ทำความรู้จัก Index International Group ผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจพัฒนาสาธารณูปโภคในไทย

บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภารกิจสำคัญในการทำงานร่วมผลักดันการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทยหลากหลายโครงการ อาทิ ระบบขนส่งมวลชน การท่าอากาศยาน ระบบทางด่วน คลังน้ำมัน เป็นต้น

ดร. ชัยณรงค์ ณ ลำพูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงช่วงที่จบการศึกษาปริญญาโทจากสถาบัน AIT. และกำลังทำงานอยู่ที่ National Engineering Consultant ช่วงนั้นถือเป็นยุคทองของงานวิศวกรรมไทยที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เป็นช่วงที่เริ่มก่อสร้างสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานขึงขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เขาจึงเริ่มเห็นโอกาสในการก่อตั้งบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาของตัวเอง 

จากนั้น ดร. ชัยณรงค์ จึงเริ่มก่อตั้ง บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2526 ให้บริการด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมตามมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายในการก่อตั้งบริษัทเพื่อร่วมพัฒนาชาติบ้านเมือง ให้เกิดความรุ่งเรือง มั่นคง มีมาตรฐานระดับสากลสืบไป 

บริษัท อินเด็กซ์ฯ ถือเป็นวิศวกรที่ปรึกษาให้บริการด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เริ่มจากงานศึกษาสำรวจออกแบบเบื้องต้นและออกแบบรายละเอียดของงานโครงการต่างๆ ของรัฐบาล หลังจากงานออกแบบก็มีงานก่อสร้างโดยผู้รับเหมาบริษัทก็ให้บริการกับผู้ว่าจ้างในการควบคุมงานก่อสร้าง ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็เป็นบริหารงานก่อสร้าง ดำเนินธุรกิจมาร่วม 30 ปี ก็ได้เพิ่มงานบริการออกแบบพร้อมก่อสร้างอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากสั่งสมประสบการณ์จากการคุมงานและออกแบบมายาวนานพอสมควร คล้าย one way stop service เป็นบริการครบวงจรมากขึ้น

ดร. ชัยณรงค์ ณ ลำพูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ช่วงกว่า 3 ทศวรรษก่อนหน้านี้ ในช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัทนั้น วิศวกรชาวไทยยังไม่สามารถออกแบบงานใหญ่ๆ ได้เหมือนวิศวกรชาวต่างชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชาวต่างชาติ อีกทั้ง การพัฒนาประเทศช่วงนั้นต้องพึ่งพาการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นหลัก กอปรกับเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องมีวิศวกรต่างชาติบริษัทนำกลุ่มปรึกษา ทำให้ช่วง 10 ปีแรกในการก่อตั้งบริษัท อินเด็กซ์ฯ ยังไม่ค่อยมีบทบาทนำกลุ่มมากนัก 

หลังจากนั้น ประเทศไทยเริ่มมีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐมากขึ้น เช่น สนามบินดอนเมือง รันเวย์ แท็กซี่เวย์ คลังน้ำมัน ถนน ทางด่วน เริ่มมีการออกแบบก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 1, 2 ทำให้บริษัท อินเด็กซ์ฯ เริ่มพัฒนาเป้าหมาย มุ่งเป้าเป็นวิศวกรที่ปรึกษาไทยที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อที่จะยืนหยัดการบริการด้านวิศวกรรมต่อไปในอนาคตให้กับประเทศชาติได้ 

เมื่อพูดถึงสภาพการแข่งขันในตลาดในช่วงก่อตั้งบริษัทนั้น ถือว่ายังไม่ค่อยมีคู่แข่งมากนัก เนื่องจากบริษัท อินเด็กซ์ฯ มีผลงานในการออกแบบ ในการควบคุมงาน ผลงานเหล่านี้ถือเป็นตัวการการันตีคุณภาพจากภาครัฐ ดังนั้น หากบริษัทใหม่ที่ยังไม่มีผลงานการออกแบบในโครงการประเภทเดียวกัน ก็ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการออกแบบเหล่านั้นได้ จึงกล่าวได้ว่าการแข่งขันในมิตินี้มีไม่มากนัก

บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) // อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ผลงานสุดท้าทายภายใต้วิศวกรไทย จากสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน

โครงการที่ท้าทายความสามารถของวิศวกรที่ปรึกษาไทยภายใต้บริษัท อินเด็กซ์ฯ นั้น พบว่า มีทั้งโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัทได้รับสัญญาจากการท่าอากาศยานเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาให้ทำ Master Plan  และออกแบบคอนเซ็ปต์ต่างๆ ควบคุมการก่อสร้าง สัญญาระยะเวลา 7 ปีครึ่ง มูลค่า 900 กว่าล้าน สนามบินจากดอนเมืองจึงได้ย้ายไปสุวรรณภูมิ โครงสร้างอาคารค่อนข้างใหญ่โต อีกทั้งงานออกแบบสนามบินนี้ต้องยึดตามมาตรฐานสากลการวางผังโครงการ ซึ่งมีทั้งการออกแบบพื้นที่ใช้สอย การบิน ห้องผู้โดยสาร มาตรฐานการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเป็นตามมาตรฐานสากลที่บังคับไว้เป็นงานท้าทายความสามารถมาก

โครงการที่มีความท้าทายไม่แพ้กันลำดับถัดมาคือ การควบคุมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา การเจาะอุโมงค์ตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพง 18 สถานี ใต้ถนนรัชดาภิเษกมาโผล่ที่จตุจักร เป็นความท้าทายวิศวกรที่ปรึกษาไทยและต่างประเทศที่ร่วมทำงานนี้จนบรรลุเป้าหมายได้ ต่อจากนั้นก็มารับงานด้านงานก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนี้อีกกว่า 7 ปี 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

สำหรับผลงานล่าสุดในปัจจุบันของบริษัท อินเด็กซ์ฯ คือการควบคุมงานก่อสร้างรถไฟ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริษัท อินเด็กซ์ฯ ได้ทำงานเป็นผู้ควบคุมสายแรก ช่วงแรก เป็นกลุ่มบริษัทแรกที่ได้งานนี้จากราชการ ทำร่วมกับบริษัทต่างชาติ 3 บริษัท ควบคุมงานก่อสร้างจากสถานีรถไฟหัวลำโพงใต้ดินถึงจตุจักร พอช่วงที่สองสายสีน้ำเงินต่อขยายจากจตุจักรมาเตาปูนไปบางโพ ข้ามไปจรัญสนิทวงศ์ จนถึงหัวลำโพงอีกครั้งหนึ่งและต่อไปทางบางแค งานบริหารงานก่อสร้างนี้บริษัท อินเด็กซ์ฯ ก็เป็นทีมนำ และเชิญบริษัทต่างชาติมาร่วมด้วย  

นอกจากนี้ก็ยังมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อจากหมอชิตไปทางถนนพหลโยธิน ดอนเมือง ถึงคูคต มีกำหนดการเดินรถในปีหน้า ตอนนี้ก็เดินรถมาถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว และยังมีรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อถึงสถานีรถไฟดอนเมืองจนถึงรังสิต เป็นงานล่าสุดที่ยังควบคุมอยู่ และยังมีงานอื่นๆ อีกหลายเส้นทางให้ทำงานอยู่

มุมมองต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ 

ในช่วงพัฒนาประเทศช่วงแรกเริ่ม ประเทศยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบที่ต้องไปกู้เงินต่างประเทศ ทำให้ต้องมีเงื่อนไขที่ต้องมีวิศวกรที่ปรึกษาต่างประเทศพร้อมเงินกู้ จนมาถึงระดับหนึ่งรัฐบาลสามารถตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาและหาแหล่งเงินกู้ในประเทศได้ ก็ไม่จำเป็นต้องจ้างวิศวกรที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน วิศวกรในไทยมีความสามารถมากขึ้น จึงสามารถรับบทนำในการสำรวจออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างได้ 

สะพานภูมิพล // อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

การพัฒนาประเทศมาจนถึงระดับปัจจุบันในประเทศนั้น การก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐเปลี่ยนเป็นออกแบบพร้อมก่อสร้าง หรือสัมปทาน หรือภาครัฐร่วมกับเอกชน หรือที่เรียกกันว่า PPP (Public Private Partnership หรือ PPP คือการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) มีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ภาครัฐต้องการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิไปอู่ตะเภา หรือที่เรียกรถไฟสามสนามบิน รัฐก็เปิดให้เอกชนมาลงทุน ก็จะได้กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ มาลงทุน หรือการพัฒนา EEC (Eastern Economic Corridor หรือ EEC โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ในส่วนของสนามบินอู่ตะเภา รัฐไม่ได้ตั้งงบประมาณแสนล้าน แต่เปิดโอกาสให้เอกชนมาพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐ เป็นต้น 

ดังนั้น เมื่อพูดถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในอดีต ต้องเป็นโครงการที่มีขนาดระดับ 1 พันล้านบาทขึ้นไปถึงจะเป็นโครงการที่รัฐร่วมกับเอกชน แต่ปัจจุบันโครงการระดับ 500 ล้านบาทก็เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้ ดังนั้น งานขนาดใหญ่ก็มีการก่อสร้างและลงทุนโดยบริษัทใหญ่ๆ แต่งานขนาดเล็กถึงระดับกลางยังมีโอกาสอีกมากให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐได้ เช่น โรงผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ จึงเป็นโอกาสหนึ่งในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

การปรับตัวหลังสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และโควิด-19 ระบาด

ช่วงปี 2562-2563 งบประมาณของภาครัฐยังไม่อนุมัติ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะจ้างออกแบบก็ล่าช้าออกไป แต่ทางบริษัทสามารถบริหารกระแสเงินสดได้ดี จึงยืนหยัดมาได้ เมื่อเกิดวิกฤตเราจึงปรับองค์กรให้รับงานเอกชนเพิ่มขึ้น ให้มีการออกแบบพร้อมก่อสร้าง ก็มีมูลค่าให้สามารถสร้างดุลรายได้ให้คงอยู่ต่อได้ต่อไป

ถนนทวาย ประเทศพม่า // อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้การรับรู้รายได้ในช่วงนั้นคือ ประเด็นเรื่องการส่งงาน ภาครัฐไม่สามารถรับงานของบริษัทได้ เนื่องจากไม่มีการประชุม ทำให้ส่งงานและตรวจงานไม่ได้ หลายอย่างก็ช้าออกไป การเบิกเงินในงวดงานต่างๆ ก็ใช้เวลานานขึ้น แต่ในส่วนของกระแสเงินสดนั้น ทางบริษัท อินเด็กซ์ฯ มีทุนสำรองที่วางแผนไว้แล้ว ก็ทำให้ช่วยเหลือบริษัทบริหารงานได้ค่อนข้างดีมาก

ในส่วนที่รัฐอยากให้มีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทางบริษัทก็ลดจำนวนคนในออฟฟิศลง งานน้อยลง ก็ลดเวลาการทำงานของพนักงานบ้าง ลดเงินเดือนบ้าง แต่ไม่ได้ปลดพนักงานออก ในส่วนของผู้บริหารก็รวมตัวกัน แต่ละเดือนก็สั่งอาหาร ข้าว ไข่ มาแจกพนักงาน เพื่อเอาความช่วยเหลือจากผู้บริหารลงมาสู่พนักงาน หลังจากนั้นเมื่อพ้นสามเดือนที่มีโควิดระบาดเข้มข้น ทางบริษัทก็กลับมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้เต็มร้อย ให้พนักงานสามารถทำงานได้เต็มที่ตามปกติ

ทิศทางต่อไปในอนาคต ก้าวสู่ปีที่ 38

บริษัท อินเด็กซ์ฯ วางแผนเป็นบริษัทมหาชน เตรียมพัฒนาธุรกิจในด้านคุณภาพและการบริการ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีคุณธรรม ขยายธุรกิจร่วมกับบริษัทข้ามชาติหลายประเทศ ธุรกิจการออกแบบและควบคุมงานเป็นธุรกิจหลักที่ต้องพัฒนาต่อไปและธุรกิจอื่นก็ต้องพัฒนาตลาดใหม่มากขึ้น 

คลังน้ำมัน จ.พิจิตร // อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

กรุงเทพฯ ในปัจจุบันแม้จะมีถนนค่อนข้างเยอะก็ยังมีก่อสร้างต่อไปได้อีก เราจะเห็นทางด่วน 2 ชั้น สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิก็ยังสามารถขยายต่อไปได้อีก ส่วนทิศทางบริษัทในเชิงออกแบบ เชิงบริหารงานก่อสร้างก็ยังรักษาไว้ การออกแบบพร้อมก่อสร้างการร่วมลงทุนกับภาครัฐเขาก็ยังมีช่องว่างช่วงพันล้านถึงหมื่นล้าน โอกาสธุรกิจในด้านออกแบบพร้อมก่อสร้างก็ยังเติบโตต่อไปได้และขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่ๆ 

ในส่วนของระบบดิจิทัล ทางบริษัท อินเด็กซ์ฯ จะมีการออกแบบพร้อมก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์มากขึ้น ธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านก็มีโอกาสพัฒนาสาธารณูปโภคของเขาเหมือนกัน ทั้งใน สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา เรามีโอกาสที่จะขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น 

ฝากไว้ให้คิด สำหรับคนทำธุรกิจก่อสร้าง 

ธุรกิจก่อสร้างต่างๆ ในไทยยุคปัจจุบันนั้น มาตรฐานของการทำธุรกิจก่อสร้างสูงขึ้นมาก มีแนวคิดในการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ ในการก่อสร้างทันสมัยมาก เมื่อก่อนงานคอนกรีต ถนนหนทางฝีมือและคุณภาพอาจดูไม่ค่อยเรียบร้อย แต่ปัจจุบันผู้รับเหมาใหญ่ๆ ของไทยมีคุณภาพมีประสบการณ์ ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม มีคุณธรรมมีการพัฒนา ก็จะสามารถก่อสร้างงานได้ในเวลาที่จำกัดความต้องการ การพัฒนาตัวบุคลากรให้พัฒนาความรู้ ความสามารถให้ทัดเทียมวิศวกรชาวต่างประเทศ ก็จะยิ่งทำให้งานด้านธุรกิจก่อสร้างในไทยก้าวหน้าต่อไปอีกมาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา