หลายคนอาจเคยได้ยินว่าไทยตั้งเป้าจะเป็น Medical Hub หรือศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาคที่จะมีทั้งบริการทางการแพทย์ในหลายหลายสาขา ธุรกิจด้านสุขภาพ Wellness และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก ดังนั้น คนไข้ หรือผู้ใช้บริการจากต่างชาติจึงเป็นอีกส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมนี้
แต่ล่าสุดมีรายงานจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่อเนื่องไปถึงปี 2567 นี้ ‘รายได้คนไข้ต่างชาติ’ รวมของโรงพยาบาลเอกชนใน SET น่าจะเติบโตชะลอลง
ทำไมการเติบโตของรายได้ธุรกิจนี้จะลดลง และการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้จะเป็นอย่างไร?
ปี 2567 รายได้คนไข้ต่างชาติจะเติบโตชะลอมากแค่ไหน?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยการคาดการณ์ของปี 2566 -2567 ซึ่งประเมินว่า รายได้คนไข้ต่างชาติรวมของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 57,000 ล้านบาท เติบโต 8-10%YoY ซึ่งโตชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2565 (โต 50%YoY) 2566 (โต 18.3%YoY)
โดยทางศูนย์วิจัยฯ มองว่า ช่วง 2 ปีนี้เป็นการขยายตัวที่ดีซึ่งทยอยฟื้นตัว และปรับฐานไปสู่ช่วงก่อน COVID-19 ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนคนไข้ต่างชาติปี 2567 จะอยู่ที่ 3.07 ล้านคน/ครั้ง ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.86 ล้านคน/ครั้ง ยังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 อยู่ที่ 2.77 ล้านคน/ครั้ง อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่า ปี 2562 ช่วงก่อน COVID-19 อยู่ที่ 3.36 ล้านคน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเห็นภาพกาารเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจัยกดดันกำลังซื้อและการตัดสินใจเดินทาง โดยรายได้จากคนไข้ Fly-in (คนไข้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามารับการรักษา) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตะวันออกกลาง และอาเซียนที่มีศักยภาพ น่าจะทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการกลับมาของคนไข้จีน ขณะที่ตลาดคนไข้ EXPAT มีโอกาสเติบโตได้ในพื้นที่เศรษฐกิจ
คนไข้ต่างชาติของไทยเป็นแบบไหน?
ในประเทศไทยรายได้คนไข้ต่างชาติรวมแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนไข้ Fly-in และ คนไข้ EXPAT
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปี 2567 จะมีสัดส่วน คนไข้ Fly-in : 49%, คนไข้ EXPAT : 51% ของรายได้คนไข้ต่างชาติรวม ซึ่งในส่วนของคนไข้ EXPAT คาดว่า จะเดินทางกลับเข้ามาหลังโควิด-19 คลี่คลายและมีโอกาสเติบโตในพื้นที่ เศรษฐกิจ อย่างชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามผลของนโยบายดึงดูดการลงทุน และการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำของภาครัฐ ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของธุรกิจต่างชาติ และส่งผลต่อจำนวนคนไข้ EXPAT ในอนาคต โดยเฉพาะประเทศหลักๆ อย่าง จีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่มีเม็ดเงินขอรับการส่งเสริมการลงทุน จาก BOI มากที่สุดเป็น 3 ลำดับแรก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
ขณะที่ตลาดคนไข้ Fly-in ในปี 2567 ยังมีคนไข้ หลัก 2 กลุ่ม ได้แก่
1) ชาวตะวันออกกลางที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มใช้บริการ การแพทย์เฉพาะทางและการแพทย์เชิงป้องกันเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงพยาบาลเอกชนมีความร่วมมือส่งต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาลในต่างประเทศ เช่น คูเวต ทำให้ธุรกิจมีรายได้จากคนไข้กลุ่มนี้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
2) คนไข้ในอาเซียนที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ เช่น ชาวกัมพูชา, เมียนมา, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทำให้คนไข้ที่มีกำลังซื้อไปรับการรักษาในมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และ ไทย ซึ่งไทยมีโอกาสขยายตลาดคนไข้จากประเทศอาเซียน เหล่านี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรคซับซ้อนและเทรนด์ด้านการศัลยกรรมความงามของคนรุ่นใหม่
ขณะที่การกลับมาของคนไข้จีน และเพิ่มโอกาสการรักษาพยาบาลจากนักท่องเที่ยวจีนนั้น ยังต้องติดตามประเด็นความเชื่อมั่นในการเดินทางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางส่วนชะลอการ เดินทางไปต่างประเทศโดยคนไข้จีนส่วนใหญ่เข้ามารับบริการตรวจสุขภาพ การรักษาภาวะมีบุตรยาก และมีความต้องการบริการศัลยกรรมความงามและการแพทย์ชะลอวัยมากขึ้น
ปัจจัยที่อาจกระทบกับรายได้คนไข้ต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามี 2 ปัจจัยสำคัยที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้และการดำเนินธุรกิจ ได้แก่
- การแข่งขันของธุรกิจในประเทศที่เข้มข้นขึ้น
เนื่องจากมีผู้เล่นเดิมในธุรกิจสุขภาพ เช่น คลินิกเสริม ความงาม คลินิกกายภาพบำบัด สปา ที่ขยายบริการทางการแพทย์บางประเภทไปทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน และมีผู้เล่นใหม่อย่างธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แตกไลน์มาสู่บริการทางการแพทย์ และให้บริการ อำนวยความสะดวกครบวงจร เช่น ที่พักสำหรับครอบครัวผู้ป่วยใกล้โรงพยาบาล
นอกจากนี้ มีการแข่งขันกับ Medical Hub ในภูมิภาคอย่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ซึ่งมี ความก้าวหน้าทางการแพทย์สูง อย่างไรก็ตาม ไทยมีการยกระดับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และได้รับมาตรฐานจาก Joint Commission International 61 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน อีกทั้ง มีข้อได้เปรียบด้าน ค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้
2. การบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานที่ยังยืนสูง
ขณะที่เมื่อพิจารณาต้นทุนการดำเนินงานของ 4 โรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พบว่า ในช่วงปี 2565 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 75%-85% ของรายได้จากการดำเนินงาน ปรับลดลงจากปี2564 แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 เล็กน้อย ทำให้ธุรกิจยังต้องมีแผนการดำเนินงานจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ในอนาคตสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนกลุ่มที่มีคนไข้ต่างชาติ คนไข้ไทยกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่มีโรงพยาบาลในเครือหลายสาขาน่าจะมีแนวโน้มลดลง จากอานิสงส์การทยอยฟื้นตัวของรายได้ คนไข้ต่างชาติ และสะท้อนถึงความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุน
ขณะที่โรงพยาบาลที่เน้นคนไข้ไทยกำลังซื้อปานกลาง และโรงพยาบาล Stand-alone จะมีความท้าทายในการจัดการต้นทุน เนื่องจากกำลังซื้อของคนไข้บางส่วน อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยกดดันหลายด้าน ผู้ประกอบการคงจะยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อรักษาความสามารถการทำกำไรของธุรกิจ
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา