กิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ชี้ว่าหลายๆ ประเทศอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากหนี้สินที่สูง
Gita Gopinath หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ของมหาวิทยาลัย Oxford และ มหาวิทยาลัย Tokyo ว่า หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายๆ ประเทศอาจต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำที่มีความเสี่ยงสูง
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ยังได้ชี้ว่าล่าสุดประเทศที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้ 40% กำลังอยู่ในสภาวะหนี้ที่สูงจากการกู้ยืมเงิน นอกจากนี้จำนวนประเทศก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้เธอยังให้ความเห็นว่า กลุ่มประเทศเจ้าหนี้ทั้งหลายควรจะยืดเวลาชำระหนี้ออกไป
ก่อนหน้านี้ IMF เองได้ออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกว่า GDP จะถดถอยมาอยู่ที่ -4.9% หลังจากผลกระทบจาก COVID-19 มีมากกว่าที่คาด ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้ากว่าที่คาดไว้ ส่งผลทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมีโอกาสน้อยมากที่จะลดความยากจนลงนับตั้งแต่ยุค 1990
ขณะเดียวกันเธอก็ยังได้ให้แนวทางว่า ประเทศต่างๆ ควรจะให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นลักษณะเหมือน “หุ้นเพิ่มทุน” หรือ “หุ้นกู้แปลงสภาพ” แก่ภาคเอกชน โดยเธอได้ยกตัวอย่างวิกฤติการเงินของญี่ปุ่นในช่วงปลายยุค 1990 ที่รัฐบาลได้อัดฉีดเงินเข้าไป แต่ได้แปลงสภาพเป็นหุ้นของบริษัทเอกชนในท้ายที่สุด
เธอยังให้เหตุผลว่า ภาคเอกชนหลายๆ แห่งอาจได้รับผลกระทบหลัง COVID-19 จากหนี้สินที่เพิ่มพูนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ แต่ถ้าหากใช้วิธีดังกล่าวก็จะลดปัญหาหนี้ของภาคเอกชนลง
นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นมีความไม่แน่นอนสูงมาก รวมไปถึงมีความเป็นไปได้ที่ต่ำ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศช่วยสนับสนุนทั้งนโยบายการคลัง รวมไปถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางของแต่ละประเทศเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
ที่มา – WZKO, Business Standard
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา