เปิดคู่มือทำตลาดด้วย อินฟลูเอนเซอร์ สินค้าไหน ต้องใช้แบบใด และทำไมถึงละเลยช่องทางนี้ไม่ได้

ตอนนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึง SME เริ่มทำตลาดผ่าน อินฟลูเอนเซอร์ มากขึ้น และกระแสดังกล่าวไม่มีท่าทีว่าจะน้อยลง Brand Inside จึงอยากชวนมาเตรียมความพร้อม เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการทำตลาดผ่าน อินฟลูเอนเซอร์

อินฟูลเอนเซอร์

อินฟลูเอนเซอร์ คืออะไร ทำไมต้องใช้?

อินฟลูเอนเซอร์ ถ้าอธิบายแบบง่าย ๆ คือผู้มีอิทธิพลทางความคิด สามารถจูงใจความคิดของผู้รับสารให้คล้อยตามกับสิ่งที่ตัวเองสื่อสารได้ ซึ่งในประเทศไทย อินฟลูเอนเซอร์ ค่อนข้างมีอิทธิพลทางความคิดในการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ ของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

Mindshare บริษัทเอเจนซี่ชั้นนำของโลก ลงสำรวจผู้บริโภคในประเทศไทย พบว่า 70% ของกลุ่มสำรวจมีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์อย่างน้อย 1 คน และ 76% ของกลุ่มสำรวจยังซื้อสินค้าตามคำแนะนำของ อินฟลูเอนเซอร์ ผ่านเหตุผลหลักคือ เชื่อใจในคำแนะนำของ อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงรับรู้โปรโมชันต่าง ๆ จาก อินฟลูเอนเซอร์

สำหรับ อินฟลูเอนเซอร์ ที่จูงใจให้ผู้ติดตามเกิดการจับจ่าย นอกจากกลุ่มนักแสดงที่เป็นที่รู้จัก คือกลุ่ม YouTuber กับนักร้องนักดนตรี ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่คล้อยตามคำแนะนำเหล่านี้ แต่ผู้ชายถูกจูงใจจาก อินฟลูเอนเซอร์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจูงใจได้เป็นอย่างดี

อินฟลูเอนเซอร์

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อทำตลาดด้วย อินฟลูเอนเซอร์ เป็นเม็ดเงินมหาศาล เช่นในระดับโลกมีคาดการณ์ว่า ตลาด อินฟลูเอนเซอร์ มีมูลค่ารวมกว่า 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.62 แสนล้านบาท) ในปี 2021 และเอเจนซี่มีการใช้เงินกับช่องทางนี้มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน

ยิ่งปัจจุบัน อุปกรณ์เพื่อทำคอนเทนต์เข้าถึงง่ายขึ้น รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่พร้อมให้บริการตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่จะมี อินฟลูเอนเซอร์ เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก แถมพวกเขายังเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคล้ายกับความหลากหลายของนิตยสารในอดีต

ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์ หากแบ่งตามจำนวนผู้ติดตามจะแบ่งได้เป็น

  • นาโน อินฟลูเอนเซอร์ ผู้ติดตาม 1,000-5,000 คน
  • ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ ผู้ติดตาม 5,000-20,000 คน
  • กลุ่มดาวรุ่ง หรือ อินฟลูเนเซอร์ ระดับกลาง ผู้ติดตาม 1-5 แสนคน
  • แมคโคร อินฟลูเอนเซอร์ ผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน
  • เมกา อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีชื่อเสียง ผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน

อินฟลูเอนเซอร์

แต่จะให้แบ่งแบบเดิม อาจทำตลาดได้ไม่ถูกจุด

อย่างไรก็ตาม การแบ่งรูปแบบการใช้งาน อินฟลูเอนเซอร์ ตามจำนวนผู้ติดตามอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องในปี 2021 และอนาคต เพราะจากภาพรวมพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการสร้างตัวตน ทำให้เกิด อินฟูลเอนเซอร์ รูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องความแตกต่าง และความรู้เฉพาะทางจริง ๆ

Mindshare ได้แนะนำ 5 อินฟลูเอนเซอร์ รูปแบบใหม่ที่น่าสนใจดังนี้

อินฟลูเอนเซอร์

Niche / Specialties หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีความรู้ และผลิตเนื้อหาเฉพาะเรื่องที่รู้จริง เช่น อินฟลูเอนเซอร์ สายแม่บ้าน หรือ เกม เพราะถึงพวกเขาจะมีผู้ติดตามไม่มาก อยู่ในระดับ นาโน อินฟลูเอนเซอร์ แต่ด้วยความรู้จริง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามตลอดเวลา ทำให้แบรนด์ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ด้วยพวกเขามีฐานที่เล็ก ทำให้แบรนด์ หรือเอเจนซี่ เจรจาต่อรองได้ไม่ยาก หรือใช้ต้นทุนน้อยกว่าการใช้ดารานักแสดงนั่นเอง

Executive หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ที่เป็นผู้บริหาร โดยก่อนหน้านี้อาจเน้นไปที่ CEO ขององค์กรระดับโลก แต่ปัจจุบันผู้บริหาระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ของไทยเริ่มลงมาเล่นตลาดนี้มากขึ้น เช่น เศรษฐา ทวีสิน ของแสนสิริ หรือ ตัน ภาสกรนที ของอิชิตัน ซึ่งแนวความคิดของพวกเขาสามารถจูงใจผู้รับสารให้คล้อยตามได้โดยง่าย ผ่านประสบการ และความเชี่ยวชาญในโลกธุรกิจ ยิ่งตอนนี้มีช่องทางหลากหลายให้สื่อสาร ก็ยิ่งง่ายสำหรับพวกเขา

Inclusive หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ที่เน้นเรื่องความหลากหลาย เพราะปัจจุบันความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพศ, เชื้อชาติ, สีผิว หรืออายุ ต่างไม่มีกำแพงอีกต่อไป และพวกเขาสามารถเข้าถึงผู้คนผ่านตัวตนจริง ๆ ไม่ต้องปรับตัวให้เข้ากับทิศทางตลาดในตอนนั้น เช่นกลุ่มสาว Plus Size, ผู้สูงอายุ หรือกลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น โดยตอนนี้เอเจนซี่ และแบรนด์เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้มากขึ้น ผ่านการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย

Cross-border หรือ การใช้ อินฟลูเอนเซอร์ ต่างชาติ โดยเฉพาะศิลปิน ดารา นักแสดง เพราะพวกเขาไม่ได้โด่งดังแค่ในประเทศ แต่คือทั่วโลก ยิ่งการที่แบรนด์เลือกพวกเขามาทำตลาด ย่อมสร้าง Impact ให้เกิดการรับรู้ และเกิดการพูดถึงในวงกว้าง ตัวอย่างที่ดีคือ ศิลปิน ดารา นักแสดง เอเชีย ที่ปัจจุบันขึ้นเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับหลากหลายแบรนด์ในตลาดโลก ลบภาพการเหยียดเชื้อชาติ และเสริมแกร่งให้กับแบรนด์ในสายตาผู้บริโภคได้จริง

Virtual หรือ อินฟลูเอนเซอร์ เสมือนจริง ถือเป็นกระแสใหม่ในยุคนี้ เพราะกำแพงทางเทคโนโลยีที่ทลายลง ทำให้พวกเขาสามารถสร้างตัวตนใหม่เพื่อติดต่อกับกลุ่มเป้าหมายได้จริง ซึ่งข้อดีของ Virtual Influencer คือไม่เหนื่อย, ไม่เบี้ยวงาน และควบคุมพฤติกรรมได้ จึงแทบจะไม่ส่งผลเสียกับแบรนด์ แต่ข้อเสียของ อินฟลูเอนเซอร์ ดังกล่าวคือ ไม่มีตัวตนจริง ๆ ซึ่งค่อนข้างท้าทายในการทำตลาดในยุคที่ผู้บริโภคอยากสื่อสารกับคนที่มีตัวตนจริง ๆ มากกว่า

อินฟลูเอนเซอร์

ช่องทางที่แตกต่าง สร้างผลลัพธ์ที่ต่างกัน

ต่อเนื่องจากการใช้ อินฟลูเอนเซอร์ ให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย ถัดมาคือการเลือกช่องทาง และรูปแบบการทำงานร่วมกับ อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น เพราะการเลือกช่องทางสื่อสาร เช่นเป็นบทความรีวิว หรือวีดีโอสั้น-ยาว รวมถึงการไลฟ์ถ่ายทอดสด ล้วนให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

เช่นการเลือกใช้แพลตฟอร์ม วีดีโอสั้น ไม่ว่าจะเป็น TikTok, IG Stories หรือ Reel จะได้ผลกับการเข้าถึงอย่างรวดเร็ว อาจซ่อนแบรนด์ให้เห็น หรือเน้นความสนุกสนาน ส่วน วีดีโอยาว เช่น YouTube และ IG TV จะได้ผลกับเนื้อหาที่เน้นความจริงจัง และความน่าเชื่อถือ ซึ่งก็แล้วแต่แบรนด์จะเลือกทำตลาด

นอกจากนี้การ ไลฟ์ถ่ายทอดสด ยังช่วยเพิ่มสีสันให้แบรนด์ได้โดยง่าย ทั้งยังปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันมี อินฟลูเอนเซอร์ ถึง 23% เริ่มจริงจังกับเนื้อหาประเภทนี้ เพราะเห็นโอกาส และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตัวเอง และแบรนด์ได้

อย่างไรก็ตาม การทำงานระหว่าง แบรนด์ กับ อินฟลูเอนเซอร์ จะได้รับผลดีที่สุดเมื่อมีการทำงานร่วมกัน หรือ Co-Creation อย่างใกล้ชิด เพราะความใกล้ชิดอาจได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ อินฟลูเอนเซอร์ เองเติบโตในอนาคตโดยยังรักษาความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา