คุยกับ Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง หนึ่งในผู้ชนะบนเวที dtac Accelerate batch 5

ในเวที dtac Accelerate รอบนี้ มีสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงร่วมโครงการถึง 1 ใน 3 และ Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง ที่เป็นหนึ่งในผู้ชนะ ก็มีทีมงานที่เป็นผู้หญิงรวมถึง LGBT อยู่ด้วย ไปทำความรู้จักธุรกิจนี้กันดีกว่า เพราะโปรไฟล์ถือว่าไม่ธรรมดาเลย

Indie Dish คืออะไร?

ประโยคแรกๆ ที่ทีม Indie Dish ใช้ในการนิยามธุรกิจสตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่งของตัวเองคือ “กินอาหารสุขภาพ ต้องอร่อยด้วย”

อิง-ดาริน สุทธพงษ์ CEO ของ Indie Dish บอกกับเราว่า “ภาพลักษณ์ของการกินอาหารสุขภาพในช่วงที่ผ่านมาคือ ไม่อร่อย” แม้ตลาดจะมีการเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ในวงการอาหาร ถ้าจะแข่งขันกันได้จริง ความอร่อยคือตัวตัดสินและชี้วัดธุรกิจได้ไม่น้อยเลย

“อาหารไทยอร่อย ใครๆ ก็รู้ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ Healthy โจทย์ของเราคือทำอาหารที่ตอบเรื่องสุขภาพ และต้องอร่อยด้วย”

Indie Dish มาจากคำว่า Indie+Dish โดยมาจาก สไตล์การขายอาหารคลีนของพ่อค้าแม่ค้าบนโลกออกไลน์จำนวนมากที่ “อินดี้สุดๆ บางรายนึกอยากจะขายวันนี้ก็ขาย นึกอยากจะหยุดวันนี้ก็หยุด คือเป็นระบบที่เขาจัดการตัวเอง บางรายก็เป็นสามีภรรยามาทำด้วยกันสนุกๆ”

ส่วนคำว่า Dish มาจากการพลิกแพลงคำให้เข้ากัน ตอนแรกพอได้ Indie มาแล้ว จะใส่ Food ก็ไม่เข้า เลยเปลี่ยนมาเป็น Dish เพราะตัวธุรกิจก็เน้นขายเป็นจานๆ อยู่แล้ว สุดท้ายจึงออกมาเป็นชื่อ “Indie Dish” อย่างที่เห็นกัน

โมเดลคือ ใครทำธุรกิจอาหาร Healthy ก็ขายผ่าน Indie Dish ได้

โดยหลักการแล้ว Indie Dish คือสตาร์ทอัพที่ส่งแพลตฟอร์มเข้ามารวบรวมร้านอาหารคลีนบนโลกออนไลน์ แล้วส่งสินค้าให้แบบเดลิเวอรี่ โดยจะเข้ามาลดปัญหาการจัดการ “ระบบหลังบ้าน” ของคนทำธุรกิจอาหารสุขภาพในตลาด โดยซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นของ Indie Dish

“พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ต้องลำบากจัดการตอบ LINE ลูกค้า เพราะเมื่อสั่งซื้อผ่าน Indie Dish เราจะจัดการระบบทั้งหมดให้ ตั้งแต่สั่งซื้อไปจนถึงกระจายสินค้า ที่สำคัญคือซื้อผ่านเรา สามารถจ่ายบัตรเครดิตได้ด้วย ต้องยอมรับว่าลูกค้าหลายรายก็ไม่สะดวกโอนหรือจ่ายเงินสดเสมอไป”

ส่วนในมุมของลูกค้า “ก็เลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย เรารวบรวมร้านอาหารสุขภาพบนโลกออนไลน์ไว้กว่า 70 ร้าน และต้องบอกว่าความสร้างสรรค์คือสิ่งที่ Indie Dish มองหาจากคู่ค้ามาตลอด เพราะไม่ใช่ว่าพอพูดถึงอาหารคลีนก็จะเป็นกระเพราะคลีนเหมือนๆ กันทุกรายเท่านั้น แต่เราพยายามกระตุ้นให้แต่ละร้านทำอาหารที่สร้างสรรค์ออกมาตลอด เพื่อทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าอาหารที่เลือกซื้อนั้นผ่านการคัดสรรมาอย่างดี”

ทีมงานแข็งแกร่งคือหัวใจในการประสบความสำเร็จ

พอสอบถามประวัติผู้ก่อตั้ง Indie Dish ต้องยอมรับว่าโปรไฟล์ไม่ธรรมดาเลย เพราะว่าเคยทำงานที่ Amazon ในสหรัฐอเมริกามากว่า 10 ปี และยังมีคนที่ทำงานด้านดีไซน์กับ Starbucks ในสหรัฐอเมริกามาร่วม 8 ปีเช่นกัน แน่นอนว่า พวกเขารวมตัวกันที่สหรัฐอเมริกา คุยกันมาจนลงตัวที่จะทำธุรกิจอาหาร ทั้งหมดเลยตัดสินใจกลับมาประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

“ชอบทำอาหารกันอยู่แล้ว อยู่ที่อเมริกา เราก็ทำอาหารกันเป็นประจำ แต่เราเห็นความเนิร์ดที่ซีแอตเทิล แถวที่เราทำงาน นอกจากจะกินอาหารคลีนกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การจัดการเรื่องอาหารเหลือทิ้งก็ดีมาก เราเลยคิดว่าคนไทยน่าจะได้รู้จักอะไรแบบนี้ นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งที่มาของ Indie Dish เหมือนกัน”

พูดถึงเรื่องอาหารเหลือทิ้งนับเป็นประเด็นใหญ่ในโลกทุกวันนี้ ถ้าเราเข้าแอพพลิเคชั่น Indie Dish แล้วสั่งอาหารจะเห็นได้เลยว่า อาหารจะไม่ส่งภายในวันนี้ แต่จะให้เลือกเวลาส่งอย่างน้อยคือในวันถัดไป นั่นหมายความว่า Indie Dish จะรู้ว่าพรุ่งนี้คุณจะทานอะไร มากกว่านั้นตัวลูกค้าก็รู้ว่าจะได้ทานอะไร เป็นการช่วยลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง

อย่างไรก็ตาม ทีมงานหลักของ Indie Dish ประกอบไปด้วย ดาริน สุทธพงษ์ (อิง) CEO, พงศกร ธีรภาพวงศ์ (เอ) CTO, ณัฐนรี ชุมมานนท์ (เอม) CMO และ Co-Founder อีก 2 คนคือ สุพิชฌาย์ ยามวินิจ (จูน) และสุขุมา วรรณดี (กิ่ง)

คุยเรื่องเงินๆ ทองๆ กับ Indie Dish

Indie Dish เริ่มต้นทำธุรกิจมาในปี 2016 ช่วงเดือนสิงหาคม นับดูแล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ครบ 1 ปีสนิท แต่ยอดการเติบโตน่าสนใจมาก ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ส่งบริการออกมาได้รับผลตอบแทนที่ไม่ดี แต่เมื่อมีการกระจายข้อมูลออกไป ก็ทำให้เติบโตอย่างมาก

“รู้ไหมว่าลูกค้าที่เข้ามาสั่งอาหารในแอพพลิเคชั่น Indie Dish มีการซื้อซ้ำกว่า 53% ส่วนการเติบโตของธุรกิจจะเรียกว่าเป็น 10x ก็ได้ เพราะยอดการสั่งอาหารตอนนี้ตกอยู่ที่หลักแสนต่อเดือน”

ส่วนโมเดลการสร้างรายได้ของ Indie Dish คือการคิดค่าให้บริการจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายผ่านแอพพลิเคชั่น 20 – 30% แต่ที่น่าจับตามองคือ ตอนนี้ Indie Dish ได้ขยายไปทำแบรนด์อาหารของตัวเองอีกตัวคือ Basil ถือเป็นอีกหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ตัวเอง ตอนนี้ในแอพพลิเคชั่นจึงเป็นการผสมผสานระหว่างคัวคู่ค้าที่เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มและขายอาหาร ในขณะที่ Indie Dish เองก็พัฒนาสูตรอาหารเพื่อส่งขายในนามของ Basil ไปพร้อมๆ กันด้วย

Indie Dish มองตลาดในไทยไปไกลกว่านั้น เพราะว่าคู่แข่งคือต่างชาติที่จะเข้ามาลุยในตลาดของไทยในไม่ช้า ในขั้นแรกจะเริ่มส่งบริการขยายออกไปนอกกรุงเทพ แต่ยังคงความเป็นเมือง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่คือคนเมืองที่รักสุขภาพ ส่วนในเรื่องการระดมทุน ก่อนหน้านี้ได้มาจากการเข้าร่วม dtac Accelerate และ 500 TukTuks แต่หลังจากนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 500,000 เหรียญ นับเป็นการระดมทุนใน Stage ที่ 4 เพื่อทำตามเป้าที่วางไว้ ทั้งขยายบริการและพัฒนาแบรนด์อาหารของตัวเองอย่าง Basil นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา