การประกาศยุติผลิตรถยนต์ในไทยของ Subaru และ Suzuki สะท้อนอะไร

Car on the road in Thailand

จากข่าว Suzuki ยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยจะหันไปนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนและไฮบริดจากต่างประเทศมาขายแทน รวมถึง Subaru ที่เดินหน้ายุติการประกอบรถยนต์ในไทยไปก่อนหน้าแล้ว

2 เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไร

มีการวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์นี้จะทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ไทย

  • ปรับลดลงราว 6,500 คันในปี 2568
  • จากคาดการณ์เดิม 1,800,000 คัน เหลือ 1,793,500 คัน

นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนแรกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ และต้องจับตาต่อไปว่าจะมีค่ายรถยนต์รายอื่นๆ ต้องหยุดสายการผลิตซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki อีกหรือไม่

สาเหตุอะไรที่ทำให้ต้องหยุดผลิตรถยนต์ในไทย

Krungthai COMPASS มองว่า ทั้ง Subaru และ Suzuki ทำตลาดยากขึ้นกว่าเดิม จนนำไปสู่ ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง

  • ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นเทรนด์ได้ค่อนข้างชัดว่าค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ราย มียอดขายในไทยที่อยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง
  • Subaru มียอดขายในไทยที่ลดจาก 3,952 คัน (ส่วนแบ่งตลาด 0.4%) ในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 1,682-2,282 คัน (0.2%-0.3%) ในช่วงปี 2565-66
  • Suzuki เคยทำยอดขายสูงถึง 26,380 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.3% ในปี 2563 ก็ประสบปัญหายอดขายลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกันในรอบ 3 ปีหลัง โดย ในปี 2566 Suzuki มียอดขายที่ 12,151 คัน ลดลง -39.5%YoY และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 1.6%

ดีลเลอร์

แล้วดีลเลอร์จะอยู่อย่างไร?

ดีลเลอร์ของ Subaru และ Suzuki ควรพิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจทั้งการเป็นผู้จำหน่ายให้ทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ต่อไป หรือจะ Diversify ปรับตัวไปเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ค่ายอื่นๆ

เต็นท์รถมือ 2 มีความเสี่ยงที่อาจต้องปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki ลงตามราคามือ 1 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง

หากเต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ลดลงตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดทุนได้

เต๊นท์รถ

เต็นท์รถมือ 2 จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?

เต็นท์รถยนต์มือ 2 จะได้รับผลกระทบแค่ไหนจากการหยุดสายการผลิตของ Subaru และ Suzuki โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตปรับราคามือ 1 ลงเพื่อเร่งระบายสต็อก

เนื่องจากมีเต็นท์จำนวนไม่น้อยที่รับซื้อรถยนต์ Subaru และ Suzuki มือ 2 ไว้ก่อนแล้ว การที่ผู้ผลิตปรับลดราคามือ 1 ลงก็จะยิ่งกดดันให้เต็นท์รถต้องปรับราคาลงเพื่อระบายของออกซึ่งอาจนำไปสู่กำไรที่แย่ลงก็ย่อมได้

ปัจจุบันคาดว่าเต็นท์รถยนต์มือ 2 โดยเฉลี่ยจะมีสัดส่วนของรถ Subaru 0.5% และ Suzuki 2.8% จากทุกยี่ห้อ

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือถ้าเต็นท์รถมีรถยนต์ในสต็อกอยู่ 1,000 คัน โดยเฉลี่ยจะมีรถยนต์ Subaru 5 คัน และ Suzuki 28 คัน โดยจาก 0.5% ที่เป็นรถยนต์ Subaru พบว่าเป็นโมเดลที่ผู้ผลิตเริ่มทำโปรโมชั่นลดราคาลงอย่าง XV และ Forester ในสัดส่วนมากสุดที่ 52% และ 29% ขณะที่ 2.8% ของรถยนต์ Suzuki พบว่า Swift มีสัดส่วนสูงสุด 41% ตามมาด้วย Ciaz 18% ส่วนรุ่นที่มีการทำโปรโมชั่นปรับราคาลงอยู่อย่าง Celerio มีสัดส่วนที่ 10%

ดังนั้น

  • หากเต็นท์รถยนต์ ลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงเท่ากับราคามือ 1 ก็หมายความว่า จะได้กำไรน้อยลง
  • หรือหนักกว่านั้น ถ้าเต็นท์รถยนต์ ลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงมากกว่าราคามือ 1 ที่ปรับลงมาอีกเท่าตัว กำไรก็จะบางลงไปอีก

เพราะฉะนั้น หากเต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรที่หายไปได้ ก็มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหา ’ขาดทุน’ จากราคารถยนต์มือ 2 ที่ลดลงได้

Car on the road in Thailand

ประเด็นที่ต้องจับตา ในระยะถัดไป

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย: อาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามาของรถยนต์ BEV ที่ทยอยแทนที่รถยนต์ ICE มากขึ้นเรื่อย ๆ การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของค่าย Subaru และ Suzuki คือสัญญาณแรกที่เตือนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นวงกว้างมากขึ้น

ผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมดำเนินธุรกิจได้อย่างยากลำบากมากขึ้น การแข่งขันในตลาดรถยนต์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการที่ผู้นำตลาดรถยนต์ BEV โดยเฉพาะจากจีน เช่น BYD GWM เข้ามาตีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของไทย โดยนำเสนอรถยนต์ BEV ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ ขณะที่ Tesla และแบรนด์รถยนต์ BEV ระดับโลกอื่น ๆ ได้ขยายตลาดเข้ามาในไทยเช่นกัน รวมทั้ง ภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจีนซึ่งรวมรถยนต์ BEV อยู่ด้วย อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน ก็เป็นประเด็นที่อาจทำให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยผลกระทบครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ICE ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนของรถยนต์ BEV เปลี่ยนไปจากรถยนต์ ICE อย่างสิ้นเชิง โดยการผลิตรถยนต์ BEV 1 คัน จะใช้ชิ้นส่วนฯ เพียง 2-3 พันชิ้นเท่านั้น ซึ่งลดลงจากการผลิตรถยนต์สันดาปภายในมากถึง 10 เท่า ชิ้นส่วนฯ ที่หายไป อาทิ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หัวฉีด การเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV จึงกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระทบการผลิต

เช่นเดียวกับธุรกิจปลายน้ำ อาทิ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบบดั้งเดิมหากปรับตัวไม่ทันอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้ ในขณะเดียวกัน อาจเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่สามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวให้สอดรับกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV

ผู้บริโภคต้องกังวลอะไรบ้าง

แม้ค่าย Subaru และ Suzuki จะออกมาชี้แจงว่าการปิดโรงงานเป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และยืนยันว่าจะยังทำตลาดในไทยเหมือนเดิม โดยปรับแผนธุรกิจด้วยการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดียแทน แต่ในมุมมองของผู้บริโภคอาจรู้สึกถึงความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในด้านบริการหลังการขายและซ่อมบำรุง  รวมถึงราคาขายต่อรถยนต์มือ 2

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ ราคารถยนต์ ที่มีโอกาสปรับขึ้นตามโครงสร้างภาษีนำเข้า การนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขายทั้งคัน (CBU) อาจทำให้ราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาขายที่ประเทศต้นทาง โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีโอกาสทำให้รถยนต์นำเข้าอาจต้องเสียภาษีสูงถึง 95% ของราคารถยนต์ C.I.F.4 นั่นหมายความว่า ลูกค้าอาจต้องใช้เงินสูงถึงเกือบเท่าตัวของราคาจำหน่ายที่ประเทศต้นทาง เพื่อซื้อรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองเนื่องจากมีโอกาสกระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค และมีโอกาสกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของทั้ง 2 ค่าย

ที่มา – Krungthai COMPASS

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา