“อยากเอาคืน แต่ทำไม่ได้” ผู้เชี่ยวชาญเตือน อินเดียบอยคอตจีน สุดท้ายอาจเดือดร้อนเอง

ไฟโกรธยังไม่หาย อินเดียหวังเอาคืนจีน เตรียมบอยคอตสินค้าและธุรกิจต่างๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือน สถานการณ์แบบนี้บอยคอตจีนแล้วอินเดียจะแย่เอง

GAGANGIR, KASHMIR, INDIA – JUNE 19: An Indian army convoy drives towards Leh, on a highway bordering China, on June 19, 2020 in Gagangir, India. (Photo by Yawar Nazir/Getty Images)

หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะในเขตพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดียบนเขาหิมาลัยจนทหารอินเดียเสียชีวิตไปถึง 20 นายและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ตัวแทนผู้นำทั้งสองประเทศจะได้มีการพูดคุยตกลงเพื่อยุติเรื่องราวและประคับประคองสถานการณ์ให้เกิดความปรองดองระหว่างกัน

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบอยู่แค่นั้นเพราะมีรายงานว่าเกิดกระแสต่อต้านและบอยคอตจีนเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศอินเดีย ถึงขนาดเกิดเหตุการณ์ที่ชาวอินเดียขว้างปาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยบริษัทจีนออกทางหน้าต่าง มีกลุ่มผู้ประท้วงปีนขึ้นไปฉีกป้ายบิลบอร์ดโฆษณาของบริษัท OPPO มีการเรียกร้องให้บอยคอตร้านที่ขายอาหารจีน รวมถึงเผาหุ่นและภาพผู้นำเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจแม้ว่ามีบางภาพที่อาจจะเผาผิดเพราะคิดว่าคิมจองอึนผู้นำเกาหลีเหนือคือสีจิ้นผิงก็ตาม

อินเดียบอยคอตจีน ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ ทางการของอินเดียเองก็มีการเคลื่อนไหวต่อกระแสต่อต้านจีนด้วยเช่นกันถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้แสดงตัวหรือมีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแต่มีรายงานว่าหน่วยงานและบริษัทมหาชนต่างๆ ของอินเดียได้รับจดหมายขอความร่วมมือจากรัฐบาลให้ระงับการต่อสัญญากับบริษัทจีน และยังมีรายงานเพิ่มเติมว่ารัฐบาลได้ขอให้บริษัทอีคอมเมิร์ซแสดงแหล่งที่มาของสินค้าที่รับมาขายและมีการยกเลิกสัญญาโครงการสร้างทางรถไฟในอินเดียที่บริษัทจีนเป็นผู้ดูแลอีกด้วย

ไม่ใช่แค่นั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2018 เป็นต้นมาข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral trade agreement) ของทั้งสองประเทศลดลงถึง 15% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในอนาคต

Huawei Ban

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังมีมาตรการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร ใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping duty) ในสินค้าจากจีน และเริ่มมีคำสั่งให้ระงับการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารจากบริษัทจีนซึ่งคาดว่าจะทำการแบนสินค้าจีนในภาคยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมถัดไป รัฐบาลอินเดียยังบอกว่าจะไม่ใช้อุปกรณ์จาก Huawei และ ZTE ในการอัพเกรดโทรคมนาคม (4G กับ 5G) ในประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ได้ออกมาเตือนว่าการที่อินเดียบอยคอตจีนในครั้งนี้อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอินเดียที่ตอนนี้เองก็กำลังแย่มากกว่าสร้างความเสียหายให้กับจีน

HANGZHOU, CHINA – SEPTEMBER 04: Chinese President Xi Jinping (right) shakes hands with Indian Prime Minister Narendra Modi to the G20 Summit on September 4, 2016 in Hangzhou, China. World leaders are gathering in Hangzhou for the 11th G20 Leaders Summit from September 4 to 5. (Photo by Lintao Zhang/Getty Images)

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะเห็นว่าจีนคือคู่ค้าที่สำคัญของอินเดีย ในปี 2018 อินเดียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึง 90.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.7 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 14.63% จากมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของอินเดีย (นำเข้าสินค้าจากจีนมากเป็นอันดับที่หนึ่ง ส่งออกไปจีนมากเป็นลำดับที่สามรองจากสหรัฐฯ และอาหรับ)โดยนำเข้าสินค้าขั้นกลางในอุตสาหกรรมเคมี เหล็ก เครื่องจักร พลาสติก ชิ้นส่วนรถยนต์ และยา เพื่อใช้สำหรับการผลิต

India import from china 2018
อินเดียนำเข้าสินค้าจากจีน ภาพจาก World Integrated Trade Solution, World Bank

จะเห็นว่าอินเดียนำเข้าสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตจากจีนเป็นจำนวนมากเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตแพง เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตค่อนข้างเก่าและล้าหลัง รวมถึงต้นทุนคงที่ต่อการผลิตเองก็ราคาสูง ทำให้ต้นทุนในการผลิตโดยรวมแพงกว่าการนำเข้าสินค้าเข้ามา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม consumer electronics อย่างสมาร์ทโฟน หรือแทปเล็ต ที่มีการผลิตพึ่งพาวัตถุดิบราคาถูกจากจีน

poor india
Photo by Karthikeyan K on Unsplash

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าด้วยสถานการณ์ของอินเดียตอนนี้ที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น แต่ภาคการผลิตของอินเดียจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้โดยปราศจากการพึ่งพาสินค้าจากจีนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเซมิคอนดักเตอร์ หรือแม้แต่การผลิตสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเลตเองก็อาจจะเป็นอัมพาตได้ถ้ายกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนโดยทันที

มิหนำซ้ำภาคการผลิตของอินเดียสามารถทดแทนสินค้าที่นำเข้าจากจีนได้แค่เพียง 25% เท่านั้น นอกจากนี้อินเดียยังเป็นตลาดที่มีความเซ็นซิทีฟต่อราคาสูงมาก การแบนสินค้าจากจีนจึงส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย – คนจนในประเทศอินเดียที่อาจจะไม่สามารถจ่ายได้

ที่มา: IndianexpressBBCJagran JoshNikkei,WITS

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา