อินเดียมอบเรือดำน้ำให้เมียนมา หวังกระชับความสัมพันธ์ ต้านจีน

อินเดียส่งมอบเรือดำน้ำชื่อ INS Sindhhuvir พลังงานดีเซลไฟฟ้าชั้น Kilo-class ขนาด 3,000 ตัน ให้แก่เมียนมา ดำน้ำลึก 300 เมตร ความเร็วระดับ 18 น็อตหรือประมาณ 33.34 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรือดำน้ำลำนี้ถือเป็นเรือดำน้ำลำแรกของเมียนมา

เรือดำน้ำลำแรกจากประเทศประชาธิปไตย อินเดียมอบให้เมียนมา

Anurag Srivastava โฆษกกระทรวงต่างประเทศอินเดีย ระบุว่าความร่วมมือในน่านน้ำเป็นส่วนหนึ่งในการขยายความสัมพันธ์กับเมียนมา เรือดำน้ำลำนี้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า UMS Minye Theinkhathu เป็นชื่อเดียวกับวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของเมียนมา 

โดยงบประมาณในการนำเข้าอาวุธของเมียนมานับตั้งแต่ปี 2000-2019 มีมูลค่ารวมราว 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.15 แสนล้านบาท มีแหล่งจัดหาอาวุธหลายประเทศ เมียนมานำเข้าอาวุธมากที่สุดคือรัสเซียอยู่ที่ 43% จีน 41% อินเดีย 4% ยูเครน 3% เกาหลีใต้ 2% และประเทศอื่นๆ อีกราว 6% ประเภทของอาวุธประกอบด้วย เครื่องบิน, เครื่องบินรบ, เรือ, รถเกราะ, ขีปนาวุธ และอื่นๆ 

Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย // ภาพจาก Twitter Narendra Modi

ทั้งนี้ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา (เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก เนื่องในโอกาสสนับสนุนการดำเนินงานของกองทัพไทย) เขาระบุว่าเพื่อทำให้กองทัพเรือมีความทันสมัย เราต้องเสริมทัพเข้าไปด้วยเรือดำน้ำ เราพยายามที่จะมีเรือดำน้ำเป็นของตัวเองยาวนานหลายทศวรรษแล้ว

คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ Harsh Vardhan Shringla รัฐมนตรีต่างประเทศและ Manoj Mukund Naravane ผู้บัญชาการทหารบก อินเดียเยือนเมียนมาเพื่อพบปะ ออง ซาน ซู จี และมิน อ่อง ลาย ช่วง 4-5 ตุลาคมที่ผ่านมา 

HANGZHOU, CHINA – SEPTEMBER 04: Chinese President Xi Jinping (right) shakes hands with Indian Prime Minister Narendra Modi to the G20 Summit on September 4, 2016 in Hangzhou, China. World leaders are gathering in Hangzhou for the 11th G20 Leaders Summit from September 4 to 5. (Photo by Lintao Zhang/Getty Images)

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล แถมจีนเป็นผู้จัดหาอาวุธอันดับ 2 รองจากรัสเซีย

จีนและเมียนมามีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจมหาศาล วิสาหกิจจีนนำโดย CITIC Group Corporation และ China Harbor Engineering Company ได้ทำสัญญาโครงการใหญ่ๆ บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิ่ว (Kyaukpyu) เฉพาะแค่โครงการท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่วมีมูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.27 แสนล้านบาท ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท 

โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการสร้างและดำเนินกิจการราว 50 ปี และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 25 ปี การเจรจาว่าด้วยเรื่องจ้าวผิ่วอยู่ภายใต้โครงการข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ถือเป็นโครงการหลักภายใต้ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) 

โครงการจ้าวผิ่วนี้จะสามารถทำให้ขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปยังคุนหมิงเมืองหลวงทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนานของจีนได้มูลค่าราว 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.66 หมื่นล้านบาท ต้นปี 2015 ทั้ง CNPC ของจีนและ Myanmar Oil and Gas Enterprise ก็ส่งก๊าซไปตามท่อก๊าซได้มากถึง 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่น้ำมันสามารถส่งไปยังจีนได้มากถึง 22 ล้านบาร์เรลหรือประมาณ 349.77 ล้านลิตร โครงการดังกล่าวทำให้จีนสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าทั้งน้ำมันและก๊าซจากช่องแคบมะละกาได้มาก

นอกจากจ้าวผิ่วจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนแล้ว ช่องแคบมะละกาก็มีความสำคัญต่อจีนเช่นกัน ทั้งสหรัฐฯ และอินเดียต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้ โลกจึงได้เห็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญจากการฝึกซ้อมรบทางทหารร่วมกันระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซ้อมรบในน่านน้ำหลังจากที่อินเดียมีข้อพิพาทกับจีน    

อินเดียหวังสานสัมพันธ์เมียนมา ถ่วงดุลอำนาจจีน

เมียนมาเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพรมแดนติดกับอินเดียในระยะยาวราว 1,600 กิโลเมตร และมีน่านน้ำต่อเนื่องกันราว 725 กิโลเมตรบริเวณรอบอ่าวเบงกอล อินเดียมองว่าเมียนมาคือประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนทางที่จะร่วมมือกันทางเศรษฐกิจผ่านนโยบาย Act East ได้ 

ด้าน Shamshad Ahmad Khan รองศาสตราจารย์รับเชิญจากสถาบันจีนศึกษาจากนิวเดลี มองว่า การที่อินเดียตัดสินใจมอบเรือดำน้ำให้เมียนมา ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่พยายามจะถ่วงดุลอำนาจจีน อินเดียพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางน่านน้ำแก่เพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกเพื่อถ่วงดุลอำนาจต้านจีน 

เป้าหมายที่หวังต้านจีนหรือถ่วงดุลอำนาจจีนของอินเดียโดยการมอบเรือดำน้ำให้เมียนมานี้ เป็นการเดินเกมใหม่ที่จีนเองก็ไม่คิดที่จะสานฝันเมียนมาให้สำเร็จได้ การพ่วงมิตรของอินเดียที่มาพร้อมกับสหรัฐฯ อาจทำให้เมียนมาต้องคิดหนัก แต่ความฝันของเมียนมาก็เป็นจริงแล้ว

ถ้าเทียบอัตราการนำเข้าอาวุธจากอินเดียกับจีน อินเดียมีสัดส่วนอยู่เพียง 4% เท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับจีนที่มากกว่าถึง 10 เท่า การกระชับมิตรดังกล่าวของอินเดียอาจไม่ได้ทำให้เมียนมาหลงลืมจีน แต่การดำเนินนโยบายใดของเมียนมาที่เกี่ยวพันกับจีนและอาจกระทบกับอินเดีย ต่อจากนี้ต้องมีการพิจารณาจากฝั่งเมียนมามากขึ้นกว่าเดิม และยังเป็นสัญญาณที่ดีที่มีมิตรจากประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแสดงตัวเป็นมิตรต่อเมียนมาอย่างชัดเจนมากขึ้น

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกค่อยๆ หันหลังให้จีนและสามัคคีกันบอยคอตต์ประเทศที่ดำเนินนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ทั้งการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การคุกคามชนกลุ่มน้อย เช่นชาวโรฮิงยา ฯลฯ การร่วมซ้อมรบทางทหารในมหาสมุทรอินเดียกับสหรัฐฯ อาจทำให้เมียนมาเรียนรู้และพิจารณาดำเนินโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยลงและหันเข้าหาประเทศฝั่งประชาธิปไตยมากขึ้น

ที่มา – Nikkei Asia, BBC, China, The Irrawaddy, CSIS, Times of India, Financial Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา