ส่องบทบาทผู้นำอินโดนีเซีย เจรจานักธุรกิจระดับโลก-ผู้นำมหาอำนาจนับไม่ถ้วน ในเวลาแค่ 3 เดือน

ส่องบทบาทผู้นำ อินโดนีเซีย เจรจานักธุรกิจระดับโลก-ผู้นำมหาอำนาจนับไม่ถ้วน ในเวลาแค่ 3 เดือน ดึงดูดการลงทุนจากประเทศและบริษัทชั้นนำได้ทั่วโลก

อินโดนีเซีย พื้นฐานการเติบโตแข็งแกร่ง

ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากเวียดนาม อีกหนึ่งเสือเศรษฐกิจอาเซียนที่เติบโตได้อย่างน่าประทับใจ มีศักยภาพในการพัฒนา และเดินนโยบายต่างประเทศได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจคือ “อินโดนีเซีย” และหนึ่งในกุญแจสำคัญคือบทบาทของผู้นำประเทศที่เข้าหาบุคคลสำคัญในเศรษฐกิจโลกแบบรุกเต็มสูบ

ลองมาดูศักยภาพของอินโดนีเซียกันก่อน ถ้าลองกางข้อมูลดูกันชัดๆ จะพบว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพเติบโตสูงมาก ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตราว 5.44% โดยแบงก์ชาติอินโดนีเซียก็เพิ่งปรับคาดการณ์การเติบโตของทั้งปี 2022 ขึ้นจาก 4.5% เป็น 5.3%

แถมก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสะดุดในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ อยู่บ้าง แต่บทจะกลับมา ก็กลับเติบโตได้รวดเร็วกว่าดาวรุ่งที่อยู่ภายใต้แสงสปอตไลต์ของสื่อมาตลอดอย่างเวียดนามอีก 

ช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจของดาวรุ่งม้ามืดอย่างอินโดนีเซียมีอัตราการเติบโต ดังนี้

  • 2019 เติบโต 5% (ก่อนโควิด)
  • 2020 เติบโต -2.1%
  • 2021 เติบโต 3.7% (เวียดนามโต 2.6%)
Jakarta Indonesia จาการ์ต้า อินโดนีเซีย
ภาพจาก Shutterstock

หนึ่งในจุดเด่นของอินโดนีเซียที่มีมาเสมอ คือดีกรีการเป็น เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่ากว่า 12 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทิ้งห่างเศรษฐกิจอันดับ 2 อย่างไทยเกินเท่าตัว พ่วงมาด้วยประชากรที่มากที่สุดในภูมิภาคราว 300 ล้านคน ซึ่งไม่ได้มีดีแค่ปริมาณเพราะประชากรอินโดนีเซียมีสัดส่วนคนหนุ่มสาวสูงมากสวนทางกระแสสังคมสูงวัยในปัจจุบัน

ประชากรแต่ละช่วงอายุของอินโดนีเซียมีดังนี้

  • คนหนุ่มสาว 64% ของประชากร (อายุน้อยกว่า 39 ปี) ไทยมี 49% 
  • ประชากรสูงวัย 11% ของประชากร (อายุมากกว่า 60 ปี) ไทยมี 21%

จำนวนคนหนุ่มสาวจำนวนมากหมายถึงทั้งการบริโภค กำลังแรงงานในอนาคต และความสามารถในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ยุคดิจิทัล เพราะรายงานหลายชิ้นและแหล่งข้อมูลหลายแห่งพูดในทำนองเดียวกันว่าคนอายุน้อยมีแนวโน้มเป็น digital native มากกว่า และเปิดรับเศรษฐกิจดิจิทัลได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ บรรยากาศในการพัฒนานวัตกรรมในอินโดนีเซียถือว่าค่อนข้างมีชีวิตชีวา ข้อมูลจาก CB Insights ยังระบุว่า อินโดนีเซียยังมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นถึง 7 ตัว ถือเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยมีแบรนด์ที่คนไทยรู้จักกันดี เช่น Traveloka แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว และ J&T Express บริษัทขนส่ง 

Traveloka ทราเวลโลก้า
ภาพจาก Shutterstock

ทั้งนี้ สิงคโปร์มียูนิคอร์น 13 ตัว เวียดนาม 2 ตัว มาเลเซีย 1 ตัว และไทย 2 ตัว โดยข้อมูลจาก CB Insights ยังไม่อัพเดตครอบคลุม Multiverse Expert ซึ่งถือเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของไทย

ดูข้อมูลเปรียบเทียบเศรษฐกิจ ระหว่าง 3 เสือเศรษฐกิจอาเซียน ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียเพิ่มเติม ที่นี่

อินโดนีเซีย รุกเต็มสูบ แม้แต่ Elon Musk ก็คุยมาแล้ว

การที่อินโดนีเซียเริ่มจะดูโดดเด่นขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็มาจากบทบาทที่โดดเด่นของ Joko Widodo หรือ Jokowi ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในการเข้าหาแบบรุกเต็มสูบกับบุคคลสำคัญที่มีบทบาทนำในเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจหรือผู้บริหารบริษัทระดับโลก ซึ่งถ้าพูดแบบทางการๆ หน่อย ก็ต้องเรียกว่านี่คือการมีนโยบายระหว่างประเทศเชิงรุก (active foreign policy)

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากผู้นำอาเซียนเข้าพบผู้นำสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็มีรายงานจากรัฐบาลอินโดนีเซียว่า Jokowi มีนัดเข้าหารือกับ Elon Musk ซีอีโอของบริษัท Tesla และ SpaceX ณ ฐานปล่อยจรวด Starbase ในเท็กซัส เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย

elon musk joko widodo jokowi

สิ่งที่เห็นได้ชัดว่านี่คือการเจรจาเชิงรุกมากกว่ารับ คือการที่อินโดนีเซียทราบถึงจุดได้เปรียบในการครอบครองแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก (ส่วนประกอบสำคัญในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า) และใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการเจรจา โดยในภายหลังผู้นำอินโดนีเซียได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าต้องการ Tesla เข้ามาสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันไม่ใช่แค่แบตเตอรี่

อินโดนีเซียมีกำลังการผลิตนิกเกิลมากที่สุดในโลก เป็น 3 เท่าของผู้ผลิตอันดับ 2 อย่างมาเลเซีย มีสัดส่วนการผลิตกว่า 30% ของปริมาณแร่ชนิดนี้ทั้งหมด ทำให้เริ่มเห็นหลายบริษัท เช่น LG Energy Solution และ Hyundai Motor ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับสองของโลกเริ่มเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย

เงินเฟ้อ-ของแพง อินโดนีเซีย บินไปคุยโดยตรง

หลังจากทริปที่สหรัฐฯ แค่เดือนเดียว Jokowi ก็บินไปยังยุโรป เพื่อพูดคุยในประเด็นสำคัญในประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ การส่งออกอาหาร (เช่น ข้าวสาลี) และปุ๋ยชะงัก ราคาปุ๋ยทะยานขึ้น 3 เท่าจากข้อมูลของ KKP Research ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น 

ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Indomie ก็ขึ้นราคาจาก 3,000 เป็น 3,500 รูเปียห์ (7.35 เป็น 8.5 บาท) เพิ่มขึ้น 16% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในอินโดนีเซียพุ่งขึ้นราว 4.35% (yoy) สูงสุดในรอบ 5 ปี กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ผู้นำอินโดฯ เข้าร่วมการประชุม G7 ที่เยอรมนี โดยอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนอันดับ 2 เสนอให้มหาอำนาจช่วยเหลือยูเครนในการส่งออกอาหารและเลิกคว่ำบาตรปุ๋ยจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักเนื่องจากเป็นสินค้าที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 

หลังจากนั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน Jokowi โดยสารรถไฟเข้าไปยังกรุงเคียฟ ก่อนจะนั่งเครื่องบินต่อไปยังกรุงมอสโควในวันถัดมา เพื่อพูดคุยกับผู้นำทั้ง 2 ชาติที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ในประเด็นเดียวกัน โดยเขาถือเป็นผู้นำเอเชียคนแรกที่เข้าพบผู้นำยูเครนและรัสเซียหลังจากสงครามเริ่มต้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัย Fulcrum ก็แสดงความคิดเห็นว่าแม้บทบาทของอินโดนีเซียบนเวทีโลกจะดูหวือหวา แต่เอาเข้าจริงๆ ความสำคัญและอิทธิพลต่อประเทศโดยเฉพาะยุโรปของอินโดนีเซียก็ไม่ได้มากเท่าที่ควร การเสนอแนวทางบนเวที G7 จึงเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะหวังผลเชิงปฏิบัติได้จริงๆ

โปรเจกต์ใหญ่ ย้ายเมืองหลวง ระดมเงินลงทุนตรงจากผู้นำเอเชีย

ต่อมาอีก 1 เดือน Jokowi บินไปเยือนผู้นำในเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการระดมเงินลงทุนเพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ นูซันตารา โดยผลลัพธ์คือ มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ว่า จะร่วมกันพัฒนาเมืองหลวงใหม่ทั้งในด้านระบบน้ำประปาและเมืองอัจฉริยะ

นอกจากนี้ Widodo ยังทวิตข้อความระบุอีกว่าในการเยือนครั้งนี้เขาได้เข้าพูดคุยกับบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Lotte Chemical, LG, Posco และอื่นๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนในประเทศ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่ามีการบรรลุข้อตกลงด้านการลงทุนมูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญ ระหว่าง Krakatau Steel รัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียและ Posco โดยจะเน้นไปในธุรกิจยานยนต์เป็นหลัก

ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ และจะร่วมมือกันในการสร้างรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง 

ส่วนญี่ปุ่น แม้จะไม่ได้มีการพูดถึงโปรเจกต์การลงทุนพัฒนาเมืองหลวงใหม่ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกัน แต่ Nikkei Asia รายงานว่า ฟูมิโอะ คิชิดะ จะมอบเงินให้กู้ยืมเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาราว 320 ล้านเหรียญเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

นอกจากนี้ ระหว่างทริปในญี่ปุ่นของ Widodo กระทรวงการเศรษฐกิจอินโดนีเซียประกาศว่า Toyota จะทุ่มเงินลงทุน 1.8 พันล้านเหรียญในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ส่วน Mitsubishi จะทุ่มเงิน 670 ล้านเหรียญในช่วง 3 ปี เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด 

สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้คือการประชุม G20 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าซึ่งอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ โดยจุดน่าสนใจก็คือ แม้มหาอำนาจฝั่งตะวันตกจะขอให้อินโดนีเซียตัดชื่อปูตินออกจากการประชุมครั้งนี้ แต่อินโดนีเซียยืนยันว่าผู้นำรัสเซียและจีนร่วมประชุม G20 แน่นอน

อาเซียน สนามแข่งขันอันดุเดือด

การแข่งขันของเสือเศรษฐกิจอาเซียนดุเดือดอย่างมาก และบอกได้เลยว่าไม่ได้มีแค่อินโดนีเซียประเทศเดียวที่เดินนโยบายระหว่างประเทศแบบรุกเต็มสูบ เพราะหลังทริปการไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาของประเทศอาเซียน มีรายงานว่าผู้นำเวียดนามอย่าง Pham Minh Chinh ได้เข้าพบ Tim Cook ซีอีโอของ Apple ที่ Apple Park เช่นกัน 

ทั้งนี้ มีการพูดคุยกันในเรื่องการสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เป็นธรรม โปร่งใส และเป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อช่วยให้บริษัทและนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในเวียดนามได้อย่างสะดวก และนอกจาก Apple แล้ว ในวันเดียวกัน ผู้นำเวียดนามได้เดินทางเข้าไปพบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ใน Silicon Valley ทั้ง Google, Microsoft และ Intel อีกด้วย

ที่มา – Nikkei Asia (1)(2), Bloomberg, World Bank Open Data

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน