ไขข้อสงสัยผ่านรายงานของ KKP Research เงินเฟ้อพุ่ง สินค้าเกษตร-อาหารแพง แต่ทำไมชาวไร่ชาวนาที่เป็นประชากร 1 ใน 3 ของไทย กลับมีรายได้ตกต่ำกว่าเก่า
เงินเฟ้อคือประเด็นที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะมีข่าวออกมาเป็นระยะว่าเงินเฟ้อทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบสิบกว่าปีอย่างต่อเนื่องแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทุกคนสามารถสัมผัสถึงเงินเฟ้อได้จริงในชีวิตประจำวันที่สินค้าและบริการหลายอย่างแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหรืออาหาร
คำถามที่น่าสนใจคือ ราคาอาหารแพงขึ้น แล้วคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของไทยอย่างชาวไร่ชาวนามีกำไรเพิ่มขึ้นหรือไม่? ในเรื่องนี้ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงานและให้คำตอบเรื่องนี้เอาไว้ชัดเจนเอาไว้ว่า ‘ไม่’
ส่วนสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรนั้น Brand Inside จะพาทุกท่านไปหาสาเหตุของเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันในบทความนี้
ต้นทุนปุ๋ยแพง คือสาเหตุ
KKP Research อธิบายว่า แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้พลังงานและอาหารทั่วโลกแพงขึ้นจากการขาดแคลน แต่ปัจจัยสำคัญอย่าง ‘ราคาปุ๋ยที่พุ่งทะยาน’ แพงขึ้นเกือบ 3 เท่า ก็ทำให้กำไรสุทธิของเกษตรกรไทยดีขึ้นได้ไม่เต็มที่หรือไปจนถึงขั้นแย่จนขาดทุนหนักในบางกลุ่ม
ถ้ามองแค่ในแง่ของรายได้อย่างเดียว ยังไม่มองต้นทุน KKP Research คาดว่ารายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 19.3% มาอยู่ระดับ 970,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตรทุกประเภทยกเว้นข้าว
เพราะแม้ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ราคาข้าวคาดว่าราคาจะยังตกต่ำในปีนี้ด้วย 2 เหตุผล
- ผลผลิตที่ดีกว่าที่คาดจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในหลายประเทศ
- ไม่ได้เป็นสินค้าทดแทนพลังงานเหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ขายดีขึ้นเพราะน้ำมันแพง
ตัวเลขเหล่านี้ก็สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้น 6.42% จากปีก่อน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
แต่พอลองหันมามองต้นทุน จะเห็นว่ามีต้นทุนราคาปุ๋ยที่พุ่งขึ้นจนกลบรายได้ (ที่เพิ่มขึ้นจากอาหารแพง) จนมิด เช่น
- ข้าวเจ้าที่กำไรขั้นต้นของชาวนาในภาคกลางและเหนือจะเปลี่ยนจากมีกำไร 20.9% ของรายได้ทั้งหมดมาเป็นขาดทุน 1.5%
- ข้าวหอมมะลิที่กำไรขั้นต้นของชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากที่ขาดทุนอยู่แล้ว 27.5% ของรายได้ทั้งหมด จะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 63.6%
ขณะที่สินค้าเกษตรอื่น ๆ อย่างปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แม้ว่าราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มได้ดึงให้ราคาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงพออยู่บ้าง
3 แนวทางเสริมแกร่งเกษตรกร
KKP Research ประเมินว่า สถานการณ์นี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐใน 3 ประเด็น
1) การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด หรือ Zoning
- โดยเฉพาะข้าวและอ้อยที่ยังใช้พื้นที่ไม่เหมาะสมคือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำ
- ขณะเดียวกันสำหรับสินค้าเกษตรอื่น ๆ ยังพบหลายจังหวัดมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยเกินไป แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูงก็ตาม
2) การพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร
- โดยเฉพาะข้าวที่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปัจจุบัน 59 ล้านไร่ กลับมีถึง 74.3% หรือ 44.5 ล้านไร่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน
- และเมื่อคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ การปลูกข้าวในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านอกเขตชลประทานเกือบ 60%
3) การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น
- มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
รับมือวิกฤตอาหาร
KKP Research มองว่าแม้ในปัจจุบันประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารในไทยอาจจะยังไม่น่ากังวลเหมือนหลายประเทศในโลก แต่ในระยะยาวจากความเปราะบางของภาคเกษตรไทยที่สะท้อนออกมาจากวิกฤตราคาปุ๋ยครั้งนี้ ทำให้ไทยจำเป็นต้องวางแผน พัฒนาและลงทุน เพื่อเตรียมรับมือ
ข้อมูลจาก Global Food Security Index ของ The Economist พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศ โดยไทยมีคะแนนที่ดีในมิติราคาอาหารที่เข้าถึงได้ (Affordability) แต่ในมิติความพร้อมของอาหาร (Availability) มิติคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และมิติทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น (Natural Resources & Resilience) ยังได้คะแนนไม่มากนักสะท้อนให้เห็นว่าในภาคการเกษตรเองยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นได้อีกมาก
ที่มา – KKP Research
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา