อ่านกลยุทธ์ iflix ในยุคที่ Subscription Video on Demand มีแค่ซีรีส์ และภาพยนตร์ไม่ได้

การแข่งขันของตลาดสมัครบริการรับชมภาพยนตร์ และซีรีส์ออนไลน์ในประเทศไทยนั้นยังดุเดือด แม้มีบางรายแผ่วไปบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ iflix นิ่งเฉยๆ เพราะล่าสุดก็เตรียมรุกตลาดเนื้อหาแบบสั้น เพื่อดึงลูกค้าให้ใช้งานทุกเวลา

การใช้งาน iflix

SVOD ที่ยังต้องคิดมากกว่าแค่ภาพยนตร์-ซีรีส์

ปัจจุบันธุรกิจ Subscription Video on Demand (SVOD) หรือการสมัครสมาชิกเพื่อรับชมภาพยนตร์ หรือซีรีส์ออนไลน์นั้นยังดุเดือดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ผ่านผู้เล่นในตลาดราว 4-5 รายหลัก ซึ่ง iflix ก็คือหนึ่งในนั้น และนับว่าเป็นรายที่ยังมีความเคลื่อนไหวในตลาดอยู่ตลอด

อาทิมา สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า แม้แต่ละเจ้าจะพยายามทำการตลาดเพื่อดึงลูกค้าไปใช้งาน แต่ผู้เล่นหลักๆ กลับไม่ได้มีเนื้อหาภาพยนตร์ และซีรีส์ที่ทับซ้อนกันมากนัก ทำให้มันไม่ได้เป็นการแข่งขันแบบตรงๆ และบริษัทเองก็พยายามคงจุดเด่นเรื่องความแตกต่างนี้เอาไว้

“ยอมรับว่าการแข่งขันยังดุเดือด แต่ iflix มีความแข็งแกร่งเรื่องประเภท Content ที่กว้างมาก แม้จะไม่ลึกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่เรามีมากที่สุดแน่นอน และเพื่อให้มันแตกต่างจากคู่แข่งขึ้นไปอีก เมื่อสิ้นเดือนมี.ค. จึงตั้ง Studio 2.15 รวมถึงพาร์ทเนอร์กับผู้ผลิต Content ที่น่าสนใจในผลิต Video Content แบบสั้น หรือ Shorts ร่วมกัน”

วีดีโอแบบสั้นคืออาวุธลับเพื่อให้ผู้ใช้อยู่ในระบบ

สำหรับแนวคิดของการผลิต Shorts ขึ้นมานั้นมาจากผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มอยากเสพเนื้อหาขณะสั้นมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือวีดีโอที่เห็นกันตาม Social Media ต่างๆ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ตั้งแต่ไม่เกิน 5 นาที จนไปถึงราว 20 นาที ส่วนเนื้อหาจะเป็นรูปแบบสารคดี และการสัมภาษณ์บุคคลดังๆ ที่ไม่เหมือนรายการทั่วไป

Hot Ones หนึ่งในวีดีโอสั้น Shorts ของ iflix

“Hot Ones คือหนึ่งในรายการสัมภาษณ์แบบ Shorts โดยนอกจากมีดารานักแสดงเป็นตัวดึงดูดแล้ว เรายังให้พวกเขารับประทานไก่ซอสเผ็ดระหว่างตอบคำถามไปพร้อมกัน ทำให้รายการมันสนุก และเป็นการสนุกแบบสั้นๆ เพียงพอแก่การเสพ Content ระหว่างเดินทาง หรือระหว่างพัก”

อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้า Shorts ไว้ว่าจะมีเนื้อหาทั้งหมด 2,000 ตอนภายในปี 2561 โดยเพื่อให้ถึงจุดนั้นจึงเตรียมหาพาร์ทเนอร์ใหม่ เช่นรายการจากเกาหลีขนาดสั้น รวมถึงการร่วมมือกับ YouTuber ชาวไทย เพราะพวกเขาค่อนข้างถนัดในการทำเนื้อหาแบบนี้ และคาดว่าการมี Shorts ขึ้นมาจะทำให้ผู้ใช้อยู่ในระบบนานขึ้น

การใช้งานโทรศัพท์มือถือ

รอพบ iflix 3.0 ภายในเดือนก.ค. ที่ล้ำกว่าเดิม

“ตอนนี้ SVOD มันมีจุดด้อยว่าไม่สามารถให้ผู้ใช้ในระบบเข้ามาใช้งานได้ตลอดเวลา เพราะด้วยเนื้อหารายการที่ยาว ทำให้มันรับชมแบบสั้นๆ ไม่จบ และมันคงเสียบรรยากาศ ดังนั้นการมี Shorts แล้ว iflix ก็แจ้งเตือนเวลามีคลิปใหม่ออกมาตลอด ก็น่าจะทำให้ผู้ใช้ของเราเข้ามาใน Application ได้ทุกที่ทุกเวลามากกว่าเดิม”

ทั้งนี้ Shorts คือหนึ่งในแนวคิดของการไปสู่ยุค 3.0 ของ iflix ที่จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนก.ค. นี้ โดยจะแตกต่างจากยุค 2.5 ในตอนนี้ที่มีทั้งการให้รับชมแบบฟรี และเนื้อหาขนาดสั้น คือการเพิ่มโฆษณาเข้ามาในการรับชมเนื้อหาแบบฟรี เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง แต่ iflix จะไม่มีการเปิดให้รับชมฟรีทั้งระบบแน่นอน

ด้านตัวเลขผู้ใช้งานของ iflix ปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านบัญชี (Active หรือใช้งานอย่างน้อย 1 เดือนราว 5 แสนบัญชี) โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าตัวหลังเปิดบางส่วนให้รับชมฟรีเมื่อเดือนเม.ย. ส่วนเนื้อหารายการที่รับชมมากที่สุดคือดราม่าตะวันตก, เกาหลี และการ์ตูน ส่วนช่องทางยังเป็น Smartphone 60-70%

สรุป

การเดินหน้าทำตลาดของ iflix ถือว่าค่อนข้าง Active เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเฉพาะ Hooq ที่เงียบหายไป โดยเหลือแต่ VIU ที่โดดเด่นเรื่องเกาหลี และ Netflix พี่ใหญ่ของวงการที่มี Original Content เป็นตัวชูโรง ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่า iflix จะยืนหยัดอยู่ในสมรภูมินี้ได้แข็งแกร่งแค่ไหน และการดึงผู้ใช้เข้ามาด้วยการรับชมแบบฟรีจะดีขึ้นเท่าใด อันนี้ต้องอยู่ที่ผู้บริโภคตัดสิน

ปัจจุบันค่าสมาชิกของ iflix เริ่มต้นที่ 100 บาท/เดือน และสูงสุดที่ 1,000 บาท/ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา