กฎหมายใหม่ของอินโดฯ การเหยียดชาติชาวปาปัว ปลุกให้คนลงถนนยอมทนแก๊สน้ำตา

ชาวอินโดนีเซียประท้วงต้านกฎหมายฉบับใหม่ที่ขยายอำนาจของรัฐ ลดทอนอำนาจประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการตรวจสอบคอรัปชั่นที่น้อยลง การควบคุมความสัมพันธ์ก่อนสมรส แม้กระทั่งผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีก็ห้ามประชาชนวิพากษ์ วิจารณ์ 

นอกจากประเด็นทางกฎหมายแล้ว ยังมีการประท้วงต่อต้านการถูกเหยียดเชื้อชาติในปาปัวซึ่งเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอินโดนีเซีย พวกเขาถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องเรียกร้องให้มีการหยั่งเสียงประชามติใหม่ เพราะต้องการก่อตั้งเขตปกครองตนเองปาปัว

ภาพจาก Shutterstock

ชาวอินโดนีเซียลุกขึ้นมาต่อต้าน ประท้วง หลังรัฐบาลออกกฎหมายลดทอนอำนาจประชาชน

ในประเด็นด้านกฎหมายนั้น Aljazeera รายงานว่า คณะทำงานเพื่อการต่อต้านการคอรัปชั่นนี้ถือเป็นสถาบันที่ทำงานมีประสิทธิภาพมาก แต่ก็ถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกันเพื่อลดทอนอำนาจในการตรวจสอบลง

ประชาชนที่ออกมาต่อต้าน ประท้วง กฎหมายหลายฉบับต่างเห็นว่ารัฐบาลกำลังแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ซึ่งมีเรื่องการห้ามมีความสัมพันธ์นอกสมรส หรือเรียกง่ายๆ ว่า ถ้ายังไม่แต่งงานกันก็ห้ามมีความสัมพันธ์กันโดยเด็ดขาด เพราะจะถูกเอาผิดทางกฎหมายได้ 

ภาพจาก Shutterstock

เหยียดเชื้อชาติปาปัวและการเรียกร้องเพื่อปกครองตนเองก็เรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน

ขณะที่เรื่องเหยียดเชื้อชาติชาวปาปัวและความต้องการแบ่งแยกประเทศออกเป็นเขตปกครองตัวเองนั้นก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

รายงานอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีคนบาดเจ็บจากการประท้วงทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งการเหยียดชาติ และการเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกดินแดนรวมๆ เกือบ 400 ราย เสียชีวิตแล้วเกือบ 40 ราย พร้อมกันนี้ก็มีคนทยอยอพยพออกจากปาปัวราว 16,000 ราย (ปาปัวมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจต่อประเทศเพราะเป็นแหล่งที่มีเหมืองทองใหญ่ที่สุดด้วย)

คำเหยียดหยามที่เจ้าหน้าที่มีต่อประชาชน คือคำว่า “ลิง” ซึ่งมีความหมายโดยนัยที่สื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติและลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกเหยียด 

เจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน (HRW) ระบุว่า ประธานาธิบดีโจโควีและผู้นำคนอื่นๆ ควรจะให้ความรู้กับคนทั่วไปว่า การเหยียดชาวปาปัวด้วยคำว่าลิง ที่สื่อถึงคนผิวคล้ำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีและไม่ควรทำ เพราะชาวปาปัวก็คือพลเมืองชาวอินโดนีเซียเช่นกัน ดังนั้นก็ควรถูกปฏิบัติแบบเดียวกับที่ชาวชวาได้รับอย่างเช่นที่มนุษย์คนอื่นๆ เค้าทำกัน

ก่อนหน้าที่จะได้รับเลือกตั้งสมัยที่สอง โจโควีเคยสัญญาว่าจะนำความมั่งคั่งสู่ปาปัวจนได้รับชัยชนะมา จากนั้นเมื่อเกิดเหตุประท้วงเรื่องชาวปาปัวถูกเหยียด โจโควีรับมือด้วยการคงกองกำลังทั้งทหารและตำรวจจำนวนมากในปาปัว ไม่พอ ยังตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในที่ชุมนุมและห้ามนักข่าวต่างประเทศเข้าไปในพื้นที่ด้วย

ภาพจาก Shutterstock

สรุป

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทีเดียวพร้อมๆ กันนี้ ถือเป็นความท้าทายต่อโจโค วิโดโด หรือโจโควี่อย่างมาก เขากำลังเตรียมตัวดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองในวันที่ 20 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เรื่องโกลาหลที่ยากจะแก้ไขนี้ดูจะลุกลามเกินรับมือแต่โจโควี่น่าจะใช้ความเด็ดขาดโดยใช้กำลังด้านความมั่นคงจัดการไปก่อน 

ในส่วนของการแยกตัวออกเป็นเขตปกครองปาปัวจนเกิดเหตุจราจลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และน่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เรื่องของการแก้กฎหมาย ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่มีทีท่าว่าจะถอย

ที่มา -​ Aljazeera (1), (2),  South China Morning PostThe New York Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์