค่าคอมมิชชันจากการที่พาลูกค้าชาวต่างชาติไปซื้อสินค้าในสถานที่ที่เขาอยากไป
เขาบอกรายได้อย่างต่ำอยู่ที่ 80,000 บาทถึง 100,000 บาทต่อเดือน ใช้จ่ายสบาย เพราะมีรายได้จากต่างชาติมาก สันต์บอกว่ารายได้หาได้เท่าไรก็ใช้ไม่หมด สันต์มองว่าแม้จะรายได้เยอะแต่ก็ขาดความมั่นคง
ก่อนหน้านี้ สันต์บอกว่าเขาแทบไม่พึ่งพาลูกค้าชาวไทยเลย เพราะลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่อยากได้รับบริการสุดหรู อยากให้บริการหลายชั่วโมง อยากให้พาไปทุกที่ที่อยากไป แต่ราคากลับไม่สู้ ซึ่งก็มีบ้างที่ลูกค้าพร้อมจ่าย แต่ส่วนใหญ่ราว 80% ไม่ค่อยอยากจ่ายแต่อยากได้บริการครบครัน เป็นต้น สำหรับตอนนี้ สันต์ก็ยอมรับว่าผลสุดท้ายก็ต้องพึ่งคนไทยมากขึ้น การพูดคุยต่อรองราคาหลังโลกบอบช้ำจากโควิดจึงเน้นไปที่การพึ่งพาอาศัยระหว่างกันมากขึ้น เห็นอกเห็นใจทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการมากกว่าแต่ก่อน
คดีแรงงานส่วนใหญ่ นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย
เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ศาล นิดาภรณ์ ปาละคะเชนทร์ นิติกรชำนาญการพิเศษ ศาลแรงงานภาค 8 เล่าว่า กรณีส่วนใหญ่ที่พนักงานมายื่นฟ้อง คือเรื่องการเลิกจ้าง เกิดจากการที่ลูกจ้างเข้าไปทำงาน นายจ้างไม่มีงานให้ทำ กล่าวคือลูกจ้างได้รับสิทธิประกันสังคม แต่ไม่ได้ค่าชดเชย จึงนำเรื่องมาฟ้องที่ศาล
หลังการให้ความช่วยเหลือโดยประกันสังคมราว 62% ของเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือนสิ้นสุดลง นายจ้าง ไม่สามารถจ้างงานต่อได้ พนักงานจึงมาฟ้องเรียกร้องค่าชดเชย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ ศาลแรงงานก็จะมีนิติกรคอยให้คำปรึกษา สอบข้อเท็จจริง ยกร้องคำฟ้อง ร่างฟ้อง ยื่นฟ้อง ซึ่งศาลแรงงานจะเน้นเรื่องไกล่เกลี่ยเป็นหลัก
ทั้งนี้ การคุ้มครองแรงงานระบุว่า ค่าชดเชยนั้น ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย
หากนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
- ลูกจ้างทำงานติดต่กันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าเชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
หากนายจ้างจะเลิกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย ฯลฯ
- แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผล และรายชื่อลูกจ้างที่จะเลิกจ้างให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
- ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างให้ทราบล่วงหน้า ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างในอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 60 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างโดยคำนวณเป็นหน่วย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่ การคุ้มครองแรงงาน)
สรุป
บทสัมภาษณ์จากหลากหลายอาชีพในภูเก็ตต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่ากำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดระบาด และผลจากการปิดเมืองยาวนาน และการขาดนักท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก ทำให้ทุกอาชีพได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
เสียงเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลช่วยยืดอายุการจ่ายเงินชดเชยโดยประกันสังคมยังมีความต้องการอยู่ เสียงเรียกร้องถุงยังชีพที่แม้บางส่วนมองว่าไม่จำเป็น แต่ในพื้นที่ที่ขาดรายได้เป็นของล้ำค่าที่ผู้คนยังต้องการและส่วนใหญ่มักกระจายไม่ทั่วถึง ได้รับก็เพียงช่วงแรกที่มีการระบาด หลังจากนั้นก็เงียบหาย
เสียงเรียกร้องจากเหล่าพนักงานที่ต้องการให้นายจ้างรับผิดชอบต่อชีวิตของพวกเขา แม้ว่าไม่จ่ายค่าจ้างและหลายฝ่ายมองว่าเป็นการผลักให้เป็นหน้าที่ของประกันสังคมช่วยจ่ายค่าชดเชยช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว สิ่งที่นายจ้างพึงกระทำคือการชี้แจงให้พนักงานเข้าใจถึงความเดือดร้อนที่ตนได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ควรจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานไม่ใช่การบังคับให้เซ็นเอกสารว่าพนักงานลาออกโดยสมัครใจและเพิกเฉยต่อความเป็นธรรมจากการเรียกร้องเงินชดเชยที่พนักงานควรจะได้รับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา