หลังจากที่ประเทศจีนครองแชมป์ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดต่อเนื่องมาหลายปี แต่จากปัญหาในปัจจุบันที่มีคนแต่งงานกันน้อยลง และแม้จะมีการแต่งงานหรืออยู่กินฉันท์สามีภรรยาเกิดขึ้น แต่หลายคู่ก็เลือกที่จะไม่มีบุตรอย่างที่เราเคยเห็นข่าวตั้งแต่ปีที่แล้วว่าหนุ่มจีนขาดแคลนเจ้าสาว ทางรอดเดียวคือนำเข้าเจ้าสาวจากต่างประเทศ งานวิจัยบางชิ้นก็บอกเลยว่า ผู้หญิงชาวจีนไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 10 ปี
- หนุ่มจีนขาดแคลนเจ้าสาว ทางรอดเดียวคือหาเจ้าสาวจากต่างประเทศเพิ่ม
- แต่งงานแล้วทุกข์สาหัส สาวจีนไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 10 ปี
- จีนมีเด็กเกิดน้อยลงเกือบ 15% แรงงานลด คนจีนเสี่ยงตกอยู่ในภาวะแก่ก่อนรวย
อีกทั้ง การควบคุมการเกิดของประชากรที่จีนมุ่งหน้าใช้นโยบายลูกคนเดียวมาเนิ่นนาน กว่าจะเลิกใช้นโยบายนี้หันมาสนับสนุนให้มีลูกมากเกิน 1 คน ก็สายเกินไปเสียแล้ว ล่าสุด องค์การสหประชาชาติออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2023 นี้หรืออีกครึ่งปีที่จะถึงนี้เอง อินเดียจะมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนแล้ว
โดยในปี 2021 อินเดียมีประชากรจำนวน 1.412 พันล้านคน ส่วนจีนมีจำนวน 1.426 พันล้านคน ส่วนปี 2050 คาดว่าอินเดียจะมีประชากรจำนวน 1.668 พันล้านคน ขณะที่จีนจำนวนประชากรจะเหลือ 1.317 พันล้านคน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 จะมีจำนวนประชากรโลกอยู่ที่ 8 พันล้านคน และจะเพิ่มเป็น 8.5 พันล้านคนในปี 2030 และเป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2050
จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากสาเหตุการเสียชีวิตลดลง การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยอายุคาดเฉลี่ย (life excectancy) ในระดับโลกของปี 2019 อยู่ที่ 72.8 ปี ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 9 ปีนับจากปี 1990 นอกจากนี้ เมื่ออัตราการตายลดลงและคนมีอายุยืนมากขึ้น จึงคาดว่าจะอายุยืนอยู่ที่ 77.2 ปีในปี 2050
ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติยังคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่งสำหรับ 8 ประเทศนี้ คองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย ความน่าสนใจก็คือ อินเดียคือ 1 ใน 10 ประเทศที่มีจำนวนประชากรไหลออกเกินล้านคนในช่วงปี 2010-2021 อินเดียมีคนไหลออกจากประเทศราว 3.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็คือการเคลื่อนย้ายแรงงานชั่วคราว ขณะที่ปากีสถานนั้นมีประชากรไหลออกมากถึง 16.5 ล้านคน บังคลาเทศราว 2.9 ล้านคน เนปาล 1.6 ล้านคน ศรีลังกา 1 ล้านคน ส่วนประเทศที่มีประชากรไหลออกด้วยเหตุผลด้านความขัดแย้งและรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนี้ ซีเรีย 4.6 ล้านคน เวเนซุเอลา 4.8 ล้านคนและเมียนมา 1 ล้านคน
จากกราฟด้านบนจะเห็นว่าเส้นสีฟ้าอ่อนนั้น คือพื้นที่เอเชียกลางและเอเชียใต้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสูงที่สุด รองลงมาคือซับซาฮาราน แอฟริกา ขณะที่จำนวนประชากรที่มีจำนวนคงที่คือประเทศที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ขนานไปกับโอเชียเนีย
ผังอันดับด้านบนสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก พบว่า
- ปี 1990 จีนมีประชากรจำนวนมากที่สุด ตามด้วยอินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน บังคลาเทศ และไนจีเรีย
- ปี 2022 จีนมีประชากรมากที่สุด ตามด้วยอินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน (ขึ้นมาแทนที่บราซิล) ไนจีเรีย (แทนที่รัสเซีย) บราซิล (แทนที่ญี่ปุ่น) บังคลาเทศ (แทนที่ปากีสถาน) รัสเซีย (แทนที่บังคลาเทศ) และเม็กซิโก
- ปี 2050 อินเดียมีประชากรมากที่สุด 1.6 พันล้านคน ตามด้วยจีน 1.3 พันล้านคน สหรัฐอเมริกา (อันดับคงที่ แต่จำนวนเพิ่มขึ้น) 375 ล้านคน ไนจีเรีย (แทนที่อินโดนีเซีย จำนวนเพิ่มขึ้น) 375 ล้านคน ปากีสถาน 366 ล้านคน (อันดับคงที่ จำนวนเพิ่มขึ้น) อินโดนีเซีย 317 ล้านคน (แทนที่ไนจีเรีย จำนวนเพิ่มขึ้น) บราซิล 231 ล้านคน (อันดับคงที่ จำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) คองโก 215 ล้านคน (แทนที่บังคลาเทศ จำนวนเพิ่มขึ้น) เอธิโอเปีย 213 ล้านคน (แทนที่รัสเซีย) บังคลาเทศ 204 ล้านคน (แทนที่เม็กซิโก แต่จำนวนลดลง)
ที่มา – Quartz, World Population Prospects 2022
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา