ขยะติดเชื้อจากไวรัสโคโรน่า สิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้การกำจัดหน้ากากอนามัยหลังใช้งานแล้ว

การแพร่ระบาดโรคโคโรน่า จากประเทศจีนและกำลังลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอยู่นั้น ท่ามกลางความตื่นตระหนกของคนทั่วโลกที่แห่ซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค (Mask) แต่จะทำอย่างไรล่ะ เมื่อหน้ากากอนามัยที่เราต้องใส่อยู่ทุกวันกลายเป็นขยะติดเชื้อ

ภาพจาก Shutterstock

ทั้งนี้จากสถิติปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อในปี 2560 ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่ปี 2556 – 2559 เฉลี่ยกว่า 5 หมื่นตันซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และสถานที่ที่สร้างขยะมูลฝอยติดเชื้อมากที่สุดและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีคือโรงพยาบาลรัฐ ในปี 2556 สร้างขยะมูลฝอยติดเชื้อปริมาณ 28,668 ตัน ปี 2557 ปริมาณ 29,614 ตัน ปี 2558 ปริมาณ 30,951 ตัน และปี 2559 ปริมาณ 31,601 ตัน

ดังนั้นในปี 2563 ประเทศไทยจะมีขยะติดเชื้อในจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าการใช้หน้ากากอนามัย โดยเฉลี่ยแล้วสามารถใช้ได้วันละ 1 แผ่นต่อวันเท่านั้น นอกเสียจากใช้น้อยมากถึงสามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยในสถานการณ์ปกติความต้องการใช้หน้ากากอนามัย 30 ล้านชิ้นต่อเดือน การแพร่ระบาดไรวัสโคโรน่าส่งผลให้ความต้องการใช้หน้ากากอนามัย เพิ่มเป็น 40 ล้านชิ้นต่อเดือน

ภาพจาก Shutterstock

การแพร่ระบาดของโคโรน่า นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดแยกขยะของคนไทยที่ใช้ภายในบ้านมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมการแยกขยะภายในบ้านมีน้อยมาก โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จัดอยู่ในประเภทขยะติดเชื้อจำเป็นต้องแยกทิ้งต่างหาก และต้องนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้

แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีการคัดแยกขยะ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ถังขยะสีแดง เป็นขยะอันตราย อาทิ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายต่างๆ ถ่านไฟฉาย กระป๋องยาฆ่าแมลง น้ำมันเครื่อง ถังขยะสีเขียว สำหรับขยะเปียก หรือขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ส่งกลิ่นเหม็นได้อย่างรวดเร็ว เช่น เศษผักผลไม้  เนื้อสัตว์ เศษอาหาร เศษไม้

ภาพจาก Shutterstock

ถังขยะสีน้ำเงิน สำหรับขยะทั่วไป จะถูกนำไปเข้ากระบวนการแปรรูป เป็นขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้และไม่สามารถแยกเป็นประเภทต่างๆ เช่น เศษกระจกแตก เปลือกลูกอม ซองขนม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ฯลฯ ถังขยะสีเหลือง หรือขยะรีไซเคิล สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก

แต่ตอนนี้ยังไม่มีถังขยะติดเชื้อรองรับ ส่วนใหญ่ถังขยะประเภทดังกล่าวมีอยู่ภายในโรงพยาบาล ดังนั้นวิธีการคัดแยกขยะติดเชื้อควรใส่ถุงขยะ พร้อมกับการเขียนว่าหน้าถุง “ขยะติดเชื้อ” เพื่อให้ผู้ที่บริหารจัดการขยะ หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น และนำขยะติดเชื้อไปผ่านกระบวนการกำจัดในเตาเผาขยะติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง

ภาพจาก Shutterstock

สรุป

ปี 2563 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนไทยรักษ์โลก นอกเหนือจากการงดใช้ถุงพลาสติกแล้ว สิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้คือการคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะที่สามารถรีไซเคิล เช่น แก้ว พลาสติก นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เพื่อลดภาวะโลกร้อน และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นทำให้คนไทยได้เรียนรู้ว่านอกจากการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะอันตราย ขยะเปียกแล้ว ยังมีขยะติดเชื้อที่ต้องแยกและต้องกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อนั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา