เจาะตลาด Influencer Platform ในยุคที่ผู้บริโภคไม่เชื่อข้อมูลจากแบรนด์ตรงๆ อีกต่อไป

Influencer คืออาวุธสำคัญในการทำตลาดของแบรนด์ ทำให้บริษัทเทคโนโลยี และเอเจนซี่ สร้าง Influencer Platform ที่เชื่อมต่อแบรนด์กับ Influencer กันมากขึ้น เพื่อชิงเม็ดเงินตลาด Influencer 1,800 ล้านบาท

influencer

Influencer Platform ที่ตอบโจทย์ตลาด

ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรคือเรื่องจริง อะไรคือโฆษณา ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องหาช่องทางใหม่ในการสื่อสาร ซึ่ง Influencer คือหนึ่งในช่องทางที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Micro Influencer ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 10,000-50,000 คน เพราะพวกเขาเหมือนเป็นคนทั่วไปที่เล่าเรื่องต่างๆ ให้เพื่อนผู้ติดตามฟัง

อย่างไรก็ตามการที่แบรนด์ หรือเอเจนซี่จะเข้าไปทำงานกับ Influencer มักมีปัญหามากมาย เช่นเรื่องเอกสาร, การขอสถิติ, การเลือก Influencer ที่มีคุณสมบัติตรงกับสินค้าตัวเอง หรืออื่นๆ เพราะปัจจัยเรื่องพวกเขาเป็นคนทั่วไปเช่นกัน จะให้มาเชี่ยวชาญเรื่องการตลาด หรือข้อมูลต่างๆ ก็คงไม่ถูกต้องนัก

influencer

จุดนี้เองจึงเกิด Influencer Platform ขึ้นมา พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยี หรือเอเจนซี่ เพื่อมาเป็นตัวกลาง และแก้ปัญหาข้างต้น ซึ่งในประเทศไทยมีทั้งบริษัทเทคโนโลยีจากต่างประเทศบุกเข้ามาทำตลาดเช่น Tellscore ที่มี Influencer กว่า 40,000 ราย และกลุ่มเอเจนซี่ YDM Thailand ที่ทำตลาดในชื่อ Revu ต่างเริ่มมา 2-3 ปีแล้ว

ชิงแชร์ 1,800 ล้านบาทที่เติบโตต่อเนื่อง

จากตัวแปรที่มี Influencer Platform เพิ่มขึ้น และการจ้าง Influencer ของแบรนด์ผ่านเอเจนซี่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) จึงคาดการณ์ว่า โฆษณาสื่อ Social ที่มี Content Sponsorship, Digital PR, Advertorials และ Influencer ในปี 2020 จะมีมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2019

influencer

“ผมคาดว่าเม็ดเงินในการจ้าง Influencer อาจมีมากกว่า 1,800 ล้านบาท 2-3 เท่า เพราะตัวเลขดังกล่าวไม่ได้รวมที่แบรนด์จ้าง Influencer โดยตรง เมื่อมันมากขนาดนี้ โอกาสเกิดขึ้นของรายใหม่ที่แก้จุดอ่อน หรือมีจุดต่างกับผู้เล่นรายเดิมก็ยังมีอยู่” สุนาถ ธนสารอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าว

จุดนี้เอง แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป จึงเปิดตัว Pickle หรือ Influencer Platform ตัวใหม่ของตลาด ที่มาพร้อมกับการเจาะตลาด Influencer บน Instagram ก่อน มากกว่านั้นคือ Influencer มีสิทธิ์เลือกแบรนด์ที่ต้องการ เช่นเดียวกับที่แบรนด์เคยเลือก Influencer ใน Influencer Platform อื่นๆ

rabbit digital
สุนาถ ธนสารอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป

สร้างรายได้ใหม่ในยุคเอเจนซี่มีปัญหา

“Pickle เหมือนแอปพลิเคชั่นจับคู่หาคนรัก ที่ Influencer และแบรนด์สามารถเลือกคนที่ชอบได้ และหาก Match กันก็จะเกิดงานขึ้น ซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่แบรนด์กังวลว่าใช้ Influencer ที่ไม่ตรงกับแบรนด์ หรือ Influencer ได้งานจากแบรนด์ที่ไม่ต้องการ ที่สำคัญ Pickle เป็นรายเดียวที่เชื่อมต่อสถิติกับ Instagram โดยตรง”

ขณะเดียวกันการเปิดตัว Pickle ถือเป็นการหาช่องทางรายได้ใหม่ของแรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป เพราะปัจจุบันธุรกิจเอเจนซี่ยังแข่งขันกันสูง ประกอบกับความไม่แน่นอนพร้อมกันขึ้นตลอดเวลา แม้สัญญาณการลงทุนจากแบรนด์ต่างๆ เริ่มกลับมาช่วงสิ้นปี 2563 หลังหายไปพร้อมกับวิกฤต COVID-19 ที่สร้างปัญหาทั้งปี 2563

ทั้งนี้แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป วางเป้าหมายว่า Pickle จะต้องมีฐาน Influencer ในระบบหลักพันคน และมีแบรนด์เข้ามาติดต่อใช้บริการมากขึ้น แต่ปัจจุบัน Pickle ยังเปิดให้ใช้ฟรี และช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จะมีการเก็บค่าบริการ เบื้องต้นจะสร้างรายได้จากแต่ละ Match ระหว่างแบรนด์กับ Influencer

สรุป

ส่วนตัวเชื่อว่าหลังจากนี้ Pickle น่าจะขยายไปที่ Influencer บนแพลตฟอร์มอื่นเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ เหมือนกับผู้เล่นที่เข้ามาก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ง่ายที่ Pickle จะเติบโตในตลาด เพราะ Influencer Platform แข่งขันกันสูง ทั้งแบรนด์ยังเก่งมากขึ้นในการบริหารจัดการ Influencer ด้วยตัวเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา