อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยในเอเชียเป็นปัญหาเชิงเศรษฐกิจ IMF คาดการณ์ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรหลายแห่งในเอเชียจะเป็น 0 ในปี 2050 โดยเฉพาะประเทศที่มีผู้สูงวัยจำนวนมากอย่างญี่ปุ่น ไทย จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคต ต้องปฏิรูปหมายแรงงาน
สังคมสูงวัย ไม่ลงทุน ตุนเงินออม ผลผลิตน้อย น่าเป็นห่วง
IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่า ประเทศในแถบเอเชียที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงวัยจะทำให้สูญเสียภาคแรงงานขนาดใหญ่ในหลายประเทศ
ในปี 2050 หลายประเทศในเอเชียจะมีอัตราการเติบโตของประชากรเป็น 0 ถือเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่จะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่าครึ่ง เมื่อเทียบกับปัจจุบัน และจะมีอัตราสูงกว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกทั้งหมด
การเพิ่มขึ้นของของประชากรสูงอายุจะทำให้ผลผลิตในแต่ประเทศลดลงอย่างมาก เช่น ในญี่ปุ่นจะมีผลผลิตรายปีลดลงถึง 1% ในรอบ 3 ทศวรรษหน้า ในขณะที่จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไทย จะได้รับผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 0.5 – 0.75%
ส่วนอินเดียและอินโดนีเซียไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ เพราะตัวเลขของประชากรสูงวัยยังไม่น่าหวง อัตราการเกิดยังสดใส เพราะฉะนั้น ถ้าจะได้รับผลกระทบก็อยู่ที่ประมาณ 0.1% เท่านั้น
ปัญหาของประเทศที่มีผู้สูงวัยจำนวนมาก คือ ผู้สูงอายุมีเงินออมมาก ไม่ลงทุน ทำให้ภาคการลงทุนต่ำลง และนโยบายการเงินไม่ได้ผล IMF มองว่า ปัญหานี้จะทำให้เกิดความกดดันสูงในภาคการเงิน ทำให้มองไม่เห็นถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและผลตอบแทนในสินทรัพย์ของหลายประเทศในเอเชีย
ต้องปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เปิดรับผู้อพยพเข้ามาทำงาน อาจช่วยได้
ต้องปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เช่น ระบบจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบบำเหน็จบำนาญกับผู้สูงอายุ หรืออาจจะปรับเชิงนโยบายให้รับ “ผู้อพยพ” เข้ามาทำงานก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกมาก
แรงงานที่มีแต่จะสูงอายุขึ้นทุกวันๆ ไม่ได้เป็นปัญหาในเอเชียเท่านั้น แต่จะส่งผลไปถึงการลงทุนระหว่างประเทศที่จะชะลอตัว รวมถึงภาคการผลิตที่ด้อยลง และการค้าที่ดิ่งลงไปตามๆ กัน
“เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายประเทศในเอเชียจึงต้องรีบปรับเปลี่ยนโยบาย ปฏิรูปกฎหมาย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย มากกว่าจะไปทุ่มเทให้กับเรื่องทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า หลายประเทศในเอเชียมีความเสี่ยงที่ประชากรจะแก่ก่อนรวย หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ทำงานไปจนแก่ก็ไม่รวย นั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม IMF มองว่า การเปิดการค้าเสรี และการเพิ่มประสิทธิภาพของ R&D เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้หลายประเทศในเอเชียผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้
“การปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัยในเอเชีย ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะประชากรส่วนใหญ่ที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำ กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในไม่ช้า”
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา