ถูกวิจารณ์ยับ! IKEA ออกโฆษณาตัวใหม่ในจีน เสี่ยงเหยียดเพศ ต้องถอดออก กำลังผลิตตัวใหม่ไปฉายแทน

สิทธิสตรีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากในจีน IKEA ส่งโฆษณาตัวใหม่ในทีวีจีน ปรากฏว่ามีหลายคนไม่พอใจ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ออกมาบอกว่าเป็นการเหยียดเพศ สุดท้าย IKEA ต้องถอดออก และจะเอาตัวใหม่เข้าไปแทนที่

Photo: flickr.com by Yeyen Rosseau

โฆษณาตัวใหม่ของ IKEA ในจีนสร้างปัญหา

IKEA เพิ่งออกโฆษณาตัวใหม่ในจีน แต่เมื่อออกอากาศไป ถูกผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตวิจารณ์ยับ จน IKEA บอกว่า จะนำเอาโฆษณาตัวใหม่มาฉายแทน

โฆษณาตัวใหม่นี้เป็นโฆษณาบนทีวี ความยาวประมาณ 30 วินาที มีเนื้อหาว่า

  • คุณแม่ชาวจีนคนหนึ่งบอกกับลูกสาวว่า “อย่าเรียกฉันว่าแม่ ถ้าไม่สามารถพาแฟนมาให้ดูได้” หลังจากนั้น ตัวลูกสาวก็พาผู้ชายคนนึ่งมาที่บ้าน ภาพตัดไปที่ห้องรับแขก ทันใดนั้นพ่อและแม่ก็จัดแจงเตรียมโต๊ะรับประทานอาหารกันอย่างอลังการด้วยสินค้าของ IKEA พร้อมกันนั้นก็มีแคปชั่นขึ้นเป็นข้อความว่า “celebrate everyday easily” (เฉลิมฉลองทุกวันได้ง่ายๆ)

เมื่อโฆษณาฉาย ความไม่พอใจก็สะท้อนตามคอมเม้นท์บนอินเทอร์เน็ต

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีนหลายคนไม่พอใจ เป็นต้นว่า มีรายหนึ่ง “ฉันอยากรู้ว่า IKEA กล้าเอาโฆษณาแบบนี้ไปฉายในสวีเดน บ้านเกิดของเขาหรือไม่?”

Ba Ge Zhuan Yong ผู้ใช้ Weibo ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านคน บอกว่า “การจะมีคู่ชีวิตหรือไม่นั้น ไม่ใช่ธุระของใคร ไม่จำเป็นที่คนอื่นจะต้องเข้ามายุ่ง” คอมเม้นท์นี้มีคนกดไลค์ 4,000 ครั้ง แชร์อีก 3,000 ครั้ง

Photo: Pixabay

IKEA ไม่ใช่รายแรก ไม่นานมานี้ Audi ก็เพิ่งโดนไป

โฆษกของ IKEA ออกมาชี้แจง “เราได้เห็นแล้วว่าโฆษณาของเราทำให้ผู้คนรู้สึกไม่ดี จากนี้เราจะนำเอาโฆษณาตัวใหม่ออกมาแทน โดยโฆณาตัวใหม่จะเน้นไปที่การส่งโซลูชั่นออกมา แต่อาจจะต้องใช้เวลาสัก 2-3 วันในกระบวนการผลิต”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าปลีกในจีน ย้ำเลยว่า “อย่าละเลยความรู้สึกของผู้บริโภควัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิง บริษัทควรจะต้องระมัดระวังเวลาพูดถึงประเด็นเรื่องชาตินิยมและสิทธิสตรีในจีน เพราะ 2 เรื่องนี้เป็นเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง”

ที่จริงแล้ว IKEA ไม่ใช่แบรนด์ต่างชาติรายแรกที่ถูกวิจารณ์ยับแบบนี้ แบรนด์รถยนต์ Audi จากเยอรมันที่ออกโฆษณามามีใจความทำนองว่า เปรียบเปรยผู้หญิงเป็นรถมือสอง ก็ทำให้เกิดกระแสจะคว่ำบาตรรถยนต์รายนี้ในจีนอย่างกว้างขวาง

หลังจากนี้ใครจะไปทำโฆษณาส่งในเมืองจีนต้องเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมให้ดี เพราะต้องไม่ลืมว่าวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าไม่เข้าใจหรือศึกษาไม่ดี ภาพลักษณ์ที่เสียไปจะแก้กลับมาคืนมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก

ที่มา – South China Mornig Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา