รวมกลโกงการตลาดออนไลน์ผ่าน Influencer : ปั่นยอด ใช้บอทตอบคอมเม้นท์ แชร์ในกลุ่มวนกันดู

นักการตลาดต้องรู้ ผู้บริโภคต้องเท่าทัน การทำการตลาดบนโลกออนไลน์ที่ใช้ Influencer Marketing คือคนดังหรือเน็ตไอดอลทั้งหลาย มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องคอยปั่นยอดวิว ยอดไลค์และยอดคอมเม้นท์เพื่อผลทางการตลาด

Photo: flickr.com by bt_ist

หนึ่งในการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ที่ฮอตฮิตคือการใช้ Influencer Marketing อธิบายง่ายๆ คือ ใช้การโฆษณาผ่านคนที่มียอดติดตาม (follower) สูงๆ เป็นเน็ตไอดอล เป็นคนดัง เป็นดาวเด่นบนโลกออนไลน์ ฯลฯ โดยจะด้วยความเชื่อ (และรวมถึงสถิติ) ที่ว่า การทำการตลาดผ่าน Influencer ได้ผลดีกว่าการซื้อโฆษณา เพราะเป็นการซื้อโฆษณาแบบอ้อมๆ ผ่านคนดังทั้งหลาย ให้ความรู้สึกจริงใจกว่าซื้อโฆษณากันตรงๆ

  • แต่ปัญหาคือในอุตสาหกรรม Influencer การตลาดที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ (ตัวเลขของตะวันตก) ไม่ได้จริงใจอย่างที่หลายคนคิด มีการปั่นยอดตัวเลขให้สูง ซึ่งเอาเข้าจริงบริษัทที่จ้างก็รู้ ลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

รวมกลโกง Influencer Marketing

  1. หลังจากที่ Influencer โพสต์ขายของไปแล้ว หลังจากนั้นจะมีผู้ใช้งานไปคอมเม้นท์โดบติดแฮชแท็กทำนองว่า #sponsored #ad หรือ #สปอนเซอร์ #โฆษณา : มีการสำรวจมาว่า กว่า 50% เป็นของปลอม (fake) อย่างเช่นในวันหนึ่งมียอดสูงถึง 118,007 คอมเม้นท์ แต่ความจริงคือเป็นคอมเม้นท์ที่มาจากผู้ใช้งานจริงเพียง 20,942 คอมเม้นท์เท่านั้น
  2. มากกว่า 15% ของ Influencer ไม่เคยสร้างโพสต์ หรือเขียนโพสต์เอง หมายความว่า ทางบริษัทจะส่งสคริปต์พร้อมรูปมาให้ทั้งหมด ด้าน Influencer เพียงแค่รอกด Copy แล้วโพสต์ก็พอ
  3. มีการใช้บอทคอมเม้นท์ (Bot comment) กว่า 40% หรือคิดเป็นตัวเลขคือมี Influencer มากกว่า 500 รายจาก 2,000 รายในแต่ละวันที่ใช้บอทมาคอมเม้นท์เพื่อเพิ่มยอด
  4. มีการแชร์กันในกลุ่มเพื่อปั่นยอด โดยเฉพาะบน Instagram ผลสำรวจพบว่า ในจำนวน 2,000 โพสต์ มีประมาณ 36% ที่ปลอมทุกอย่างทั้งยอดไลค์ ยอดคอมเม้นท์ จนกระทั่งยอดผู้ติดตาม

นักการตลาดต้องรู้เท่าทัน รวมวิธีจับกลโกงของเหล่า Influencer

แม้จะทำกันเป็นขบวนการ แต่นักการตลาดรวมถึงผู้บริโภคต้องรู้ให้ทันกลโกงของ Influencer เพราะแน่นอนเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลกตะวันตก แต่ในไทยก็มีเช่นกัน ลองมาดูวิธีจับกลโกงเหล่านี้

  1. จุดสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ ถ้ามีเพจบางเพจชั่วข้ามคืน ในความหมายที่มียอดไลค์ ยอดติดตาม ยอดแชร์สูงอย่างไม่เป็นาก่อน ให้คิดไว้ว่าก่อนว่า เพจนี้ “ซื้อ” มาชัวร์ และจะด้วยซื้อจากเพจเก่า account เก่ามาดัดแปลง หรือซื้อยอดผู้ติดตาม ยอดไลค์ก็ตามที
  2. สัดส่วนแปลกๆ คือแบบนี้ โดยปกติ สัดส่วนคอมเม้นท์ต่อโพสต์ควรจะอยู่ที่ 2% เมื่อเทียบกับยอด Reach ไม่ว่าจะบน Facebook, Twitter หรือ Instagram และอีก 15% น่าจะเกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าโดยตรง เพราะฉะนั้นถ้าไม่ถึงยอดที่ว่ามาก็ให้เดาทางไว้ก่อนเลยอาจจะใช้เงินซื้อมาอีกนั่นแหละ

สรุป

Influencer โกงยอด ปั่นตัวเลข เพื่อสร้างภาพการตลาด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกที่ และเอาเข้าจริง บริษัทที่มาจ้างก็รู้ว่า Influencer มีกลโกงอย่างไรบ้าง แต่ที่ไม่หยุดก็เป็นเพราะเห็นว่าสุดท้ายผลประโยชน์ก็ยังได้กลับมา แต่สิ่งหนึ่งที่บริษัทอาจคิดคำนวณน้อยไปคือผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงการ ในอุตสาหกรรม เพราะผลที่ตามมาใหญ่กว่านั้นเยอะ เนื่องจากมันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมและความจริงใจต่อผู้บริโภค

ที่มา – Digiday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา